เร่งบินไทยเซ็นสัญญาแอร์บัส “สมคิด” ดันศูนย์ซ่อมอู่ตะเภาเบอร์ 1โลก

“สมคิด” เร่งไทม์ไลน์ “การบินไทย” เซ็นสัญญาร่วมทุน “แอร์บัส” ผุดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาเร็วขึ้น เป็นไตรมาส 1 ปี 2561 ช่วง “บิ๊กตู่” เยือนฝรั่งเศส คาดมูลค่างบฯลงทุนรวมของทั้งโครงการอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท วางเป้าให้เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานอันดับ 1 ของโลก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวในฐานะเป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาความร่วมมือเพื่อประเมินโอกาสทางธุรกิจของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอร์บัสว่า ตั้งเป้าให้ทั้ง 2 บริษัทเซ็นร่วมลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานฯเร็วขึ้น เป็นภายในไตรมาส 1 ปี 2561 โดยขณะนี้ได้เจรจากับสายการบินพันธมิตรให้เข้ามาเป็นลูกค้าหลักแล้ว เช่น ลุฟต์ฮันซ่า, เวียตเจ็ทและอีกสายการบินในประเทศจีน ซึ่งเป็นสายการบินที่มีขนาดฝูงบินใหญ่

“การที่สหภาพยุโรปได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศไทย ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะร่วมลงทุนกับบริษัทจากประเทศฝรั่งเศส โดยใช้โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมเดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศส ในต้นปี 2561 พาการบินไทยไปลงนามเซ็นสัญญาร่วมทุนกับแอร์บัส ที่เมืองตูลูสด้วย”

ขณะที่เรืออากาศโท รณชัย วงศ์ชะอุ่ม ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า หลังการบินไทยและแอร์บัสได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อประเมินความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงฯเมื่อ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนที่มีกรอบความเป็นไปได้

คาดมูลค่างบฯลงทุนรวมของทั้งโครงการอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 7 พันล้านบาท ให้กองทัพเรือ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นคนลงทุนสิ่งปลูกสร้างและงานโยธา และส่วนที่สอง 4 พันล้านบาทการบินไทยและแอร์บัสจะร่วมทุนกันฝ่ายละ 50% หรือ 2,000 ล้านบาท

โครงการนี้จะเริ่มดำเนินงานในปี 2562 และใช้เวลา 2 ปีในการพัฒนา สามารถเปิดให้บริการได้ทันในปี 2564 ตามนโยบายของนายสมคิด รองนายกฯ ที่ต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้นเร็วที่สุด จากเดิมคาดเปิดให้บริการในปี 2565 ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวใช้เวลาคืนทุน 11 ปี มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ย 13%

“พร้อมกันนี้ยังเตรียมนำผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเห็น จากนั้นจะได้จัดส่งให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 และนำเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป พร้อมตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานอันดับ 1 ของโลก”

นายฌอง ฟรองซัวร์ ลาวาล รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกิจการลูกค้าประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท แอร์บัส เปิดเผยว่า แอร์บัสได้คาดการณ์ว่า ฝูงบินที่ให้บริการในเอเชียและแปซิฟิกจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นกว่า 2 เท่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า จากจำนวนราว 6,100 ลำ เป็นกว่า 17,000 ลำ ซึ่งแอร์บัสประมาณการว่ามูลค่าของภาคส่วนการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคนี้อย่างเดียว จะมีมูลค่าราว 6.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 10 ปีข้างหน้า