กรมการท่องเที่ยว ลงนาม MOU เชื่อมโยงฐานข้อมูลธุรกิจท่องเที่ยว

กรมการท่องเที่ยวลงนาม MOU ร่วมกับกรมการปกครอง และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เชื่อมโยงฐานข้อมูลภาคบริการการท่องเที่ยว หวังลดการซ้ำซ้อนข้อมูล ได้ข้อมูลครบถ้วน พร้อมนำดาต้าต่อยอดเชิงนโยบาย

วันที่ 20 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการท่องเที่ยว กรมการปกครอง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเชื่อมโยงข้อมูลภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

นายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า ฐานข้อมูลนำร่องที่จัดทำขึ้น จะประกอบไปด้วยธุรกิจโฮมสเตย์ ที่พักนักเดินทาง (Home Lodge) สปา และนวดเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นธุรกิจลำดับแรก ๆ ที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย การเชื่อมโยงข้อมูลที่จะเกิดขึ้น จะช่วยขยายความร่วมมือให้เกิดการบูรณาการข้อมูลระหว่างกัน ลดความซ้ำซ้อนในการจัดทำข้อมูล และได้ข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ ครบถ้วน นอกจากนี้ ยังสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาต่อยอดเชิงนโยบายเพื่อรองรับต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดยระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว TSPD (Tourism Service Providers Database) มีการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

  • พัฒนามาตรฐานบริการด้านการท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมผู้ให้บริการทั่วประเทศ
  • ศึกษา วิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวในด้านอุปทาน (Supply)
  • ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการบริการด้านการท่องเที่ยว
  • ส่งเสริมด้านการตลาดบริการด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนามาตรฐาน/การจัดเส้นทางการท่องเที่ยว
  • ส่งเสริมการลงทุนบริการด้านการท่องเที่ยวในสาขาที่ขาดแคลนการให้ความช่วยเหลือภายใต้มาตรการต่าง ๆ ของรัฐ

ในส่วนของข้อมูลที่จะจัดเก็บแบ่งเป็นสามหมวดใหญ่ ดังนี้

1. ข้อมูลทั่วไปของกิจการ : ชื่อ-สกุล, รูปแบบการประกอบธุรกิจ (บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล), ประเภทธุรกิจ (จำแนกเป็น 2 ระดับ, ระดับใหม่ 13 หมวด และระดับย่อยในแต่ละหมวด), ข้อมูลที่ตั้งสถานประกอบการ, ผู้บริหาร-ผู้ประสานงาน, จำนวนพนักงาน, รายได้ และปีที่ก่อตั้ง

2. ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ : ประเภทบริการ (1 กิจการ สามารถมีหลายประเภทบริการ), อัตราค่าบริการของแต่ละประเภทบริการ, ข้อมูลเฉพาะของแต่ละประเภทธุรกิจ, มาตรฐานบริการ (มาตรฐานกรมการท่องเที่ยว และมาตรฐานอื่น ๆ ), รางวัลที่ได้รับ และสถานะธุรกิจ

และ 3. ข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านการท่องเที่ยว : ชื่องานวิจัย, ชื่อนักวิจัย-หน่วยงานที่นักวิจัยสังกัด, ชื่อหน่วยงานเจ้าของงานวิจัย, ลักษณะงานวิจัย, ประเภทการวิจัย (ตามประเภทบริการการท่องเที่ยว), ปีที่ดำเนินการ, แหล่งที่มาของข้อมูล และสรุปงานวิจัย

สำหรับคุณสมบัติของระบบดังกล่าว มีดังต่อไปนี้

  • สามารถให้ค้นหาด้วย Key word ต่าง ๆ เช่น ชื่อ รูปแบบการประกอบธุรกิจ ประเภทธุรกิจ ที่ตั้งสถานประกอบการ มาตรฐานที่ได้รับ ประเภทบริการ
  • สามารถออกรายงานประเภทต่าง ๆ
  • สามารถกำหนดสิทธิในระดับต่าง ๆ
  • ทำ Excel Template ที่ให้ผู้รวบรวมข้อมูล รวบรวมในรูปแบบที่สามารถนำมา Upload เข้าระบบฐานข้อมูลนี้ได้โดยสะดวก
  • สามารถทำงานผ่านระบบ Web-base
  • สามารถให้บุคคลภายนอกสามารถลงทะเบียนเข้าใช้ฐานข้อมูลสำหรับส่วนงานวิจัย สามารถค้นหาตามประเภทวิจัย ช่วงเวลาของการทำวิจัยเป็นต้น

นายบุญเสริม ขันแก้ว รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า ฐานข้อมูลภาคการท่องเที่ยวที่มีความครบถ้วน จะสามารถยกระดับศักยภาพผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยม อย่างยั่งยืน


อย่างไรก็ตาม นายณัฐพล ลีลาวัฒนานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็กเซลเลนส์ บิสเนส แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องทำการอัพเดตข้อมูลผ่านระบบทุกปี เพื่อให้ข้อมูลมีความครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน ส่วนวันเปิดให้เข้าใช้ระบบดังกล่าว ยังไม่สามารถกำหนดวันที่ชัดเจนได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามของนโยบายกรมการท่องเที่ยว