“บิ๊กแอร์บัส” โยสต์ ฟอน เดร เฮเดน แนะเอเชียรับมือการบินโตอีก 3 เท่าตัว

สัมภาษณ์พิเศษ

เป็นบริษัทยักษ์ผู้ผลิตเครื่องบินขายไปทั่วโลก โดยมีฐานใหญ่อยู่ที่เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส สายการบินในประเทศไทยเองก็เป็นลูกค้าอยู่มากมายหลายแห่ง โดยเฉพาะ การบินไทย ที่เป็นลูกค้า วี.ไอ.พี.มาตั้งแต่ปี 2520 จนปัจจุบัน โดยสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส A300B4 เป็นเครื่องแรก หลังจากนั้นได้สั่งซื้อและปฏิบัติการบินด้วยเครื่องบินแอร์บัส เอ 300 จำนวน 33 ลำ เดือนพฤษภาคม 2533 สั่งซื้อ A330-300 เพื่อใช้บินในเส้นทางบินระดับภูมิภาค 27 ลำ ต่อมาปี 2547 สั่งซื้อเครื่องรุ่น A380 จำนวน 6 ลำ ล่าสุดปี 2554 สั่งซื้อเครื่อง A350-900 จำนวน 4 ลำ และ A320 อีก 5 ลำ

นอกจากนี้ยังเช่าเครื่องบินรุ่น A350-900 อีก 8 ลำ ส่วน สายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นสายการบินในเครือของการบินไทย ก็ได้ใช้เครื่องบิน A320 จำนวน 20 ลำให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศและระดับภูมิภาค ไม่เพียงแต่ประเทศไทย แอร์บัสยังครอบคลุมการผลิตเครื่องบินในตลาดโลก บางครั้งกำหนดอนาคตการขนส่งทางอากาศและผลักดันการเติบโตของการบินเชิงพาณิชย์ทั่วโลกด้วย “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “โยสต์ ฟอน เดร เฮเดน” (Joost Van der Heijden) หัวหน้าฝ่ายการตลาดภูมิภาคเอเชียและอเมริกาเหนือของแอร์บัส

“โยสต์ ฟอน เดร เฮเดน” กล่าวว่า หากพูดถึงธุรกิจการบินเชิงพาณิชย์ของแอร์บัส 14 ปีมานี้ ได้ส่งมอบเครื่องบินไปแล้ว 688 ลำ เมื่อเทียบปีนี้ (2017) กับปี 2015 เพิ่มขึ้นมา 8% จำนวนเครื่องบินที่ส่งมอบแล้ว 688 ลำนี้ แบ่งออกเป็น A350XWB 49 ลำ, A330 จำนวน 66 ลำ A380 จำนวน 28 ลำ และในตระกูลของ A320 มีถึง 545 ลำเลยทีเดียว ค่อนข้างเยอะมาก ซึ่งรุ่นเอ 320 นี้รวมรุ่นที่เรียกว่า “นิวเอ็นจิ้น-นีโอ” ด้วย

ถ้าพูดถึงปี 2017 ในตลาดการบินแล้ว แอร์บัสมี “แบ็กล็อก”คือเครื่องบินที่อยู่ระหว่างการผลิตรอส่งมอบอีก 6,700 ลำ ซึ่งต้องใช้เวลา 9 ปีในการผลิต กว่าจะส่งมอบได้ทั้งหมด เป็นการแสดงให้เห็นว่าธุรกิจการผลิตเครื่องบินของแอร์บัสเป็นไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม ตัวเลขแบ็กล็อกนี้ภายในปี 2017 วางแผนว่าจะให้มีการส่งมอบได้ 700 ลำขึ้นไป ซึ่งเป็นการส่งมอบเกือบ 3 เท่าของที่เคยส่งมอบ มากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความต้องการของเครื่องบินทางเดินเดี่ยวของตลาดการบินมีสูงมาก

พูดถึงการเติบโตของแอร์บัสในอนาคต แอร์บัสวางแผนตั้งแต่ปี 2016-2036 ว่ามีเป้าจะเติบโตขึ้นปีละ 4.4% และมองว่าความต้องการเครื่องบินของตลาดจะมากถึง 35,000 ลำ เป็นมูลค่าถึง 5.3 ล้านล้านยูเอสดอลลาร์

“อนาคตธุรกิจการบินจะเติบโตขึ้นมาก เนื่องจากผู้คนจะเดินทางมากขึ้น สิ่งที่แอร์บัสต้องทำก็คือ พยายามเพิ่มผลผลิตต่อเดือนต่อปีให้ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ดังนั้น ในปีนี้ได้วางแผนไว้แล้วว่าจะทำยังไง เพื่อทำตามความต้องการของลูกค้าให้ได้”

โยสต์ ฟอน เดร เฮเดน กล่าวว่า ขณะนี้ส่วนแบ่งระหว่างการผลิตเครื่องบินเชิงพาณิชย์และการทหารของแอร์บัส ที่จริงแล้วมี 3 ส่วนคือ เครื่องบินพาณิชย์ อยู่ที่ 73% หรือ 49.2 หมื่นล้านยูโร เครื่องบินทางด้านการทหารกับอวกาศ (ดาวเทียม) 11.8 หมื่นล้านยูโร หรือ 17% และเฮลิคอปเตอร์ 6.7 พันล้านยูโร หรือ 9%

