“บินไทย” รุกตลาดยุโรป ชูจุดขาย “บินตรง” รับท่องเที่ยวโต

ในรอบปี 2559 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้จากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรวม 2.51 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.64 ล้านล้านบาท

และในจำนวน 1.6 ล้านล้านบาท ของรายได้จากตลาดต่างประเทศนี้ พบว่าตลาดระยะไกลถึงไกลมาก มีอัตราการเติบโตได้ทุกตลาด อาทิ ตลาดยุโรป 437,815 ล้านบาท เติบโต 10.77% อเมริกา 99,887 ล้านบาท เติบโต 22.39% ตะวันออกกลาง 62,478 ล้านบาท เติบโต 21.60% แอฟริกา 11,932 ล้านบาท เติบโต 10.39% เป็นต้น

แอร์ไลน์ตะวันออกกลางบุกหนัก

จากแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องของตลาดระยะไกล ทำให้สายการบินต่าง ๆ ทั้งพรีเมี่ยมและโลว์คอสต์ระยะไกลแข่งขันกันอย่างรุนแรงและต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และมีสายการบินต่างชาติเข้ามาบุกเปิดเส้นทางการบินเข้าสู่ประเทศไทย รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกันเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะสายการบินจากโซนตะวันออกกลางที่อาศัยความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนราคาน้ำมัน เข้ามาเปิดศึกและกวาดส่วนแบ่งตลาดกันอย่างสนุกสนานในเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นเอทิฮัด เอมิเรตส์ ฟลายดูไบ (โลว์คอสต์) กาตาร์ แอร์เวย์ส ซึ่งสายการบินเหล่านี้ได้ทำเอ็มโอยูร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อพัฒนาตลาดท่องเที่ยวในโซนยุโรป อเมริกา ฯลฯ โดยเปิดเส้นทางทั้งบินเข้ากรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ ฯลฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา

ขณะที่ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติของประเทศไทยนั้นยังอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ และมีความจำเป็นต้องตัดลดเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไรออกไปบางส่วนเมื่อปี 2558 เพื่อหยุดภาวะการขาดทุนให้ได้เร็วที่สุด อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-ลอสแองเจลิส (แวะกรุงโซล) เส้นทางกรุงเทพฯ-มาดริด(สเปน) เส้นทางกรุงเทพฯ-โรม (อิตาลี) กรุงเทพฯ-มอสโก (รัสเซีย)

ส่งผลให้การบินไทยมีเส้นทางบินตรงไปยังเดสติเนชั่นระยะไกลอย่างยุโรปน้อยลง และไม่มีเส้นทางบินตรงเข้าสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป

“บินไทย” หวนเปิดตลาดยุโรป

อย่างไรก็ตาม หลังจาก “การบินไทย” เริ่มแข็งแรง เลือดหยุดไหล ทางบอร์ดบริหารจึงได้กลับมาทบทวนแผนเปิดเส้นทางใหม่กันอีกครั้งในตารางบินประจำฤดูหนาว 2559-2560 เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการสำรองที่นั่ง และรองรับการเดินทางของผู้โดยสาร รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงในภูมิภาคต่าง ๆ

อาทิ เปิดเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-กรุงเตหะราน (อิหร่าน) 1 ตุลาคม 2559 เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต-แฟรงก์เฟิร์ต 16 พฤศจิกายน 2559 เปิดเส้นทางบินตรง กรุงเทพฯ-มอสโก ไปเมื่อ 15 ธันวาคม 2559 เป็นต้น

พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ-โคเปนเฮเกน-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ เส้นทางกรุงเทพฯ-สตอกโฮล์ม-ภูเก็ต-กรุงเทพฯ เส้นทางกรุงเทพฯ-ลอนดอน เส้นทางกรุงเทพฯ-ออสโล (นอร์เวย์) เส้นทางกรุงเทพฯ-บรัสเซลส์ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เริ่มทยอยเพิ่มความถี่มาตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา

เจษฎา จันเทรมะ

ยุโรปแข่งขันสูง-ปัจจัยลบตรึม

ล่าสุด “เจษฎา จันเทรมะ” ผู้อำนวยการฝ่ายขาย-ยุโรป บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ตลาดการบินในภูมิภาคยุโรปในขณะนี้ว่า ยอมรับว่าตลาดนี้มีการแข่งขันกันสูงมาก แต่โดยรวมแล้วแนวโน้มนักเดินทางท่องเที่ยวจากโซนยุโรปที่ไปเมืองไทยยังเป็นบวกอยู่

สำหรับการบินไทยนั้น หากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาก็ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีการปรับค่าธรรมเนียมน้ำมัน (ฟิวเซอร์ชาร์จ) ทำให้สามารถทำราคาขายได้ดีกว่าปีที่แล้ว ขณะที่ตัวเลขผู้โดยสารเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา มีตัวแปรต่าง ๆ ที่มีผลกระทบเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ตัวเลขรายได้ยังไม่เข้าเป้าเท่าที่ควร ซึ่งก็ต้องมาปรับเป้าเพิ่มขึ้นในส่วนของ 6 เดือนหลัง

