“เซ็นทารา” ชี้ท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว ทุ่มงบฯเพิ่มโรงแรมใหม่ปีละ 20 แห่ง

นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ กรรมการบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
สัมภาษณ์

แม้ว่าปี 2565 นี้ธุรกิจโรงแรมยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เชื่อกันว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงน้อยกว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากทุกคนปรับตัวใช้ชีวิตตามวิถีใหม่ได้แล้ว และมาตรการของรัฐที่ผ่อนคลายมากขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทารา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ผู้บริหารโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทาราถึงทิศทางการดำเนินงานสำหรับปีนี้ รวมถึงแผนระยะ 5 ปี ไว้ดังนี้

ภาพธุรกิจมีแนวโน้มดีขึ้นชัดเจน

“ธีระยุทธ” บอกว่า แม้ว่าในภาพรวมของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะยังดูรุนแรงต่อเนื่อง แต่ภาพรวมของธุรกิจโรงแรมเริ่มมีสัญญาณที่คลี่คลายขึ้น โดยประเมินว่าในไตรมาส 1/2565 นี้น่าจะมีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น และทำได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้

โดยในส่วนของกลุ่มเซ็นทารานั้น ที่ผ่านมาโรงแรมที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้หลักคือ โรงแรมในต่างประเทศ ทั้งที่มัลดีฟส์และดูไบ (UAE) เนื่องจากโรงแรมที่มัลดีฟส์ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่กลางปี 2564 ขณะที่ดูไบเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงพีกของธุรกิจพอดี

ส่วนในประเทศไทยนั้นพบว่า ขณะนี้โรงแรมทุกแห่งเริ่มมีอัตราการเข้าพักที่ดีขึ้น โดยเฉพาะที่ภูเก็ต โดยเดือนมกราคมที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 60% และลดลงเล็กน้อยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากรัฐบาลยกเลิกนโยบาย Test & Go เป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

5 ปีเปิดโรงแรมเพิ่ม 100 แห่ง

“ธีระยุทธ” บอกอีกว่า ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการลงทุนในระยะยาว และเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะกลับมาในอีก 3 ปีข้างหน้า ที่สำคัญในหลาย ๆ พื้นที่ยังมีศักยภาพในการลงทุนสูง

โดยในส่วนของกลุ่มเซ็นทารานั้นยังคงวางแผนการขยายการเติบโตไว้ 2 แนวทางเหมือนเดิม คือ ลงทุนเอง และรับบริหาร ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีนี้จะมีโรงแรมใหม่ในเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีกราว 100 แห่ง หรือเฉลี่ยประมาณ 20 แห่งต่อปี แบ่งเป็นตลาดในประเทศและต่างประเทศในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

“ปัจจุบันเรามีโรงแรมในเครือข่ายรวม 85 แห่ง รวมกว่า 17,400 ห้อง เปิดบริการแล้ว 46 แห่ง ประมาณ 9,400 ห้อง และอยู่ในแผนการพัฒนา 39 แห่ง รวมกว่า 8,000 ห้อง และตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าเราน่าจะมีโรงแรมในเครือข่ายรวมที่ประมาณ 200 แห่ง”

ทั้งนี้ ตลาดที่อยู่ในแผนขยายการเติบโตคือ ภูมิภาคอาเซียน ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น และมัลดีฟส์ โดยตลาดอเซียนจะโฟกัสที่เวียดนาม ส่วนภูมิภาคตะวันออกกลาง ยังโฟกัสที่ดูไบ, ซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ญี่ปุ่นขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่โอซากา คาดว่าจะสามารถเปิดได้ในช่วงกลางปี 2566

ด้านมัลดีฟส์ที่เดิมเปิดให้บริการอยู่แล้ว 2 แห่ง ปัจจุบันได้ลงทุนถมทะเลไว้จำนวน 3 เกาะ โดยคาดว่าจะเริ่มพัฒนาได้ 1 แห่งภายในปีนี้ เช่นเดียวกับดูไบที่มีแผนลงทุนเพิ่มอีกในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มนักลงทุนจีนอีก 3 บริษัท โดยทั้ง 3 กลุ่มมีแผนจะพัฒนาโครงการร่วมกันในอนาคต

ลงทุนปีละกว่า 3 พันล้านบาท

สำหรับในประเทศไทยนั้น “ธีระยุทธ” บอกว่า ตลาดในประเทศยังคงเป็นไพรออริตี้แรก เนื่องจากปัจจุบันตลาดในประเทศขับเคลื่อนรายได้อยู่ในสัดส่วนถึงประมาณ 80% การลงทุนภายในประเทศจึงยังคงมีความจำเป็น

