อุตฯท่องเที่ยวไทย 2564 ปีแห่ง “ความเจ็บปวด-คราบน้ำตา”

เปิดประเทศ

ในปี 2563 ที่ว่ากันว่าเป็นปีที่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้ว ปี 2564 ที่เพิ่งผ่านมาหมาด ๆ ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสมากกว่าหลายเท่า

ปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.7 ล้านคน ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 83 คิดเป็นรายได้ 332,013 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 82

ปี 2564 เดิม ททท.คาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประมาณ 1.2 ล้านคน แต่สุดท้ายแล้วน่าจะอยู่ที่ประมาณ 700,000 คน สร้างรายได้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

เรียกว่าหายไปเกือบทั้งหมดหากเทียบกับปี 2562 (ก่อนวิกฤตโควิด) ที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 2 ล้านล้านบาท และน่าจะเป็น “จุดต่ำสุด” ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยก็เป็นได้

ยึด “ภูเก็ต” ทำโมเดลนำร่อง

ปรากฏการณ์นี้ทำให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวพยายามปรับตัวทุกรูปแบบ หารูปแบบแนวทางสำหรับเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้

โดยเฉพาะในจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก และเลือก “ภูเก็ต” เป็นพื้นที่ “นำร่อง” เนื่องจากเป็นจังหวัดที่สามารถบริหารจัดการคนเข้า-ออกได้ดีที่สุด ภายใต้โมเดล “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” หรือ Phuket Sandbox

โดยโมเดลการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติดังกล่าวนี้ จะรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดส รวมไปถึงคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ และฉีดวัคซีนครบโดสก็สามารถเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัวเช่นกัน

1 ก.ค. 64 เปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์

1 กรกฎาคม 2564 กำหนดเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้โมเดล “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” โดย “เอทิฮัดฯ” เส้นทางอาบูดาบี-ภูเก็ต เที่ยวบินที่ EY430 เป็นสายการบินแรกที่นำต่างชาติแตะรันเวย์ท่าอากาศยานภูเก็ต ตามมาด้วยเที่ยวบินอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากโซนยุโรป ตะวันออกกลางเป็นหลัก รวมผู้โดยสารในวันแรกราว 300-400 คน

นับเป็นสัญญาณแห่งความหวังของเหล่าผู้ประกอบการ หลังนักท่องเที่ยวหายไปเป็นเวลานับปี

ผ่านไป 15 วันรัฐบาลก็เปิดโครงการ Samui Plus Model ต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่ทะเลฝั่งอ่าวไทย เชื่อมพื้นที่ 3 เกาะ ทั้งเกาะสมุย เกาะเต่า และเกาะพะงัน ในรูปแบบที่เรียกว่า sealed route หรือตามเส้นทางที่กำหนดไว้

โดยนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการจะต้องอยู่ในโรงแรมช่วง 3 วันแรก จากนั้นถึงจะสามารถออกไปท่องเที่ยวพื้นที่อื่น ๆ ในเกาะสมุย และหลังจากผ่านไป 7 วันจะสามารถเดินทางไปยังเกาะอีก 3 แห่งได้ แต่ต้องเป็นการท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริปเท่านั้น

“เดลต้า” ทุบนักท่องเที่ยวหลุดเป้า

สำหรับการเปิด “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” นั้นรัฐบาลตั้งเป้าว่าใน 3 เดือนแรกของโครงการจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ได้ราว 100,000-120,000 คน และมีเม็ดเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวที่ 1.1 หมื่นล้านบาท รวมถึงแผนขยาย “แซนด์บอกซ์” ในพื้นที่อื่น ๆ อีกมากมาย

แต่ผ่านไป 3 เดือนตัวเลขนักท่องเที่ยวก็ฟ้องอย่างชัดเจนว่า “ไม่เข้าเป้า” แผนที่วางไว้โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ภูเก็ตมีเพียง 38,699 คน หรือราว 30% ของเป้าหมาย

ว่ากันว่า ปัจจัยที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีน้อยกว่าที่คาด ส่วนหนึ่งมาจากระยะเวลาการกักตัวที่กำหนดไว้ที่ 7-14 วัน รวมถึงกระแสแพร่ระบาดภายในประเทศของไทยยังค่อนข้างสูงจากเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่พุ่งหลักหมื่นในสิงหาคม-กันยายน 2564 ทำให้หลายชาติจัดไทยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยง ส่งผลเสียต่อยุทธศาสตร์แซนด์บอกซ์มากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ด้วยกับบรรยากาศของภูเก็ตที่ยังเงียบเหงา ร้านค้าในย่านท่องเที่ยวหลัก ๆ ยังคงปิดให้บริการจนเกิดกระแสปากต่อปากของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อรวมกับข่าวคดีแหม่มชาวสวิสที่ถูกฆ่าในเกาะภูเก็ต ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติไประยะหนึ่ง