สำหรับตลาดในเอเชีย หัวหน้าฝ่ายการตลาด แอร์บัส กล่าวว่าได้ขยายธุรกิจมาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพราะความต้องการโดยสารทางเครื่องบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเอเชียถือเป็นตลาดสำคัญที่สุดของแอร์บัส และเป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก การเติบโตสูงอย่างชัดเจน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียปัจจุบันถือว่าเป็นผู้นำโลก และมีความแข็งแกร่ง ส่งผลให้มีการบริโภคและการเดินทางเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอย่างมาก

“การเดินทางทางอากาศของเอเชียมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัว ขณะที่ยุโรปจะเพิ่มขึ้นเพียง 1 เท่าตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอนาคตต่อจากนี้ตลาดในเอเชียจะเติบโตสูงมาก ทั้งในส่วนภูมิภาคเอง และส่วนที่เดินทางข้ามทวีป เฉพาะเอเชียความต้องการทางการบินจะเป็น 40% ของโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า”

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ โยสต์ ฟอน เดร เฮเดน มองว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจของเอเชียเติบโตสูงมากขึ้น ดีกว่าทางยุโรป ทำให้มีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย จึงมีรายได้ในการเดินทางท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยเป็นอย่างดี คนชั้นกลางนี้รวมทั้งผู้ที่เดินทางเพื่อทำธุรกิจด้วย อีกทั้งประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมีแผนการพัฒนาประเทศในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มมากขึ้น ยิ่งทำให้มีเส้นทางใหม่ ๆ เกิดขึ้น และทำให้การเดินทางทั้งสะดวกสบายและง่ายขึ้น

“สรุปได้ว่าอนาคตตลาดเอเชียต้องการใช้เครื่องบินลำตัวกว้างมากขึ้น ทั้งบินในภูมิภาคและทั่วโลก เนื่องจากเอเชียมีประชากรจำนวนมากเลยต้องใช้เครื่องบินลำตัวกว้าง เพื่อขนคนจำนวนมาก เครื่องบิน A330 เป็นเครื่องบินหลักในการบินในภูมิภาคเอเชีย สามารถจุคนได้มากกว่า 500 คนขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีเครื่องบิน A350 และ A380 ด้วย ที่หลาย ๆ สายการบินต้องการใช้ การบินไทยก็ใช้เครื่องรุ่นนี้ เพราะคนเอเชียเดินทางค่อนข้างมาก สัดส่วนความต้องการใช้เครื่องแบบลำตัวกว้างของเอเชีย เป็น 1 ส่วน 3 ของการผลิตเลยทีเดียว”

หัวหน้าฝ่ายการตลาดภูมิภาคเอเชีย แอร์บัสกล่าวถึงสิ่งที่ต้องพัฒนาในระดับนานาชาติวันนี้คือ งานด้านวิศวกรรม ซึ่งปัจจุบันแอร์บัสตั้งศูนย์เทรนนิ่งในหลายประเทศ เช่น อินเดีย อเมริกา และจีน เวลานี้พยายามมองหาความร่วมมือจากประเทศอื่น ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งแอร์บัสกำลังศึกษาเมกะโปรเจ็กต์ระดับยักษ์ในไทย อย่างไรก็ตาม โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ถูกสร้างขึ้น อุตสาหกรรมการบินและอวกาศนั้นต้องอาศัยประสบการณ์ ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ หากพูดถึงนวัตกรรม เรียกได้ว่าเป็นดีเอ็นเอของแอร์บัสเลยทีเดียว ที่จะต้องพัฒนาและศึกษาวิจัยค้นหานวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน

สำหรับประเทศไทย ต้องยอมรับว่าขณะนี้ไทยเป็นศูนย์กลางของเอเชีย เพราะมีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และยังเป็นประเทศที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในระดับท็อปของโลก คนจากประเทศต่าง ๆ นิยมเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย และสนามบินสุวรรณภูมิ ก็เป็นศูนย์กลางของการเดินทาง มีคนเดินทางมากกว่า 90 ล้านคนต่อปี ทั้งนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย

ประเด็นที่น่าสนใจคือ เรื่องที่แอร์บัสเซ็น MOU กับการบินไทยศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งธุรกิจ MRO ที่สนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี-ระยอง เรื่องนี้โยสต์ ฟอน เดร เฮเดน บอกว่ายังอยู่ที่จุดของการศึกษาความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

“ไทยเองมีศักยภาพในการเป็นฮับ MRO ของภูมิภาค ความร่วมมือระหว่างแอร์บัสกับการบินไทย จะเป็นกลยุทธ์หนึ่งของรัฐบาลไทยที่จะเป็นศูนย์กลางด้านอากาศยานในเอเชีย แต่ตอนนี้ยังยืนยันอะไรไม่ได้ว่าจะทำอะไรกันบ้าง แต่แอร์บัสมีความตั้งใจที่จะร่วมมือ และมองว่าเป็นเรื่องที่ดีของรัฐบาลไทยในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มีแผนตั้งศูนย์กลางการบินและอวกาศที่สนามบินอู่ตะเภา

ซึ่งเป็นทำเลอยู่ใจกลางภูมิภาค ขณะที่แอร์บัสเองสามารถร่วมมือในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อระบุปัญหาทางเทคนิคและคาดการณ์ช่วงเวลาที่เครื่องบินควรซ่อมบำรุง ลดความล่าช้าทางเทคนิคการจอดรอซ่อมบำรุงได้ นอกจากนี้ ในการตรวจสอบโครงสร้างเครื่องบินที่รวดเร็ว จะใช้โดรนเข้ามาช่วยเหลือด้วย การมี EEC จึงเป็นผลดีกับประเทศไทย”