
สัมภาษณ์
การประกาศยุติการลงทะเบียนเข้าประเทศในระบบ test & go ออกไปแบบไม่มีกำหนด เหลือไว้เพียงโมเดล “แซนด์บอกซ์” จังหวัดภูเก็ต, พังงา, กระบี่ และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) เป็นสัญญาณถอยของนโยบาย “เปิดประเทศ” ของรัฐบาลอย่างชัดเจน
ด้วยเหตุผลการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยตรงอีกครั้ง
- ลงทะเบียน คนละครึ่งเฟส 5 รับเงิน 800 บาท เริ่มแล้ว วันนี้ !
- ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ยุบ ศบค. 1 ต.ค.นี้ โควิดติดต่อไม่อันตราย
- โคตะน้ำตาคลอ เสียใจทำไม่เต็มที่ เจอ บัวขาว ใส่ไม่ยั้ง เวทีมวยราชดำเนิน
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ถึงมุมมองที่มีต่อการปรับแผนของนโยบายเปิดประเทศดังกล่าว รวมถึงประเมินภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสำหรับปี 2565 นี้ ไว้ดังนี้
หยุด Test & Go กระทบยาว
“ชำนาญ” บอกว่า ในประเด็นการปิดให้ลงทะเบียน test & go ออกไปก่อนนั้นหากมองในมุมของการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด “โอมิครอน” ที่ยังคงแพร่ระบาดหนักในทั่วโลกก็เป็นเหตุผลที่สมควรทำ เพื่อเป็นการปกป้องตลาดในประเทศไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดหนักเหมือนในหลาย ๆประเทศที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในช่วงที่ผ่านมา
ที่สำคัญเพื่อบล็อกไม่ให้โอมิครอนเข้ามาสร้างความเสียหายให้ประเทศไทยเป็นวงกว้างกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ขณะที่ชาวต่างชาติที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาประเทศไทยนั้น รัฐบาลก็ยังมีพื้นที่ “แซนด์บอกซ์” รองรับถึง 4 จังหวัด/พื้นที่ คือ จังหวัดภูเก็ต, พังงา, กระบี่ และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ที่ผ่านการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาแล้วในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งรูปแบบที่เป็น “แซนด์บอกซ์” และ AQ (alternative quarantine) จึงเชื่อว่าทุกพื้นที่มีมาตรการรองรับที่รัดกุมและสามารถเดินหน้าต่อได้
อย่างไรก็ตาม หากถามว่าการยกเลิกมาตรการดังกล่าวเป็นการชั่วคราวนี้กระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวมหรือไม่ก็ต้องบอกว่ากระทบ เนื่องจากแผนขับเคลื่อนการเปิดประเทศอยู่ในระยะคิกออฟ และน่าจะมีแนวโน้มที่ดีเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายต้องสะดุดไป
“ชำนาญ” บอกว่า การประกาศยกเลิก test & go นั้น นอกจากจะส่งผลกระทบทันทีต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาแล้วยังกระทบต่อเนื่องในระยะยาวอีกด้วย เนื่องจากกระบวนการเดินทางเข้าประเทศต้องใช้เวลาเตรียมการพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเอกสาร จองตั๋วโดยสาร จองโรงแรมที่พัก ฯลฯ
หากรัฐประกาศกลับมาเดินหน้าต่ออีกครั้งก็จำเป็นต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือนกว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาอีกครั้ง
เชื่อมั่นต่างชาติวูบ-ธุรกิจสะดุด
“ชำนาญ” บอกอีกว่า ประเด็นที่เป็นกังวลคือ ความไม่ชัดเจนของมาตรการรองรับสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลงทะเบียนแล้ว ได้ QR code จองตั๋วเครื่องบิน และจองโรงแรมแล้วจะทำอย่างไร เพราะประเด็นเหล่านี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความรู้สึกของนักท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศไทยในระยะยาว
นอกจากนี้ จากการประชุมร่วมกับกรรมการและสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิก สทท. หลายส่วนกังวลว่าการเปิด ๆ ปิด ๆ จะทำให้ผู้ประกอบการยิ่งเจ็บแล้วเจ็บอีกหลายครั้งหลายครา
