รีแบรนด์ “ไทยแลนด์อีลิท” ดึงต่างชาติลงทุน-ปลุกเศรษฐกิจ

ททท.เตรียมรีแบรนดิ้งบัตร “ไทยแลนด์ อีลิท” ให้เป็นมากกว่าสิทธิเรื่องวีซ่า เล็งเพิ่มบริการใหม่ โฟกัสกลุ่มรายได้สูง หวังเป็นกลไกช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-กระตุ้นรายได้ภาคการท่องเที่ยว ล่าสุดเปิดตัวโครงการ Flexible Plus Program ดึงชาวต่างชาติกลุ่มคุณภาพกำลังซื้อสูงเข้ามาลงทุนในไทยฟื้นเศรษฐกิจ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือไทยแลนด์ อีลิท เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับทราบผลการดำเนินงานของบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด สำหรับปี 2564 แล้วว่า บริษัทมีผลประกอบการมีกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ตนเข้ามาบริหาร ททท. (ปี 2558 ขาดทุนสะสมกว่า 1,000 ล้านบาท) โดยมีกำไรสุทธิ 238 ล้านบาท

โดยในจำนวนนี้บอร์ดมีมติให้กันเป็นทุนสำรองในสัดส่วน 10% หรือจำนวน 100 ล้านบาท ที่เหลืออีก 138 ล้านบาทจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น (ททท.ถือหุ้น 100%)

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า เชื่อว่าหลังจากนี้ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จะมีความมั่นคงมากขึ้น ททท.จึงมีแผนรีแบรนดิ้งใหม่ โดยทำให้บัตรไทยแลนด์ อีลิท เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเป็นมากกว่า “วีซ่า” ด้วยการเพิ่มบริการใหม่ ๆ ที่สอดรับกับความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น

“เป้าหมายปีนี้เราน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จำนวน 5-10 ล้านคน และเพิ่มเป็น 20 ล้านคนในปี 2566 หรือมีนักท่องเที่ยวประมาณ 50% ของปี 2562 แต่มีรายได้ประมาณ 80% ของปี 2562 ดังนั้น ททท.จะให้ความสำคัญในการทำการตลาดแบบเซ็กเมนต์ให้ชัดเจนขึ้น” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัวโครงการ Flexible Plus Program ให้สิทธิในการทำงานแก่ผู้ถือบัตรสมาชิกพิเศษ Thailand Privilege Card เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนชาวต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564

โดยนักลงทุนต่างชาติที่สามารถเข้าร่วมโครงการ Flexible Plus Program ได้แก่ สมาชิก Thailand Privilege Card ที่มีอายุบัตรตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สำหรับสมาชิกเดิมต้องมีอายุสมาชิกบัตรคงเหลือไม่ต่ำกว่า 5 ปี ประเภทของบัตรต้องมีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป

ทั้งนี้ ต้องมีมูลค่าการลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ภายในเวลา 1 ปี หลังจากแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ หรือนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกบัตร โดยมีการลงทุนในประเทศไทยภายใต้ 3 ประเภทที่กำหนด คือ 1.การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ตามสิทธิที่ชาวต่างชาติพึงได้รับ 2.การลงทุนในบริษัทจำกัดและบริษัทจำกัดมหาชน และ 3.การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์


“โครงการนี้จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจ สร้างบรรยากาศการลงทุนตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้กลุ่มชาวต่างชาติและผู้ติดตามที่เข้ามาลงทุนยังมีการใช้จ่ายด้านอื่น ๆ อันเป็นผลประโยชน์ทางอ้อม ซึ่งจะช่วยส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม” นายยุทธศักดิ์กล่าว