ททท.รุกตลาดใหม่แทนจีน ดึงเพื่อนบ้าน-อินเดีย-รัสเซีย

นักท่องเที่ยว

 

รัฐบาลกางแผนเปิดประเทศระยะ 3 ฝ่าโควิดโอไมครอน รุกเจรจาทูต 4 ประเทศ “มาเลเซีย-เมียนมา-ลาว-กัมพูชา” ดึงเพื่อนบ้านเที่ยวไทยต้นปีหน้า เจาะ “รัสเซีย-อินเดีย” ทดแทนตลาดจีน ททท.ปรับยุทธศาสตร์โฟกัสนักท่องเที่ยวคุณภาพ มั่นใจปี’65 นักท่องเที่ยวต่างชาติ 8-10 ล้านคน รายได้รวม 1.12 ล้านล้าน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากแผนการทยอยเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมียอดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจองการเดินทางเข้ามาประเทศไทยจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ 500,000 คน โดยในจำนวนนี้จะเป็นการเดินทางเข้ามาตั้งแต่เดือนธันวาคม2564-เดือนมกราคม 2565 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป

โดยคาดว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศในเดือนธันวาคมนี้ มีจำนวนประมาณ 2 แสนคน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งตามแผนการเปิดประเทศ ระยะ 3 (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป) รัฐบาลจะเปิดจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯมีแผนเดินสายเจรจาในหลักการเบื้องต้นของการเปิดด่านค้าชายแดนกับเอกอัครราชทูตใน 4 ประเทศคือ มาเลเซีย เมียนมา ลาว และกัมพูชา จากนั้นทางกระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการหารือในระดับประเทศต่อไป หากแผนการเจรจาเป็นผลสำเร็จ ย่อมส่งผลดีต่อตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2565 แน่นอน

“จากการหารือของกระทรวงและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. คาดการณ์ว่าในปี 2565 นี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นจำนวน 8-15 ล้านคน และนักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางจำนวน 160 ล้านคนครั้ง มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1.3-1.8 ล้านล้านบาท”

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ประมาณการดังกล่าวนี้อยู่บนสมมุติฐานว่าประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่ำ 8 ล้านคน หากสามารถเปิดด่านค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ในไตรมาส 1 ปี 2565 และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงเป้า 15 ล้านคน หากสามารถเปิดพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้และมีนักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาเดินทางเข้าประเทศไทย ในครึ่งหลังของปี 2565 อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยไม่สามารถเปิดด่านค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ปี 2565 ประเทศไทยน่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมที่ประมาณ 6-7 ล้านคน

“ในช่วงระหว่างที่จีนยังไม่เปิดประเทศให้ประชาชนจีนออกเดินทางนอกประเทศนี้ เรามีแผนรุกเจาะตลาดรัสเซียและอินเดีย ซึ่งเป็น 2 ตลาดใหญ่รองจากจีนให้เดินทางเข้ามามากขึ้น” นายพิพัฒน์กล่าว

นายพิพัฒน์ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนด้วยว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยนั้นขึ้นอยู่กับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศเป็นหลัก ส่วนกรณีการระบาดของเชื้อโอไมครอนนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวฯเชื่อมั่นว่ากระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการที่ดีรองรับไว้อยู่แล้ว แต่ประเด็นปัญหาในเวลานี้คือประเทศต้นทางหลายประเทศเริ่มมีการล็อกดาวน์ หรือกักตัวเมื่อต้องกลับเข้าประเทศในจำนวนวันที่ยาวนานมากขึ้น

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.เตรียมพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทย โดยวางไทม์ไลน์ในการปรับยุทธศาสตร์ไปสู่การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน หรือ high-value & sustainable tourism ภายใต้แผน 3R ประกอบด้วย 1.reopen (Q3 ปี 2564) ซึ่งเป็นช่วงทดลองเปิดภายใต้นโยบาย Phuket Sandbox 2.recover (Q4 ปี 2565) เป็นช่วงการเปิดประเทศเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564 และ 3.resilient (ปี 2566-2570) เป็นช่วงการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและความยั่งยืน

โดยในช่วง reopen ซึ่งเป็นช่วงทดลองเปิดภายใต้นโยบาย Phuket Sandbox (1 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2564) มีจำนวนนักท่องเที่ยว 60,648 คน มียอดการจองห้องพัก (กรกฎาคม 2564-กุมภาพันธ์ 2565) จำนวน 942,071 ห้อง/คืน มีเที่ยวบินให้บริการทั้งหมด 627 เที่ยวบิน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว 4,260 ล้านบาท โดยคาดว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวก่อให้เกิดรายได้รวม 10,100 ล้านบาทหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

นายยุทธศักดิ์กล่าวด้วยว่า สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนปี 2565 นี้ ททท.จะคงความสำคัญของการท่องเที่ยวต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยเร่งให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวเร็วและเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และเป็นเซ็กเตอร์สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยและก้าวสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และมีขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

โดยมีทิศทางการส่งเสริมดังนี้คือ สำหรับตลาดต่างประเทศ ททท.จะมุ่งส่งเสริมกับกลุ่มเป้าหมายคุณภาพ เน้นทำการตลาดผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ และรักษาความสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ส่วนตลาดในประเทศ ททท.จะมุ่งส่งเสริมและสนับสนุน “ไทยเที่ยวไทย” ภายใต้แนวคิด BCG และ local economy development model ควบคู่กับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพิ่มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ และเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการในลักษณะอัพสกิลและรีสกิล

ทั้งนี้ ปี 2565 มีเป้าหมายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 1.12 ล้านล้านบาทแบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศจำนวน 6.3 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 10 ล้านคน และจากตลาดในประเทศ 4.9 แสนล้านบาทจากจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทย 120 ล้านคน-ครั้ง

“จากนโยบายของรัฐบาลเราจะเน้นเป้าหมายด้านรายได้เป็นหลัก หากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เป็นไปตามเป้าก็จำเป็นต้องทำการตลาดเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติให้เกิดการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวสามารถรักษาสถานภาพในความเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อน ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้” นายยุทธศักดิ์กล่าวและว่า

สำหรับตัวชี้วัดเป้าหมาย ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.อัตราการเข้าพักแรม (OR : occupancy rate) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนการเดินทาง โดยต้องมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศทั้งปีไม่ต่ำกว่า 50% 2.ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน (SP : spending per trip) โดยตั้งเป้าให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่ 62,580 บาทและนักท่องเที่ยวคนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่ 4,100 บาท

และ 3.อัตราการบรรทุกผู้โดยสารของสายการบิน (CF : cabin factor) โดยอัตราการบรรทุกผู้โดยสารสำหรับสายการบินต่างชาติเฉลี่ยต้องไม่ต่ำกว่า 50% และอัตราการบรรทุกผู้โดยสารสำหรับสายการบินภายในประเทศเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80%

นายยุทธศักดิ์กล่าวต่อไปอีกว่า ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกก็ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืน ด้วยการมุ่งสู่นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพเช่นกัน

ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ททท.จะให้น้ำหนักกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ หรือ ecosystem ใหม่ให้อยู่บน 2 ขาหลักคือ การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเพื่อความยั่งยืน และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย