เปิดผลประกอบการ CENTEL ไตรมาส 1/65 ขาดทุนสุทธิ 44 ล้านบาท

เซ็นทารา

CENTEL เผยผลประกอบการไตรมาส 1/65 ขาดทุนสุทธิ 44 ล้านบาท ขาดทุนลดลงกว่า 90% ส่วนธุรกิจโรงแรมมีรายได้ 1,249 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 149% YoY เหตุเปิดประเทศ-ผ่อนคลายการควบคุมโรค

วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2565 โดยระบุว่า บริษัทมีรายได้รวม 3,882 ล้านบาท (ไตรมาส 1/2564 : 2,774 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1,108 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 40%)

บริษัทมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 951 ล้านบาท (ไตรมาส 1/2564 : 486 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 465 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 96%) เทียบปีก่อน โดยคิดเป็น % EBITDA ที่ 24% เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อน (ไตรมาส 1/2564 : 18%)

บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBIT) จำนวน 184 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 157% เทียบกับปีก่อน (ไตรมาส 1/2564 : ขาดทุน 324 ล้านบาท) บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 44 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิลดลง 91%

สำหรับผลการดำเนินงานธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งโรงแรมที่มัลดีฟส์ และดูไบ มีอัตราการเข้าพักค่อนข้างสูง อันเป็นผลจากงาน World Expo

ส่วนโรงแรมในประเทศไทย ภาพรวมรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPar) เพิ่มขึ้น 197% อยู่ที่ 1,957 บาท โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (OCC) เพิ่มจาก 14% เป็น 35% ในไตรมาส 1/2565 และที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่ม 16% เทียบปีก่อน เป็น 5,660 บาท ธุรกิจโรงแรมมีรายได้รวม 1,249 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2565 เพิ่มขึ้น 748 ล้านบาท หรือ 149% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านธุรกิจอาหารในไตรมาส 1/2565 อัตราการเติบโตจากยอดขายสาขาเดิม (%SSS) เพิ่มขึ้นในอัตรา 10% เทียบปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ 4 แบรนด์หลัก 9% และแบรนด์อื่น ๆ 15% และการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (%TSS) 15% เทียบปีก่อน บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหารรวม 2,633 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 360 ล้านบาท (หรือเติบโตประมาณ 16% เทียบปีก่อน)

การเติบโตดังกล่าว เกิดจากปัจจัยบวกหลายประการ เช่น รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ความกังวลจากการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงเนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนของประชากรเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงบริษัทจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง

รายงานระบุว่า สถานะการเงินของบริษัท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีอัตราส่วนสภาพคล่องดีขึ้นจากสิ้นปี 2564 ที่ 0.7 เท่า และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น 0.9 เท่า ทั้งนี้ บริษัทมีเงื่อนไขกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับการรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น อยู่ที่ 2.0 เท่า

นอกจากนี้ แม้ยังมีปัจจัยลบ เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และแรงกดดันต่อต้นทุนราคาวัตถุดิบและการขนส่งที่กระทบอัตราการทำกำไรของธุรกิจอาหาร แต่ยังคงมีปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามการผ่อนปรนมาตรการตามลำดับ อีกทั้งบริษัทก็มีการวางแผนในการเจรจาต่อรองกับผู้ขายอย่างต่อเนื่อง หาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติม รวมถึงมีการปรับราคาสินค้าเพื่อสะท้อนสภาวะการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ โดยบริษัทได้พยายามรักษาสมดุลเรื่องความคุ้มค่าของลูกค้าและผลกำไรของบริษัทอย่างเหมาะสม

ในปี 2565 บริษัทประมาณการธุรกิจโรงแรมอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี (รวมโรงแรมที่ดูไบ) อยู่ในช่วง 40% – 50% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) อยู่ที่ 1,700 – 1,900 บาท และธุรกิจอาหาร อัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales : SSS) 10% ถึง 15% เทียบปีก่อน


ขณะที่อัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (Total-System-Sales : TSS) จะอยู่ในช่วง 20% ถึง 25% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา สำหรับการเติบโตของจำนวนสาขา บริษัทคาดว่าจะมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสุทธิ 180-200 สาขา