ศรันย์ เย็นปัญญา: บอกเล่าประวัติศาสตร์ ผ่านการออกแบบ บ้านพระพิทักษ์ชินประชา

บ้านพระพิทักษ์ชินประชา

เปิดมุมมอง “ศรันย์ เย็นปัญญา” ผู้ออกแบบภายใน “บ้านพระพิทักษ์ชินประชา” เพื่อให้พร้อมต้อนรับชาวโลกอีกครั้งในรอบ 50 ปี บนพื้นฐานของการเคารพประวัติศาสตร์ และการบอกเล่าอย่างร่วมสมัย

เมื่อไม่นานมานี้ Airbnb ได้เปิดตัวแคมเปญ Only On Airbnb ครั้งแรกในประเทศไทย โดยเปิดที่พักสุดเอ็กซ์คลูซีฟ “บ้านพระพิทักษ์ชินประชา” คฤหาสน์หลังใหญ่สถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสของจังหวัดภูเก็ต ให้จองบนแพลตฟอร์ม Airbnb ซึ่งเรียกความสนใจ จากนักเดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ศรัณย์ เย็นปัญญา
ศรัณย์ เย็นปัญญา

ประชาชาติธุรกิจ ร่วมพูดคุยกับ “ศรัณย์ เย็นปัญญา” ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ที่ดำรงตำแหน่ง Creative Director และผู้ก่อตั้ง 56thStudio ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังงานออกแบบภายในและตกแต่ง “บ้านพระพิทักษ์ชินประชา” เพื่อให้พร้อมต้อนรับแขกที่จะมาพักแรม ณ คฤหาสน์หลังนี้ ครั้งแรกในรอบ 50 ปี

“ศรันย์” เล่าว่า โจทย์ที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดในการออกแบบ “บ้านพระพิทักษ์ชินประชา” คือ “ความเคารพต่อสถานที่” เนื่องจากคฤหาสน์อายุ 119 ปีหลังนี้ ดำรงไว้ซึ่งคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันประเมินค่าไม่ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน “ศรันย์” ต้องการนำเสนอคฤหาสน์ในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสการนำเสนอในแบบที่แตกต่างออกไป

“บ้านหลังนี้คือแหล่งกำเนิดสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส ในจังหวัดภูเก็ต โจทย์ในการออกแบบของเราอีกประการหนึ่ง คือ ทำอย่างไรให้คนที่เคยเห็นบ้านหลังนี้มาแล้ว รู้สึกถึงความใหม่มากขึ้น” ศรันย์ เล่าถึงไอเดียในการออกแบบของเขา

การเปิดบ้านพระพิทักษ์ชินประชาให้ผู้มาเยือนได้เข้าพักครั้งนี้ ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์ม Airbnb “ศรันย์” จึงเลือกนำเสนอ คฤหาสน์ร่วมสมัยรัชกาลที่ 5 หลังนี้ผ่านแนวคิด “ความเป็นไทยที่อินเตอร์” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ ถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ความรุ่งเรือง และความละเมียดละไมของสังคมไทยเมื่อในอดีต

“ศรันย์” บอกกับเราว่า ตลอดการออกแบบบ้านพระพิทักษ์ชินประชา ทีมงานคำนึงถึงประสบการณ์ที่ผู้มาเยือนจะได้รับในทุกช่วงเวลาที่เข้าพัก อันจะได้รับการซึมซับกับกลิ่นอายทางวัฒนธรรมไทย ที่แฝงอยู่ในทุกอณูการออกแบบ-จัดวาง เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นที่ถูกคัดสรร ผ่านการจัดวางในรูปแบบใหม่ และตัวเขาเองรู้สึกภูมิใจที่ได้นำเสนอความเป็นไทยในแบบที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน

“หัวใจหลักของสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส คือ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก เราจึงออกแบบโดยพยายามรักษาเรื่องราวดังกล่าวเอาไว้ ผลงานจากดีไซเนอร์ หรือชิ้นที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ล้วนมีการผสมผสานกลิ่นอายของโลกตะวันตกและโลกตะวันออกเข้าด้วยกัน” ศรันย์ บอกเล่าความเป็นมาของเฟอร์นิเจอร์ในคฤหาสน์แห่งนี้

“ศรันย์” ได้เลือกสรรผลงานชิ้นสำคัญของนักออกแบบไทยหลายคน เพื่อตกแต่งพื้นที่ชั้นที่สองของคฤหาสน์ อาทิ โยธกา (Yothaka), ฆิต-ตา-โขน, Masaya, สัมผัสแกลเลอรี่, Thaniya, และโม จิรชัยสกุล ผสมผสานกับเฟอร์นิเจอร์ที่มีอายุร่วมร้อยปีจากท้องถิ่น เพื่อสร้างความตระหนักและรำลึกถึงยุคสมัยที่รุ่งเรือง

“ผมให้คำจำกัดความการออกแบบครั้งนี้ คือ ‘จดหมายรักจากภูเก็ต’ ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของความรักที่มีต่อคฤหาสน์หลังนี้มานานนับศตวรรษ เฟอร์นิเจอร์ที่นำมาตกแต่ง ต่างเต็มไปด้วยความรักของผู้สะสม ให้กลิ่นอายความเป็นไทยอันรุ่มรวย ละเมียดละไมที่สื่อสารผ่านชิ้นงาน และตัวผมเองก็ได้ลงมือทำโปรเจ็กต์ด้วยความรักเช่นเดียวกัน” ศรันย์ อธิบายถึงคอนเซ็ปต์การออกแบบคฤหาสน์หลังนี้

ศรันย์กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนอยากเชิญชวนทุกคนร่วมซึบซับประวัติศาสตร์ผ่านสถานที่ที่มีมนต์ขลังแห่งนี้ เพราะนี่ถือเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต การเข้าพัก ณ บ้านพระพิทักษ์ชินประชา เปรียบเหมือนได้มาเยือน ‘The Heart of Phuket’ ทั้งในด้านสถานที่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และในด้านการเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของเมืองภูเก็ต