ส่วนหนึ่งคือต้องปรับราคาตั๋วเพิ่มขึ้นด้วย เพราะหากเทียบราคาตั๋วรวมกับค่าธรรมเนียมน้ำมันแล้ว ราคาสำหรับปีนี้ยังถือว่าต่ำกว่าปีที่ผ่านมา “การบินไทย” จึงประกาศปรับเพิ่มราคาตั๋วอีก 3% เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ชูจุดขาย “บินตรง-น็อนสต็อป”

สำหรับตลาดนักนักท่องเที่ยวยุโรปที่มาเที่ยวเมืองไทยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมานั้นพบว่า เพิ่มขึ้น 7% ซึ่งถือว่าเยอะมาก โดยตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงมากคือ รัสเซีย ที่ขยายตัวเกือบ 20% รองลงมาคือ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส

“ถึงแม้ว่าจะมีข่าวเรื่องก่อการร้ายบ้าง แต่คนยุโรปเขายังเดินทางปกติ ไม่ได้น้อยลง ส่วนตัวแปรเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง อาจมีผลกระทบบ้างในแง่ของกำลังซื้อ”

“เจษฎา” บอกอีกว่า สำหรับปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการการบินไทยเพิ่มมากขึ้นนั้น น่าจะเป็นเรื่องราคามากกว่า เพราะที่ผ่านมาการบินไทยสามารถทำราคาสู้กับสายการบินอื่นได้ดีขึ้น ที่สำคัญยังมีความได้เปรียบในเรื่องของการให้บริการแบบบินตรงน็อนสต็อป และราคาก็ไม่ได้แพงกว่าสายการบินอื่นมากนัก ขณะที่สายการบินอื่นในมิดเดิลอีสต์ยังต้องแวะพักอยู่

“หลังจากที่เราพยายามทำราคาเกาะกับคู่แข่งขัน ซึ่งอาจสูงกว่าเขานิดหน่อย แต่ไม่ได้สูงขาดลอย ทำให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดี และที่ผ่านมาเราพยายามขายเซ็กเมนต์ที่เป็นคอร์ปอเรตมากขึ้น และคาดว่าถึงไตรมาส 4 นี้ ทำรายได้เราน่าจะเป็นไปตามเป้า หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20%”

จ่อเปิดบินตรง “เวียนนา” พ.ย.นี้

สำหรับเส้นทางบินในภูมิภาคยุโรปนั้น “การบินไทย” ได้นำเครื่องบินใหม่ ๆ เข้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจาก A380 แล้ว ยังมีโบอิ้ง 777 และยังมี A350 ซึ่งขณะนี้ให้บินที่โรม มิลาน และแฟรงก์เฟิร์ต และกำลังจะขยายไปที่บรัสเซลส์ และลอนดอน

โดยในส่วนของเส้นทางกรุงเทพฯ-บรัสเซลส์นั้น ล่าสุดได้เพิ่มความถี่จาก 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์แล้ว เนื่องจากมีผู้โดยสารชาวเบลเยียมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว

นอกจากนี้ “การบินไทย” ยังมีแผนเปิดเส้นทางใหม่บินตรงกรุงเทพฯ-เวียนนา (ออสเตรีย) ในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งบอร์ดบริหารเพิ่งอนุมัติไปหมาด ๆ

นับเป็นการกลับมาทำการตลาดเชิงรุก และลงทุนเพื่อเปิดเส้นทางใหม่ของ “การบินไทย” อีกครั้งหนึ่ง

 

ไทยสมายล์ สปีดรายได้ตลาด ตปท.

“วิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์” รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์ กล่าวว่า ในปี 2560 นี้ไทยสมายล์จะมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบินมากขึ้น ด้วยการเพิ่มจุดบินใหม่และเพิ่มความถี่การบินทั้งเส้นทางต่างประเทศและในประเทศ

โดยตั้งเป้าใช้เครื่องบินเพิ่มจาก 9 ชั่วโมง เป็น 10 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน โดยปัจจุบันมีจำนวนฝูงบินรวม 20 ลำ เป็นเครื่องบินแอร์บัส A320 ซึ่งลำที่ 20 เพิ่งรับมอบไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

“เราคาดว่าจะคงฝูงบินไว้ที่จำนวนนี้ราว 2-3 ปี ก่อนที่บริษัทแม่อย่างการบินไทยจะจัดหาเครื่องบินให้ในอนาคต”

โดยแผนเพิ่มการบินในเส้นทางต่างประเทศจะมีส่วนสำคัญอย่างมาก ซึ่งเตรียมเปิดเส้นทางใหม่ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-เกาสง ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับ 2 ของไต้หวัน เริ่มบิน 1 ตุลาคมนี้ ที่ความถี่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเตรียมเปิดไปจุดบินใหม่ในประเทศจีนอีก 2 เมือง เดือนธันวาคมนี้

