AWC ผ่านจุดกระทบแคชโฟลว์ บุ๊กกิ้งโรงแรมหรูพุ่ง-คาดปี’65 ฟื้นยกแผง

AWC

“แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น” ชี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว-โรงแรมไทยทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง เผยหลังเปิดประเทศ 1 พ.ย. ตัวเลขการจองห้องพักโรงแรมกลุ่มลักเซอรี่พุ่ง 2 เท่าตัว โรงแรมในเครือทั่วประเทศกว่า 70% ผ่านจุดกระทบเรื่อง cash flow แล้ว มั่นใจไตรมาสสุดท้ายปีหน้ารายได้กลับมาใกล้เคียงก่อนวิกฤตปี’62 ล่าสุดกลับมาเปิด “เลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯ” รูปโฉมใหม่รับไฮซีซั่นการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า บริษัทเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยธุรกิจโรงแรมในกลุ่มของ AWC นั้นปัจจุบันพบว่าประมาณ 70% ของพอร์ตทั้งหมดกลับมาอยู่ในภาวะที่ผ่านจุดกระทบเรื่องกระแสเงินสด (cash flow) แล้ว (อัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ผ่านจุดกระทบเรื่องกระแสเงินสดอยู่ที่ 24%) และน่าจะเห็นตัวเลขการเติบโตแบบก้าวกระโดดต่อเนื่องในปีหน้า

ทั้งนั้นคาดว่าประมาณไตรมาส 3 หรืออย่างช้าคือไตรมาสสุดท้ายของปีหน้า ผลประกอบการในกลุ่มธุรกิจโรงแรมโดยรวมจะกลับมาได้ใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนวิกฤตโควิด

อัตราเข้าพัก ธ.ค.เพิ่ม 2 เท่าตัว

นางวัลลภากล่าวว่า หลังการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา โรงแรมในกลุ่ม AWC ได้รับผลตอบรับที่ดีต่อเนื่อง โดยอัตราการจองห้องพักของโรงแรมในเครือทั่วประเทศในเดือนธันวาคมนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังพบว่าจำนวนวันพักเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย จากที่เดิมเฉลี่ยประมาณ 2 คืน เพิ่มเป็นเฉลี่ยที่ประมาณ 5 คืน

“สำหรับภาพรวมของการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นนั้นไม่ใช่เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวและพักผ่อนในบ้านเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนไทยที่เริ่มมีการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น จากมาตรการผ่อนคลายของทางภาครัฐและสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ทั้งในด้านการท่องเที่ยว การรับประทานอาหารนอกบ้าน สปาเพื่อสุขภาพ และกิจกรรมสัมมนาที่เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง” นางวัลลภากล่าว

“ลักเซอรี่เซ็กเมนต์” ฟื้นก่อน

นางวัลลภากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังพบว่าสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จากที่มีสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 40% เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพิ่มเป็นเฉลี่ยประมาณที่ 50% ในเดือนธันวาคมนี้ โดยเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างกรุงเทพฯ พบว่าทุกโรงแรมของกลุ่ม AWC มีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70% และคาดว่าสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติของโรงแรมในเครือในปีหน้าจะมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศที่ประมาณ 60-70%

อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นชัดเจนหลังจากประเทศไทยเปิดประเทศคือ โรงแรมที่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้เร็วที่สุดเป็นกลุ่มแรกคือ โรงแรมในกลุ่มลักเซอรี่ ซึ่งเป็นตลาดที่กลุ่ม AWC เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 20% ทั่วประเทศ ด้วยจำนวนห้องพักประมาณ 5,000 ห้องทั่วประเทศ และส่วนแบ่งตลาดประมาณ 36% ของตลาดกรุงเทพฯ ด้วยจำนวนห้องพักในกรุงเทพฯประมาณ 3,000 ห้อง

“หลังจากตลาดในกลุ่มที่เป็นลักเซอรี่เซ็กเมนต์ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจกลับมาแล้ว กลุ่มที่จะตามคือ กลุ่มที่เดินทางเป็นกลุ่ม หรือกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ จากนั้นจะเป็นกลุ่มธุรกิจไมซ์ต่างประเทศ ซึ่งตลาดหลังนี้คาดว่าน่าจะเริ่มทยอยกลับมาในช่วงประมาณปี 2566 เป็นต้นไป” นางวัลลภากล่าวและว่า

ขณะเดียวกันแม้ว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มฟื้นตัว สำหรับภาพรวมในปีหน้าที่จะถึงนี้กลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยยังคงเป็นตลาดที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจโรงแรมของประเทศไทยต่อไป