“แม้ว่าที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาจะมีจำนวนไม่มากนัก ประมาณ 2 แสนคน ในจำนวนนี้ถือว่ายังไม่ถึง 5% ของจำนวนห้องพักที่เปิดให้บริการ แต่ก็ต้องขอบคุณรัฐบาลที่มีความพยายามในการเปิดประเทศ และทำให้หลาย ๆ ประเทศสนใจโมเดลการเปิดประเทศของไทย และนำไปเป็นโมเดลต้นแบบของหลาย ๆ ประเทศ”
วอนรัฐอัด “เที่ยวในประเทศ”
“ชำนาญ” บอกด้วยว่า ประเด็นสำคัญในช่วงที่ประเทศไทยชะลอแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินี้คือ อยากให้รัฐบาลช่วยพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อให้ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการซัพพลายเชนด้านการท่องเที่ยวสามารถประคับประคองธุรกิจให้เดินต่อได้
หรือหากรัฐบาลกลับมาใช้มาตรการเปิดประเทศในรูปแบบ test & go ได้อีกครั้ง ส่วนตัวก็ยังเชื่อว่าถ้าประเทศต้นทางยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอยู่ เมื่อบวกกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวยนักก็จะยังคงส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการเปิดประเทศของไทยเหมือนเช่นที่ผ่านมา
“ที่ผ่านมาส่วนใหญ่โอมิครอนมาจากต่างประเทศรัฐบาลปิดประเทศ ระงับ test & go ไปก็ควรหันมาปลุกตลาดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยแทน
เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจท่องเที่ยวที่กลับมาเปิดให้บริการกันอีกครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม เรือ รถ ร้านอาหาร ฯลฯ ส่วนใหญ่ที่ยังเดินหน้าธุรกิจต่อได้นั้นมาจากตลาดโดเมสติก หรือการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศแทบทั้งสิ้น”
“ไทยเที่ยวไทย” ความหวังปีนี้
“ชำนาญ” ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้คือ ผู้ประกอบการไร้ทางออก ทุกคนตายไปหมดแล้ว ไม่มีธุรกิจทำกันมาร่วม 2 ปีเต็ม ๆ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ส่วนตัวยืนยันว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ประเทศไทยเราต้องพึ่ง “ไทยเที่ยวไทย” เป็นหลัก
กล่าวคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้มีการติดเชื้อโควิดต่ำที่สุด และกระตุ้นตลาดในประเทศด้วยแคมเปญที่แรงกว่าเดิม
โดยมองว่าแค่โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่เตรียมจะออกเฟส 4 เร็ว ๆ นี้ หรือโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดในไตรมาสแรกปีนี้ไม่เพียงพออีกต่อไป เนื่องจากโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ยังมีปัญหาในเชิงปฏิบัติค่อนข้างมาก
“ตอนนี้ผู้ประกอบการทัวร์ตายหมดแล้ว เพราะโครงการทัวร์เที่ยวไทยเดินต่อไม่ได้ ไม่สำเร็จในเชิงนโยบาย รัฐควรยกเลิกโครงการแล้วมาทำทัวร์คนละครึ่งหรือโครงการอื่น ๆเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศและช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประคองตัวเองกลับมาได้บ้าง”
ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งพัฒนาใน 3 ส่วนหลัก ๆ ควบคู่กันไปด้วย คือ
1.พัฒนาแพลตฟอร์มกลาง เพื่อสร้างช่องทางขายให้ผู้ประกอบการคนไทย
2.พัฒนาด้านซัพพลายไซด์ หรือแหล่งท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ ให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมการกลับมาของการท่องเที่ยวในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
และ 3.ผนึกโฮลเซลรายใหญ่ฟื้นฟูตลาด เนื่องจากโฮลเซลคือหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและการท่องเที่ยว
พร้อมย้ำว่า ถ้าจะให้ภาคการท่องเที่ยวของประเทศอยู่รอด ต้องมาทำเรื่อง “ไทยเที่ยวไทย” เพราะถ้าทำให้คนไทยมีความสุข เมืองไม่ร้างจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ดี ในอนาคตก็จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้