ทอท. แจ้งผลดำเนินงานไตรมาส 1/65 ขาดทุนสุทธิ 4.2 พันล้านบาท

Photo by Markus Winkler from Pexels

ทอท. แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/65 ขาดทุนสุทธิ 4,271.66 ล้านบาท จำนวนเที่ยวบินรวม 73,342 เที่ยวบิน ลดลงร้อยละ 29.71 มีผู้โดยสารรวม 6.91 ล้านคน ลดลงร้อยละ 35.56 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ย้ำบอร์ดขยายมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจคู่ค้าทั้ง 6 สนามบินไปสิ้นสุด 31 มี.ค. 2566 ขยายเวลาการอนุญาตประกอบกิจการให้แก่ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ออกไปอีก 1 ปี

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT ได้แจ้งผลการดำเนินงานและการวิเคราะห์งบฯแสดงฐานะทางการเงินสำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (ไตรมาส 1/2565 ระหว่าง 1 ตุลาคม 2564-31 ธันวาคม 2564) ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT และบริษัทย่อยมีภาพรวมของผลการดำเนินงานด้านปริมาณการจราจรทางอากาศลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 ปริมาณการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.มีจำนวนเที่ยวบินรวม 73,342 เที่ยวบิน ลดลงร้อยละ 29.71 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 23,316 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 50,026 เที่ยวบิน

ส่วนจำนวนผู้โดยสารรวมมีทั้งหมด 6.91 ล้านคน ลดลงร้อยละ 35.56 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 0.86 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 6.05 ล้านคน โดยการลดลงส่วนใหญ่มาจากเที่ยวบินและผู้โดยสารภายในประเทศ

ทำให้ในไตรมาส 1/2565 (1 ตุลาคม 2564-31 ธันวาคม 2564) ทอท.มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 4,271.66 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานลดลง 829.68 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 3,441.98 ล้านบาท ในขณะที่รายได้รวมเพิ่มขึ้น 145.24 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 1,152.62 ล้านบาท และรายได้ภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 145.83 ล้านบาท สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่ลดลง

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังคงเกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แม้ในไตรมาสนี้ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง รวมทั้งได้เปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564 แล้วก็ตาม ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารในภาพรวมก็ยังไม่เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ภาครัฐได้มีมติเมื่อ 21 ธันวาคม 2564 ให้ปรับมาตรการสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย โดยระงับการลงทะเบียนชั่วคราวประเภท Test & Go เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ทอท.ได้ให้ความสำคัญในการให้บริการผู้โดยสารที่เดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ภายใต้มาตรการคัดกรองผู้โดยสารของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยมุ่งเน้นด้านการอำนวยความสะดวกที่รวดเร็ว ควบคู่กับความปลอดภัย พร้อมบริหารจัดการแบบองค์รวมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สอดคล้องกับหลักการ COVID-Free Setting และ Universal Prevention เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระดับสากล

ทอท.ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและสภาพคล่องในการดำเนินงานของผู้ประกอบการและสายการบินที่เป็นคู่ค้าของ ทอท. ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินงานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง โดย ทอท.ได้มีมาตรการช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินงานของ ทอท.มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของธุรกิจการบินและท่าอากาศยานยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการ ทอท.เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2564 ได้มีมติอนุมัติมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการของ ทอท. โดยได้ขยายระยะเวลามาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบิน จากเดิมสิ้นสุด 31 มีนาคม 2565 เป็นสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 รวมทั้งขยายระยะเวลาการอนุญาตประกอบกิจการให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ออกไปอีก 1 ปีนับจากวันสิ้นสุดการให้สิทธิประกอบกิจการเดิม


อย่างไรก็ตาม การขยายระยะเวลาข้างต้นจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ทอท.กำหนด รวมทั้งสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19