“เวลเนส” สวนกระแสโควิด คาดปี’68โต 7 ล้านล้านเหรียญ

สมาพันธ์สปาไทยเผยธุรกิจเวลเนสพร้อมกลับมาแกร่ง ขณะที่สถาบันด้านสุขภาพสากลคาดปี’68 มูลค่าเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพทั่วโลกแตะ 7 ล้านล้านเหรียญ ผู้ประกอบการแนะปรับโฟกัสด้านความสะอาด-ลดจุดเสี่ยง พร้อมชูมาตรฐานดึงดูดใจนักท่องเที่ยว

นายอภิชัย เจียรอดิศักดิ์ ที่ปรึกษาสมาพันธ์สปาไทย กล่าวในงานเสวนาโครงการเชื่อมโยงข้อมูลภาคบริการด้านการท่องเที่ยว โดยการเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการปรับตัวธุรกิจรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal)” จัดโดยกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาว่า จากข้อมูลจำนวนผู้ให้บริการ ผู้ดำเนินการ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั่วประเทศ (ที่เพิ่มขึ้น) ปีงบประมาณ 2565 ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 พบว่า

มีกิจการสปา ทั้งในกรุงเทพฯและในส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น 23 แห่ง กิจการนวดเพื่อสุขภาพ 294 แห่ง นวดเพื่อเสริมความงาม 8 แห่ง สะท้อนว่าธุรกิจเวลเนสยังมีศักยภาพ

โดยปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มพูดถึงตลาดกลุ่มเวลเนส (wellness) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมถึง personal care เพิ่มมากขึ้น

“แม้ว่าผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจเหล่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่เมื่อพิจารณารายงานจากสถาบันด้านสุขภาพสากล หรือ Global Wellness Institute (GWI) จะพบว่าในปี 2568 มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพของทั้งโลก จะมีมูลค่าแตะ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 230 ล้านล้านบาท” นายอภิชัยกล่าว

และว่า รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพของทั้งโลก (global wellness economy) ยังมีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 145 ล้านล้านบาท (ปี 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยแบ่งเป็นมูลค่าจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 14 ล้านล้านบาท ธุรกิจสปา 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.2 ล้านล้านบาท

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ สถาบันด้านสุขภาพสากลยังคาดการณ์ด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2563-2568 ธุรกิจสปาจะมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ตั้งแต่ 2563-2568 อยู่ที่อัตรา 17.2% ส่วนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะเติบโตเฉลี่ยที่อัตรา 20.9%

ส่วนเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในภาคการท่องเที่ยวหลังจากนี้ นายอภิชัยกล่าวว่า ความสะอาด จะเข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการวางแผนพัฒนา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องคำนึงถึงเรื่องความสะอาดเป็นสำคัญ จำเป็นต้องออกแบบงานบริการใหม่ โดยลดจุดเสี่ยงสัมผัส มีรายการที่สั้นกระชับ ส่วนห้องรับรองหรือพื้นที่ต้อนรับลูกค้าจะถูกลดความสำคัญลง

ADVERTISMENT

“ขอเพียงผู้ประกอบการอย่าท้อ เพราะการท่องเที่ยวจะกลับมาเร็วหรือไม่อยู่ที่เหล่าบรรดาผู้ประกอบการ ประเทศไทยสามารถใช้เรื่องความสะอาดเป็น soft power เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้มาใช้บริการที่บ้านเราได้” นายอภิชัยกล่าว

ด้านนายเศรษฐศักดิ์ พรหมมา ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชน จังหวัดเชียงราย กล่าวในหัวข้อเดียวกันว่า ในช่วงของการระบาดของเชื้อโควิด-19 ผู้ประกอบการต้องปรับตัวหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารไปยังลูกค้ามากขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าของโฮมสเตย์ที่ตนเองดูแลอยู่ เป็นกลุ่มลูกค้าที่เดินทางกลับมาอีกครั้ง ดังนั้น โจทย์สำคัญของการประกอบธุรกิจ คือ การสร้างความรู้สึกประทับใจให้กับผู้ใช้บริการ

ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวจำเป็นต้องสร้างมาตรฐาน ยิ่งได้รับการประเมินมาตรฐานมากเท่าใดยิ่งทำให้ได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นในอุตสาหกรรมมากขึ้นเท่านั้น และสิ่งสำคัญ คือ การผ่านการรับรองมาตรฐานธุรกิจท่องเที่ยวต่าง ๆ ทำให้สามารถนำไปประชาสัมพันธ์ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่ใช้บริการ

นอกจากนี้ อาจทำให้ผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากภาครัฐ รวมทั้งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีอยู่ได้