ทั้งนี้ บริษัทได้วางงบประมาณลงทุนไว้ปีละกว่า 3,000 ล้านบาท โดยปีนี้คาดว่าน่าจะใช้ประมาณ 3,400 ล้านบาทแบ่งเป็นลงทุนในธุรกิจโรงแรมประมาณ 2,000 ล้านบาท และธุรกิจอาหารประมาณ 1,300 ล้านบาท

อาทิ ลงทุนรีโนเวตใหญ่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ กระบี่ ให้เป็นแบรนด์ “เซ็นทารา รีเซิร์ฟ” และรีโนเวตเซ็นทารา กะรน ภูเก็ต รวมประมาณ 1,000 ล้านบาท ลงทุนในมัลดีฟส์ ประมาณ 1,000 ล้านบาท ลงทุนที่โฮซากา ประมาณ 200-300 ล้านบาท เป็นต้น

และยังมีแผนลงทุนต่อเนื่องอีก 3,400 ล้านบาทในปี 2566 และ 3,600 ล้านบาทในปี 2567

“มีแผนจะพัฒนาแบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ อีก 7-9 แห่ง หลังจากที่สมุยได้รับการตอบรับที่ดี เช่น ลงทุนพัฒนาโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ กระบี่ เป็นเซ็นทารา รีเซิร์ฟ แห่งที่ 2 คาดว่าจะเปิดให้บริการในอีก 2 ปีข้างหน้า”

มั่นใจอีก 3 ปีธุรกิจฟื้นสู่ปกติ

“ธีระยุทธ” บอกด้วยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งในส่วนของธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร โรงแรมปิดตัวเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับกลุ่มเซ็นทาราที่มีการให้บริการโรงแรมบางส่วน กระทั่งวันนี้ก็ยังเหลืออีก 2 แห่งที่ภูเก็ตที่ยังไม่เปิดให้บริการ ซึ่งคาดว่าจะเปิดเมษายนนี้

และจนถึงขณะนี้ผลกระทบก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามปริมาณคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นมากแล้ว

ทั้งนี้ เดิมทีเดียว สำนักวิจัยหลายแห่งต่างคาดว่าหากไม่มีตัวแปรซึ่งเป็นปัจจัยลบใหม่ ๆ ขึ้นมาอีก สถานการณ์โดยรวมน่าจะฟื้นกลับสู่ปกติ หรือใกล้เคียงกับปี 2562 ได้อีกครั้งในช่วงประมาณปี 2024 หรือ 2567

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ ทำให้คาดว่าสถานการณ์โดยรวมน่าจะพลิกฟื้นได้ช้าว่าคาดการณ์เดิมไปอีกราว 1 ปี หรือน่าจะกลับมาได้ใกล้เคียงกับปี 2562 ได้ในช่วงประมาณปี 2568 หรือในอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า

“ยอมรับว่าสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นขณะนี้ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว
ตลาดรัสเซีย แต่คิดเป็นสัดส่วนไม่มากนัก เนื่องจากรัสเซียเริ่มเข้ามาตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา และเริ่มลดลง
ในเดือนมีนาคมนี้ซึ่งเป็นไปตามซีซันนิ่งการท่องเที่ยวของตลาดรัสเซีย”

พร้อมบอกด้วยว่า สำหรับเซ็นทารา ภูเก็ตนั้นที่ผ่านมากลุ่มนักท่องเที่ยวหลักคือ อินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนถึงประมาณ 50% ขณะที่รัสเซียมีสัดส่วนราว 10-15% เท่านั้น

ดึงอินเดีย-ออสเตรเลีย-ยุโรปเสริม

“ธีระยุทธ” บอกอีกว่า จากแนวโน้มของตลาดนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ปรับตัวลดลงนี้ ทำให้ในช่วงไตรมาส 2/2565 นี้กลุ่มเซ็นทารามีแผนที่จะโฟกัสตลาดอินเดีย ออสเตรเลีย และยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ผ่อนคลายนโยบายการเดินทางเข้า-ออกประเทศแล้วเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ได้

โดยในปี 2565 นี้บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ประมาณ 5,900 ล้านบาท (รวมดูไบ) หรือประมาณ 70% ของปี 2562 (ปีก่อนวิกฤตโควิด) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าพอใจ และมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ 40-50% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 19%

“ไม่เพียงแต่โรงแรมประเทศไทยเท่านั้นที่เราคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น โรงแรมที่มัลดีฟส์และดูไบก็เป็นตลาดที่น่าศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะที่มัลดีฟส์ที่พบว่าขณะนี้บางวันมีอัตราการเข้าพักสูงถึง 100% แล้ว”

นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าจีนน่าจะกลับมา ซึ่งหากจีนทยอยเปิดประเทศตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 ก็จะทำให้ดีมานด์ที่รออยู่ทะลักเข้ามาในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้