เดินหน้าแผนลงทุน 5 ปีต่อเนื่อง

ด้านการลงทุนนั้น นางวัลลภากล่าวว่า ตามแผนการลงทุนระยะ 5 ปีนั้น AWC มีแผนลงทุนรวมมูลค่า 100,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณปีละ 20,000 ล้านบาท โดยมีโครงการขนาดใหญ่ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.การขยายการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ (Asiatique The Riverfront) เพื่อสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ซึ่งประกอบด้วยโรงแรม 2 แบรนด์คือ Ritz Carlton และ JW Marriott รวมถึง branded residence ภายใต้แบรนด์ Ritz Carlton

2.โครงการอควอทีค พัทยา (Aquatique District Pattaya) โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใจกลางเมืองพัทยา (ชลบุรี) ประกอบด้วยโรงแรมหรูจำนวน 5 แบรนด์ และรวมถึง branded residence อีก 2 แบรนด์ และ 3.โครงการ “เวิ้งนาครเขษม” โครงการประวัติศาสตร์พื้นที่กว่า 14 ไร่กลางไชน่าทาวน์ที่จะพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูสอีกแห่งที่มีทั้งโรงแรม เรซิเดนต์ และพื้นที่ค้าปลีก

ปี’65 ลงทุนสเกลเล็กหมื่นล้าน

สำหรับแผนการลงทุนระยะสั้นสำหรับปี 2565 นี้ บริษัทจะยังไม่ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ แต่จะลงทุนในโครงการที่ใช้งบฯลงทุนไม่มาก และเป็นโครงการต่อเนื่องเป็นหลัก โดยคาดว่าในปีหน้านี้จะใช้งบลงทุนประมาณ 50% ของงบฯลงทุนปกติที่วางไว้ประมาณ 20,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่, โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง, โรงแรมอินไซด์ บาย มีเลีย สุขุมวิท และโครงการร้านอาหารบนรูฟท็อป อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์

“ปี 2565 เราจะเน้นการลงทุนสเกลเล็กไปก่อน ส่วนโครงการขนาดใหญ่ทั้ง 3 โครงการนั้น เราจะยังคงเดินหน้าออกแบบและขออนุญาตก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี เมื่อถึงเวลานั้นทุกอย่างดีขึ้น สถานการณ์โดยรวมเอื้อต่อการลงทุน เราก็พร้อมที่จะเดินหน้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต่อไป” นางวัลลภากล่าว

ย้ำกรุงเทพฯปลายทางระดับโลก

นางวัลลภากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ล่าสุดบริษัทได้กลับมาเปิดให้บริการโรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพ (สุรวงศ์) อีกครั้งนับตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป หลังจากทำการรีโนเวต และเสร็จไปแล้วบางส่วน พร้อมเปิดตัวห้องอาหารใหม่ “โรลลิงริบส์ บริว บาร์ บาร์บีคิว” เพื่อเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ พร้อมทั้งตอกย้ำกรุงเทพฯว่าเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการทำงานและพักผ่อนระดับโลก

โดยใช้งบฯลงทุนรีโนเวตไปประมาณ 200 ล้านบาท โดยหนึ่งในการเปลี่ยนโฉมครั้งสำคัญของโรงแรมแห่งนี้คือ ส่วนของห้องพักที่ได้รับการปรับปรุงภายใต้แนวคิด Bankgok Art Gallery สะท้อนถึงงานศิลปะรูปแบบใหม่ที่สร้างแรงบันดาลใจด้วยเสน่ห์ของกรุงเทพฯ รวมทั้งไฮไลต์แห่งใหม่อย่างห้องอาหารโรลลิงริบส์ บริว บาร์ บาร์บีคิว ตามคอนเซ็ปต์บาร์บีคิวสไตล์เมมฟิส (Memphis-style) จากสหรัฐอเมริกา พร้อมเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะคราฟต์เบียร์จากทุกมุมโลก ให้เข้ากับคอนเซ็ปต์สโมกเฮาส์

“เราพร้อมที่จะสนับสนุนและสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยการเสริมอีกหนึ่งพร็อพเพอร์ตี้คุณภาพ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคอนเซ็ปต์ร้านอาหารที่พิเศษและแตกต่าง ตอบสนองต้องการความหลากหลายในการรับประทานอาหารนอกบ้าน รวมไปถึงการปรับโฉมโรงแรมเพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษสำหรับนักเดินทางยุคใหม่ที่มีรูปแบบการทำงานและการท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กัน โดยสามารถทำงานในรูปแบบ work from anywhere ได้จากทุกที่” นางวัลลภากล่าว