ออมสินประเมินท่องเที่ยวปี’65 รายได้แตะ 1.3-1.6 ล้านล้าน

ท่องเที่ยว
Photo by Mladen ANTONOV / AFP

ศูนย์วิจัยแบงก์ออมสินประเมินปี’65 รายได้จากการท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดแตะ 1.3-1.6 ล้านล้าน เตือนปัจจัยเสี่ยงจำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น ซัพพลายห้องพักล้น ต่างชาติชิงเค้กห้องพัก ส่วนปี’64 ราคาห้องเฉลี่ยไม่ถึง 900 ภาคใต้หดตัวหนักสุด

วันที่ 12 มกราคม 2565 ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน (GSB Research) ออกรายงาน “Hotel Industry Update” เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 โดยคาดการณ์ว่าปี 2565 สถานการณ์การท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และสามารถสร้างรายได้รวม 1.3-1.6 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 0.62-1.05 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยว 10-12 ล้านคน ตลาดในประเทศ 0.68-0.85 ล้านล้านบาท จากการท่องเที่ยว 122-160 ล้านคน-ครั้ง

โดยในปี 2565 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดยขยายตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูง, การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเพื่อความยั่งยืน, สร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน (Responsible Tourism), การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค

ทั้งนี้ ฝ่ายกลยุทธ์และวิจัยของธนาคารประเมินว่าปี 2564-2565 ธุรกิจโรงแรมมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ดังต่อไปนี้ 1.จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาดกลางลงมาขาดสภาพคล่อง ส่งผลต่อการอยู่รอดของธุรกิจ 2.ภาวะห้องพักล้นตลาด ขณะที่ลูกค้านักท่องเที่ยวมีจำกัด ส่งผลให้เกิดการแย่งลูกค้าจนเกิดการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง

3.นักลงทุนต่างประเทศและผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด โดยเข้ามาซื้อกิจการโรงแรมขนาดกลางในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ จากผู้ประกอบการรายเดิมที่ออกจากตลาดไป 4.พฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป เช่น เน้นความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เลือกเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้ในระยะที่สามารถขับรถส่วนตัวไปได้

5.ถูกแย่งฐานลูกค้าจากแพลตฟอร์มการแบ่งปันห้องเช่า รวมทั้งที่พักทดแทนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ให้เช่า และ 6.การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความกังวลและชะลอการท่องเที่ยวออกไป

ส่วนในปี 2564 ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินระบุว่าราคาห้องพักขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ 10 เดือนแรกของปี 2564 มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 898.9 บาท ต่อห้องต่อคืน หดตัว -19.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 โดยทุกภูมิภาคยังคงหดตัว ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาฟื้นตัวเหมือนในช่วงก่อนเกิดการระบาด

ทั้งนี้ ภูมิภาคที่มีราคาห้องพักขายได้สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ภาคใต้ ภาคกลาง (รวมกรุงเทพฯ) และภาคเหนือ แม้ว่าภาคใต้จะเป็นภูมิภาคที่มีราคาห้องพักขายได้เฉลี่ยสูงที่สุด แต่ก็เป็นภูมิภาคที่มีราคาห้องพักขายได้หดตัวหนักที่สุด อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาพรวมราคาห้องพักในไตรมาส 4 จะทยอยปรับตัวสูงขึ้น แต่จากการแข่งขันด้านราคาที่ยังรุนแรง ส่งผลให้ราคาห้องพักจะปรับตัวได้อย่างช้า ๆ

โดยราคาห้องพักเฉลี่ยรายภูมิภาค (บาท) จำแนกรายภาคมีดังต่อไปนี้ 1.ภาคกลาง 10M/62 1,689.2 ; 10M/63 1,134.6 (-32.8% YOY) ; 10M64 948.8 (-16.4% YOY) 2.ภาคใต้ 10M/62 2,238.9 ; 10M/63 1,374.6 (-38.6% YOY) ; 10M64 1,019.6 (-25.8% YOY) 3.ภาคเหนือ 10M/62 1,365.9 ; 10M/63 1,037 (-24.1% YOY) ; 10M64 827.6 (-20.2% YOY) และ 4.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10M/62 848.5 ; 10M/63 650.5 (-23.3% YOY) ; 10M64 607 (-6.7% YOY)

นอกจากนี้ รายงานยังเปิดเผยว่า จำนวนห้องพักทั่วประเทศในปี 2564 มีจำนวนคงที่ต่อเนื่องจากปี 2563 โดยมีจำนวน 789,280 ห้อง (ข้อมูล ณ 7 ธันวาคม 2564) เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 เพียง 1% เกิดจากปัจจัย ดังนี้ 1.นักลงทุนชะลอการลงทุนโครงการใหม่ออกไป เพื่อดูทิศทางตลาดการท่องเที่ยว หลังจากการระบาดระลอกใหม่

2.จำนวนห้องพักในตลาดยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก สวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวแรง 3.การแข่งขันด้านราคายังรุนแรง เนื่องจากกลุ่มโรงแรมระดับ 4-6 ดาว มีการลดราคาลงมาค่อนข้างมากเพื่อแย่งชิงนักท่องเที่ยวกับโรงแรมระดับ 3 ดาว และต่ำกว่า และ 4.ผู้ประกอบการหลายรายโดยเฉพาะตั้งแต่ขนาดกลางลงมา ขาดรายได้จนไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้อีกต่อไป จนต้องปิดหรือขายกิจการ

โดยในภาคเหนือ มีจำนวนห้องพัก 115,458 ห้อง เพิ่มขึ้น 1.94% YTD คิดเป็น 14.6% ของประเทศ ภาคกลางมีจำนวนห้องพัก 38,785 ห้อง เพิ่มขึ้น 1.23% YTD คิดเป็น 4.9% ของประเทศ ภาคตะวันตกมีจำนวนห้องพัก 57,351 ห้อง เพิ่มขึ้น 2.13% YTD คิดเป็น 7.3% ของประเทศ

กรุงเทพฯ มีจำนวนห้องพัก 92,313 ห้อง เพิ่มขึ้น 0.00% YTD คิดเป็น 11.7% ของประเทศ ภาคตะวันออกมีจำนวนห้องพัก 133,334 ห้อง เพิ่มขึ้น 0.32% YTD คิดเป็น 16.9% ของประเทศ และภาคใต้มีจำนวนห้องพัก 255,373 ห้อง เพิ่มขึ้น 0.89% YTD คิดเป็น 32.4% ของประเทศ