ขณะที่ภาคเอกชนภูเก็ตและคนท่องเที่ยวจำนวนมากต่างมองว่า แม้ตัวเลขหรือปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่เอื้อและทำให้ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ก็ภูมิใจและดีใจที่รัฐบาลเดินหน้าโครงการต่อเพราะมองว่าการเปิดภูเก็ตนั้นเป็นการส่งสัญญาณให้ชาวโลกรับรู้ว่า “ประเทศไทยพร้อมแล้ว” ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รวมถึงอาจเป็น role model ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้เรียนรู้-ปรับปรุง-แก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์

1 พ.ย. 64 เปิดประเทศไม่กักตัว

ปรากฏการณ์ที่เป็นความหวังของภาคธุรกิจท่องเที่ยวมากที่สุดสำหรับปี 2564 คือ วันที่ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ เมื่อ 11 ตุลาคม 2564 ที่ประกาศว่าจะให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยแบบไม่ต้องกักตัว (test & go) โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

พร้อมระบุว่านักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาโดยไม่กักตัวนี้จะต้องเดินทางมาทางอากาศ และเดินทางมาจากประเทศหรือพื้นที่ที่กำหนด

หลังการประกาศของนายกฯ เสียงในสังคมแตกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนหนึ่งยังคงไม่มั่นใจในมาตรการของภาครัฐ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์บางรายออกมาแสดงความกังวล เกรงว่าหากรัฐบาลไม่สามารถจัดการระบบการตรวจเชื้อ หรือระบบการติดตามได้ดีพอ อาจลุกลามเป็นการระบาดใหญ่ในประเทศ อีกทั้งอัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในเวลานั้นยังไม่อยู่ในระดับที่สูงนัก

อีกทางหนึ่งก็ถือว่าเป็นการสร้างบรรยากาศและส่งสัญญาณให้กับนานาชาติว่าไทยพร้อมแล้วในการเปิดรับนักท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับความพยายามในการเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และขอความร่วมมือให้ทุกคนยังปฏิบัติตามนโยบายควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด

ขณะที่ภาคเอกชนมองต่างชี้ว่า นโยบายการเปิดประเทศ-ผ่อนคลายมาตรการเป็นสัญญาณบวก โดยห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ต่างขานรับนโยบายโดยขยายเวลาเปิดให้บริการ ส่วนกลุ่มโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ให้ความเห็นว่า นโยบายดังกล่าวเป็นผลดีต่อกิจการโรงแรมโดยรวม

เช่นเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่วิเคราะห์ว่า การเปิดประเทศแบบไม่กักตัวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับการไม่มีมาตรการ และน่าจะหนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้ชัดเจนขึ้นในปี 2565

สะดุด “โอไมครอน” ส่งท้ายปี

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะหน่วยงานด้านการตลาด ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังการเปิดประเทศว่า ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2564 จะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยเฉลี่ย 300,000 คนต่อเดือน และจะเป็นตัวผลักดันให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2564 ขยับไปอยู่ที่ประมาณ 700,000 คน

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ศบค.รายงานว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นเดือนแรกของการเปิดประเทศรับต่างชาติโดยไม่กักตัว มียอดผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรผ่านทุกท่าอากาศยานจำนวน 133,061 ราย

และเหมือน “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” เมื่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศกำลังเข้าสู่ “ไฮซีซั่น” ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” กันอีกครั้งเมื่อ 20-21 ธันวาคม 2564

กระทั่งทำให้ ศบค.ออกมาประกาศปิดระบบลงทะเบียนเข้าประเทศผ่าน Thailand Pass เป็นการชั่วคราวสำหรับการเดินทางในรูปแบบไม่กักตัวหรือ test & go และรูปแบบแซนด์บอกซ์ทั้งหมด (ยกเว้นภูเก็ต) เหลือไว้เพียงรูปแบบ AQ หรือ alternative quarantine กักตัว 14 วัน และ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เดินทางเฉพาะในจังหวัด 7 วันก่อนไปพื้นที่อื่น

มาตรการดังกล่าวสร้าง “ความเจ็บปวด” และ “คราบน้ำตา” ให้กับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกครั้ง

