ดีมานด์เดินทางปีใหม่พุ่ง “แอร์ไลน์” รุกเพิ่มไฟลต์บินในประเทศ

สนามบิน

ในช่วงปลายปีหรือเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นช่วงพีกการเดินทางท่องเที่ยวของทุกปี

สำหรับปีนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมของไทยเริ่มขยับตัวได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.รัฐบาลประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว (ปัจจุบันหยุดลงทะเบียนเข้าประเทศชั่วคราว) และ 2.จากมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3

ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ทำให้ธุรกิจโรงแรมบางส่วนที่กลับมาให้บริการแล้วมีอัตราการจองห้องพักในระดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยาวต่อเนื่องไปกระทั่งช่วงต้นปี 2565 โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวหลักและจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศ

คาด 10 วัน มี 9.4 พันเที่ยวบิน

“ทินกร ชูวงศ์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ด้านปฏิบัติการ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย หรือ บวท.คาดการณ์ว่า ในช่วง 10 วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2564-3 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมากนี้ จะมีเที่ยวบินรวม 9,440 เที่ยวบิน หรือ 944 เที่ยวบินต่อวัน

มีปริมาณลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ที่ผ่านมาที่มีจำนวนเที่ยวบินรวม 11,443 เที่ยวบิน

โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ ส่วนเที่ยวบินต่างประเทศนั้นเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่เริ่มมีสายการบินที่กลับมาบินที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งสายการบินเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่ออุตสาหกรรมการบิน

พร้อมเปิดเผยด้วยว่า หลังจากเปิดประเทศเมื่อ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่าปริมาณเที่ยวบินในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 23% โดยมีเที่ยวบินรวม 30,457 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ 20,002 เที่ยวบิน เที่ยวบินระหว่างประเทศ 7,287 เที่ยวบิน

สุวรรณภูมิ 12 วัน 5.9 พันเที่ยวบิน

ด้าน “กิตติพงศ์ กิตติขจร” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท.ให้ข้อมูลว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2564-5 มกราคม 2565 (รวม 12 วัน) คาดการณ์ผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีจำนวนประมาณ 5.91 แสนคน หรือเฉลี่ยประมาณ 49,258 คนต่อวัน

หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่ามีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 72.2% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ (รวมขาเข้า-ออก) ประมาณ 1.88 แสนคน และผู้โดยสารในประเทศ (รวมขาเข้า-ออก) ประมาณ 4.02 แสนคน

และคาดว่าจะมีเที่ยวบินจำนวน 5,961 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 497 เที่ยวบิน และหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 11.82% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ (รวมขาเข้า-ออก) จำนวน 3,071 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 92.18% และเที่ยวบินในประเทศ (รวมขาเข้า-ออก) จำนวน 2,890 เที่ยวบิน ลดลง 22.58%

แอร์ไลน์ขอเพิ่มเที่ยวบินพิเศษ

โดยสายการบินประจำและสายการบินเช่าเหมาลำ (charter flight) 12 สายการบินขอเพิ่มเที่ยวบินพิเศษ (extra flight) 282 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ 223 เที่ยวบิน และเที่ยวบินระหว่างประเทศ 59 เที่ยวบิน

“กิตติพงศ์” ยังบอกอีกด้วยว่า สายการบินที่ขอเพิ่มเที่ยวบินพิเศษมากที่สุด 3 อันดับแรก (รวมขาเข้า-ออก) ประกอบด้วย บางกอกแอร์เวย์ส 169 เที่ยวบิน ไทยสมายล์ฯ 50 เที่ยวบิน และทีเวย์ 17 เที่ยวบิน

เดินทางในประเทศโตเกินคาด

“นิตินัย ศิริสมรรถการ” ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ผู้บริหารท่าอากาศยาน (สนามบิน) หลักของประเทศจำนวน 6 แห่งประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง (เชียงราย), ภูเก็ต และหาดใหญ่ (สงขลา) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาพรวมการเดินทางภายในประเทศมีอัตราการเติบโตที่ดีเกินคาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก ขณะที่การเดินทางระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคาดการณ์ค่อนข้างมากเช่นกัน

“แม้ว่าจะมีมาตรการการเดินทางที่เข้มงวดขึ้น แต่สำหรับตลาดการเดินทางภายในประเทศไม่ได้แผ่วลงแต่อย่างใด กลับขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่าชัดเจน ทุกสายการบินอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเต็มแทบทุกเที่ยวบิน”

และบอกด้วยว่า สำหรับตลาดภายในประเทศแล้วเชื่อว่าตราบใดที่ไม่มีคำว่า “ล็อกดาวน์” โมเมนตัมจะยังคงแรงต่อไป เพราะคนอยู่ในภาวะที่อั้นการเดินทางมานาน ประเด็นสำคัญขณะนี้จึงอยู่ที่ว่าสายการบินต่าง ๆ กล้าที่จะเพิ่มความถี่เที่ยวบิน หรือเพิ่มเดสติเนชั่นใหม่ ๆ หรือไม่มากกว่า