รวมคำห้ามพูดที่สนามบิน-เครื่องบิน ฝ่าฝืนจำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับ 2 แสน

เปิดคำห้ามพูด พฤติกรรมห้ามทำ ในสนามบิน-เครื่องบิน
ภาพจาก Pixabay

เปิดคำพูดและการกระทำ ไม่ควรทำบริเวณสนามบิน-บนเครื่องบิน ฝ่าฝืนระวังโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วันที่ 28 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โซเชียลแชร์คลิป ชายคนหนึ่งแสดงท่าทางคล้ายคนเมา พูดจาก่อกวนเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ทั้งเรื่องระเบิด ทั้งยังอ้างรู้จักนายกรัฐมนตรี และเป็นราชองครักษ์ แต่สุดท้ายต้องยอมกราบขอโเทษไม่ให้เอาผิด ต่อมาโฆษกกองทัพเรือชี้แจงว่า ชายคนดังกล่าวคือ พันจ่าเอก ไพโรจน์ ขาวแก้ว สังกัด กรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ

โฆษกกองทัพเรือ ระบุด้วยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างที่ พันจ่าเอก ไพโรจน์ กำลังเดินทางจากท่าอากาศยานหาดใหญ่มายังท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อเตรียมเข้าปฏิบัติงาน โดยทางต้นสังกัดได้เรียกตัว พันจ่าเอก ไพโรจน์ ให้เข้ารายงานตัวแล้ว พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หาข้อเท็จจริงเพื่อลงโทษทางวินัยต่อไป

ล่าสุด พันจ่าเอก ไพโรจน์ ได้นำกระเช้าไปขอขมาเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่แล้ว ก่อนที่จะขึ้นเครื่องเดินทางกลับต้นสังกัด วานนี้ (27 ม.ค.)

รวมคำไม่ควรพูดในสนามบิน-บนเครื่องบิน

จากข่าวดังกล่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมคำที่ไม่ควรพูดในสนามบินและบนเครื่องบิน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เข้มงวด “ด้านการรักษาความปลอดภัย” เพราะฉะนั้น การสื่อสารโดยใช้คำพูด ข้อความ หรือการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด อันทำให้บุคคลใดก็ตามในสนามบินหรือในเครื่องบินตื่นตกใจ หรือเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของเครื่องบินที่อยู่ในระหว่างทำการบิน

โดยคำพูดหยอกล้อเหล่านี้ นอกจากจะทำให้เครื่องบินล่าช้าแล้ว อาจทำให้ถูกสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมายได้

ข้อมูลจากเว็บไซต์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แบ่งคำพูด 2 กลุ่ม ที่ไม่ควรพูดในบริเวณสนามบินและบนเครื่องบิน ดังนี้

คำพูดที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นตื่นตกใจ

  • ระเบิด (Bomb Explosive) เช่น มีระเบิด, เปิดกระเป๋า ระวังเจอระเบิด, จะระเบิดสนามบิน, จะระเบิดเครื่องบิน เป็นต้น
  • การก่อการร้าย  (Terrorist Attack) เช่นพูดว่า นี่คือการก่อการร้าย เป็นต้น
  • จี้เครื่องบิน, ปล้นเครื่องบิน (Hijack) เช่นพูดว่า นี่คือการจี้เครื่องบิน, Hijack เป็นต้น

คำพูด เขียนข้อความ หรือการกระทำอื่น ๆ ที่เจ้าหน้าที่พิจารณาว่าคุกคาม ข่มขู่หรือเป็นภัย เช่น 

  • พูดว่า “ตรวจได้แต่ ระวังเชื้ออีโบล่า”
  • ตะโกนว่า “เครื่องบินลำนี้กำลังจะตก”
  • เขียนว่า “ระเบิด” ไว้ที่กระจก
  • โยนกระเป๋าหรือสิ่งของภายในตัวอาคารใส่เจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้โดยสาร หรือผู้ใช้บริการแล้ววิ่งหนี

ฝ่าฝืนมีโทษ

ท่าอากาศยานไทยยังระบุด้วยว่า การแจ้งข้อความซึ่งเป็นเท็จ จนเป็นเหตุหรือน่าจะเป็นเหตุให้ผู้ที่อยู่ในท่าอากาศยานหรือในอากาศยานระหว่างการบิน ตื่นตกใจ ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่ออากาศยานในระหว่างการบิน ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 15 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 200,000 – 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