2565 ปีแห่งความท้าทาย

ปี 2565 นี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์คาดการณ์ว่า สำหรับปี 2565 นี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าประเทศไทย 5.9 ล้านคน โดยต้องจับตาการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่คาดว่าจะแพร่ระบาดได้ง่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี คาดว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงกว่าเดิม ทำให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากเหมือนเดิม อีกทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความพร้อมในการปรับตัวต่อสถานการณ์เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) คาดการณ์ว่า ปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 5.8 ล้านคน แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี กว่าที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ด้าน “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการ ททท.ให้สัมภาณ์ว่า ปี 2565 ททท.ตั้งเป้าสร้างรายได้ภาคการท่องเที่ยวไทยประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 50 ของปี 2562 และยังตั้งเป้าหมายของปี 2566 ไว้ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 80 ของปี 2562

ณ เวลานี้ต้องยอมรับว่า “โอไมครอน” คือปัจจัยสำคัญที่เป็นความท้าทายของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในปี 2565 นี้

4 ม.ค. 65 ลุ้น Test & Go (แค่) หยุด “ชั่วคราว” จริงหรือ ?

สำหรับแผนการเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปิดประเทศในภาพใหญ่เท่านั้น ในระดับรายละเอียดแล้ว รัฐบาลแบ่งพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในแต่ละระยะดังนี้

1.ระยะนำร่อง (ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564) เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด คือ ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย, เกาะพะงัน, เกาะเต่า), กระบี่ (เกาะพีพี, เกาะไหง, ไร่เลย์) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก, เกาะยาว)

2.ระยะที่หนึ่ง (1-30 พฤศจิกายน 2564) เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมด เช่น กรุงเทพมหานคร, พังงา (ทั้งจังหวัด), ระนอง (เกาะพยาม)

3.ระยะที่สอง (1-31 ธันวาคม 2564) เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมด มีสินค้าการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม หรือเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กาญจนบุรี, นนทบุรี, ปทุมธานี

และ 4.ระยะที่สาม (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป) จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น น่าน, อุบลราชธานี (เมือง, สิรินธร), นครพนม

โดย ศบค.ได้กำหนดมาตรการป้องกันโควิด-19 สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยจำแนกตามประเภท (เริ่มใช้ตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2564) ดังนี้

1.“test and go : ไม่กักตัว เดินทางได้ทุกพื้นที่” มีข้อกำหนด คือ ผู้โดยสารต้องเดินทางมาจาก 63 ประเทศหรือพื้นที่ และพำนักในประเทศดังกล่าวเป็นเวลา 21 วัน, ได้รับการฉีดวัคซีน, มีผล RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมง, ต้องลงทะเบียน Thailand Pass

เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยจะต้องตรวจ RT-PCR และ ATK อีกครั้ง และต้องรอผลตรวจดังกล่าวในโรงแรม AQ หรือโรงแรม SHA+ 1 วัน

2.“sandbox program : พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว” มีข้อกำหนด คือ ผู้โดยสารเดินทางมาจากประเทศใดก็ได้, ได้รับการฉีดวัคซีน และ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงจากท่าต้นทาง, ต้องลงทะเบียน Thailand Pass

เมื่อเดินทางมาถึงจะต้องพำนักในพื้นที่ sandbox เป็นเวลา 5 วัน, ตรวจ RT-PCR และ ATK ด้วยตนเองในวันที่ 4-5

และ 3.“quarantine facilities : กักตัว” มีข้อกำหนด คือ ผู้โดยสารเดินทางมาจากประเทศใดก็ได้ เมื่อเดินทางมาถึง จะต้องกักตัวในสถานกักกันที่ราชการกำหนด, ต้องลงทะเบียน Thailand Pass

โดยหากได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ เดินทางผ่านทุกช่องทาง จะใช้เวลากักตัว 5 วัน, ไม่ได้ฉีดวัคซีน กักตัว 10 วัน และหากเข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย ต้องกักตัวทั้งหมด 14 วัน อีกทั้งต้องตรวจ RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง

ทั้งนี้ มติที่ประชุม ศบค. เมื่อ 21 ธันวาคม 2564 สั่งปิดระบบลงทะเบียนเข้าประเทศผ่าน Thailand Pass สำหรับการเข้าประเทศในรูปแบบ test & go และ sandbox ทั้งหมด (ยกเว้นภูเก็ต) ชั่วคราวตั้งแต่ 22 ธันวาคม 2564-4 มกราคม 2565 เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่กำลังแพร่ระบาดหนักในทั่วโลก

คงต้องมาติดตามกันต่อไปว่า หลังวันที่ 4 มกราคม 2565 ศบค.จะประกาศให้ต่างชาติลงทะเบียนเข้าประเทศในรูปแบบ test & go และ sandbox ได้เหมือนเดิม หรือว่าจะยังคง “หยุดชั่วคราว” เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ “โอไมครอน” ต่อไป…