นอกจากนี้ ยังเพิ่มความถี่เส้นทางบินที่มีอยู่แล้วในประเทศจีนด้วย ได้แก่ ฉงชิ่ง เพิ่มจาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, ฉางชา เพิ่มจาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, เจิ้งโจว เพิ่มจาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มมีผลวันที่ 1 ตุลาคมนี้เพื่อต้อนรับวันชาติของจีน

สำหรับตลาดอินเดียจะเพิ่มเส้นทางบินไปชัยปุระ จาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และลัคเนา จาก 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยจะเริ่มในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ซึ่งจะเข้าสู่ตารางบินฤดูหนาว

ขณะที่เส้นทางในประเทศนั้นได้เตรียมเพิ่มความถี่เที่ยวบิน โดยเฉพาะอีสาน อย่างอุบลราชธานีและอุดรธานี

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (เคบินแฟกเตอร์) ของไทยสมายล์ปีนี้ จะอยู่ที่ราว 90% โดยปัจจุบันเส้นทางในจีนมีเคบินแฟกเตอร์ดีมาก เกือบเต็ม 100% ส่วนเส้นทางในประเทศก็อยู่ในเกณฑ์สูง โดยค่าเฉลี่ยเคบินแฟกเตอร์ของเราในภาพรวม วางเป้าทำให้ได้ 90%

อย่างไรก็ตาม “ไทยสมายล์” ยังคงตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากเส้นทางต่างประเทศปีนี้ เพิ่มเป็น 50% จาก 30% ในปีก่อน ขณะที่รายได้จากเส้นทางในประเทศปรับลดลงเหลือ 50% จาก 70% ในปีที่แล้ว

 

ไทยไลอ้อนแอร์ ลุยปักธง “ฮับอู่ตะเภา” 

“อัศวิน ยังกีรติวร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันไทยไลอ้อนแอร์มีส่วนแบ่งในตลาดสายการบินโลว์คอสต์เส้นทางในประเทศมากเป็นอันดับที่ 2 แซงสายการบิน “นกแอร์” แล้ว เป็นรองเพียง “ไทยแอร์เอเชีย” เท่านั้น

ด้านแผนการขยายเส้นทางบินใหม่ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ “อัศวิน” บอกว่า จะมุ่งเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศเป็นหลัก โดยวางเป้าเปิดเส้นทางสู่ “อินเดีย” 2 เส้นทาง คือ ดอนเมือง-โคชิ และดอนเมือง-มุมไบ ในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดบินไป “ไต้หวัน” เส้นทางดอนเมือง-ไทเป ในเดือนตุลาคมเช่นกัน

ขณะที่เส้นทางบินสู่ “ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-ฮ่องกง” ยังต้องรอองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ปลดธงแดงประเทศไทยก่อน ซึ่งทั้ง 3 เส้นทางล้วนเป็นเส้นทางที่เรารอเปิดให้บริการอยู่แล้ว

“ผลประกอบการปีนี้ ตอนแรกคาดว่าน่าจะมีกำไรได้เป็นปีแรก นับตั้งแต่เปิดให้บริการมาเป็นปีที่ 4 แต่ตอนนี้ชักไม่แน่ใจ เพราะรับมอบเครื่องบินใหม่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยจนถึงสิ้นปีนี้ เราจะยังคงมีฝูงบินที่ 27 ลำ จากเป้าที่วางไว้ 30 ลำ ประกอบกับสถานการณ์แข่งขันของสายการบินโลว์คอสต์ยังคงรุนแรง”

ทั้งนี้ คาดว่าตลอดปี 2560 ไทยไลอ้อนแอร์จะมีอัตราการเติบโตของจำนวนผู้โดยสาร 10% เมื่อเทียบกับยอดปีที่แล้วซึ่งปิดไป 7.5 ล้านคน จากแผนงานขยายตลาดจีนอย่างมากในปีนี้ จนปัจจุบันบินเข้าสู่ 14 เมืองแล้ว ส่วนอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 90%

สำหรับในปี 2561 นั้น “ไทยไลอ้อนแอร์” ตั้งใจรับเครื่องบินใหม่เพิ่มอีก 10 ลำ เพื่อโปรโมตสนามบิน “อู่ตะเภา” ขึ้นเป็นศูนย์ปฏิบัติการทางการบิน (ฮับ) แห่งที่ 2 ต่อจากสนามบินดอนเมือง เพื่อรุกขยายฐานตลาด “นักท่องเที่ยวจีน” เป็นหลัก ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง รวมถึง “อินเดีย” ด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังต้องดูว่าจะขยายได้เต็มที่ตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะยังติดเรื่องการขอตารางบินจากสนามบินในจีนด้วย