แนะ “ธุรกิจไมซ์” ผสาน Soft & Hard Power รับโลกยุคใหม่

ธุรกิจไมซ์ หรือ MICE (meeting, incentive, convention และ exhibition) เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับมากขึ้นในฐานะกลไกสําคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตสูง และมีความสําคัญต่อการสร้างรายได้และการจ้างงานในประเทศ

โดยในปี 2562 (ก่อนวิกฤตโควิด) สร้างรายได้ได้ถึงกว่า 2 แสนล้านบาท

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บและพันธมิตรด้านไมซ์ ได้ร่วมกันสะท้อนมุมมองในงานเสวนาพิเศษ “New Chapter of Thailand MICE” ก้าวใหม่ไมซ์ประเทศไทย ไว้ดังนี้

“จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ให้ข้อมูลว่า หลังการผ่อนคลายการเข้าประเทศเมื่อ 1 พฤษภาคม 2565 คาดการณ์ว่าจะมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เข้ามามากขึ้น

โดยมองว่าความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19 เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยสู่อนาคต

จากการศึกษางานวิจัยในต่างประเทศพบว่า สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังแบ่งได้เป็น 5 รูปแบบ คือ 1.Phygital (physical+digital) ความต้องการเชื่อมโยงการจัดงาน ณ สถานที่จริงและออนไลน์ทั้ง 2 รูปแบบเข้าด้วยกัน

2.A Safe Space ความคาดหวังด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยที่สูงขึ้นตลอดการเข้าร่วมงาน เพราะถึงแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แต่ผู้คนก็ยังคงกังวลกับการกลับมาแพร่ระบาดของโรค 3.Embedded Wellness ความคาดหวังให้ผู้ประกอบการใส่ใจและตระหนักถึงสุขภาพกายและใจของผู้เข้าร่วมงานเป็นหลัก

4.Omnibility ความคาดหวังถึงความเสมอภาค โดยผู้ประกอบการควรต้องออกแบบด้วยแนวคิดอารยสถาปัตย์ และ 5.Brand Butlers ความคาดหวังที่จะได้รับประสบการณ์ที่ตรงใจและดียิ่งขึ้น

“สิ่งเหล่านี้เป็นเทรนด์ของอนาคตที่อุตสาหกรรมไมซ์จะต้องให้ความสำคัญ และเร่งพัฒนาให้เกิดขึ้น โดยในต่างประเทศเริ่มมีแอปพลิเคชั่นใหม่ที่มาช่วยบริหารจัดการแล้ว ฯลฯ ส่วนในประเทศไทยก็เริ่มพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้เช่นกัน”

ด้าน “ธานี แสงรัตน์” อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า ไมซ์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ สำหรับปีนี้ APEC เป็นงานประชุมใหญ่ครั้งแรกหลังจากช่วงโควิดเริ่มคลี่คลาย และเชื่อว่างานนี้จะทำให้ประเทศไทยขึ้นไปอยู่บนแผนที่โลก และเข้ามาอยู่บนจอเรดาร์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะมีการประชุมมากกว่า 60 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 20,000 คน

พร้อมย้ำว่า การเป็นเจ้าภาพงานประชุม APEC ของไทย นอกจากจะมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนภูมิภาค APEC สร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในยุคหลังโควิด-19 แล้วยังเป็นการสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจในการเดินทางมาประเทศไทยด้วย

ขณะที่ “ดลชัย บุณยะรัตเวช” ผู้เชี่ยวชาญการสร้างแบรนด์ และผู้วางแผนภาพลักษณ์ไมซ์ไทยระบุว่า การจะทำให้ไมซ์ไทยเดินสู่ก้าวใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมและมีความยั่งยืน ต้องวางกลยุทธ์แบรนด์ให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น

โดยวางแบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยสำหรับตลาดต่างประเทศเป็น “THAILAND MICE : Meet the Magic” โดยมองว่าผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอลมีสิ่งที่คาดหวังจากไมซ์ประเทศไทย 3 ประการ คือ ความน่าเชื่อถือ (trustworthy) ความจริงใจ (sincerity) และความเป็นไทย (authenticity)

ดังนั้น การสร้างแบรนด์ไมซ์ประเทศไทยจะต้องมีการยกระดับคุณค่าที่มีอยู่ให้สูงขึ้น และทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ระดับโลก ซึ่งต้องประกอบด้วยคุณค่าที่โดดเด่นของตนเอง และคุณค่าที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งในด้านคุณค่าในการเป็นนักประสานความคิดที่ดีมากด้วยพรสวรรค์ ทรัพยากรที่หลากหลาย และความยืดหยุ่นที่สามารถประสานตามความต้องการของนักเดินทางไมซ์จากธุรกิจที่หลากหลาย และส่งต่อคุณค่าที่โดนใจให้คู่ค้า นักเดินทางไมซ์ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาจึงสามารถสร้างเสน่ห์ที่แตกต่างให้กับธุรกิจของตัวเองได้ในประเทศไทย ซึ่งหาไม่ได้จากที่อื่น

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีทั้งซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องวัฒนธรรม อาหาร ศิลปะ ฯลฯ แต่ยังรวมถึงอุปนิสัยความเป็นธรรมชาติของคนไทย และฮาร์ดพาวเวอร์ (hard power) ได้แก่ โครงสร้างสาธารณูปโภคที่ดีมีมาตรฐาน ระบบโลจิสติกส์ เทคโนโลยีทันสมัย ฯลฯ ที่ผสมผสานกันได้อย่างสมดุลอยู่ในเมืองไทย

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถสร้างสรรค์งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเดินทางไมซ์ในแต่ละธุรกิจได้อย่างมีเอกลักษณ์