ท่องเที่ยวก้าวสู่ “โลว์ซีซั่น” คาดอัตราเข้าพักเดือน พ.ค.ร่วง

แม้ว่ารัฐบาลจะทยอยผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศมาเป็นระยะ แต่ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวมที่สะท้อนผ่านอัตราการเข้าพักของธุรกิจโรงแรมยังไม่มากนัก

ข้อมูลจากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม โดย สมาคมโรงแรมไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สำรวจจากโรงแรม 88 แห่ง พบว่า ในเดือนเมษายน 2565 ธุรกิจโรงแรมโดยรวมมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 34% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มีอัตราเฉลี่ย 32.7%

เป็นการเพิ่มขึ้นตามการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทยในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ มาตรการกระตุ้นการเดินทางของรัฐ และการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ แต่การฟื้นตัวของธุรกิจถูกกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นราคาห้องพักได้ รวมถึงประชาชนบางส่วนยังลดกิจกรรมการท่องเที่ยว

สำหรับเดือนพฤษภาคม 2565 รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกมาตรการเข้าประเทศแบบ Test & Go แต่ภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น ทำให้คาดว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจะมีแนวโน้มลดลง

นอกจากนี้ ยังระบุว่าเดือนเมษายน 2565 ผู้ประกอบการโรงแรมมีอัตราการจ้างงานเฉลี่ยที่ 61% (เมื่อเทียบกับปีก่อนโควิด) ลดลงจากเดือนมีนาคมที่มีอัตราเฉลี่ย 70% ทั้งนี้รูปแบบการจองแบบ last minute ทำให้โรงแรมส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมการจ้างงานไว้ล่วงหน้า ประกอบกับแรงงานบางส่วนลาออกในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ขณะที่รายได้ของโรงแรมที่เปิดกิจการยังอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับเดือนก่อน กล่าวคือ 51% ของโรงแรมที่เปิดให้บริการรายได้กลับมาไม่ถึง 30% (เทียบกับปีก่อนโควิด) และ 85% รายได้กลับมาไม่ถึง 50% โดย 44% ระบุว่า มีสภาพคล่องสำหรับดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน (ใกล้เคียงกับปีก่อน)

โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมมากที่สุด 5 อันดับแรกในขณะนี้คือ การปรับเพิ่มราคาห้องพักที่ทำได้ยาก, ต้นทุนวัตถุดิบและสินค้าสูงขึ้น, ประชาชนลดกิจกรรมนอกบ้าน, ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนด้านสาธารณสุข

ทั้งนี้ การผ่อนคลายนโยบายเปิดประเทศ และมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศยังคงเป็น 2 ประเด็นใหญ่ ที่ผู้ประกอบการโรงแรมยังคงเสนอและต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