บางกอกแอร์เวย์ส เปิดรูตบินใหม่ 13 เส้นทาง รับท่องเที่ยวฟื้นตัวครึ่งปีหลัง

“บางกอกแอร์เวย์ส” รุกเปิดรูตบินใหม่ทั้งในประเทศ-ระหว่างประเทศ 13 เส้นทาง พร้อมอัดกิจกรรม-แคมเปญการตลาดกระตุ้นตลอดปี มั่นใจสิ้นปีมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร 8,175 ล้านบาท

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทประเมินว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว และกลับมาสู่ภาวะปกติได้ในช่วงอีก 2 ปีข้างหน้า สอดรับกับทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ทั้งนี้ จากรายงานของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ได้คาดการณ์ว่าทิศทางของอุตสาหกรรมการบินโลกจะกลับมาสู่ภาวะปกติในปี 2567 และคาดว่าการเดินทางในยุโรปและอเมริกาเหนือจะเริ่มฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2566 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวเร็วกว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า “ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกมีการขยายตัวสูง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศไทย โดยในส่วนของบางกอกแอร์เวย์สนั้นได้เพิ่มเที่ยวบินรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศรวม 5,037 เที่ยวบิน ส่งผลให้ในไตรมาส 1 ปี 2565 บริษัทมีจำนวนขนส่งผู้โดยสารกว่า 3.7 แสนคน หรือเติบโตร้อยละ 146 รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารเท่ากับ 931 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 208 และปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เท่ากับ 336.9 ล้านที่นั่ง-กม. เพิ่มขึ้นร้อยละ 116 เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564”

นายพุฒิพงศ์กล่าวด้วยว่า สายการบินพันธมิตร ทั้งความร่วมมือในระดับ Codeshare และ Interline เริ่มส่งสัญญาณที่ดีของการกลับมาจากการเปิดประเทศของประเทศไทย และนโยบายการเปิดประเทศของหลายประเทศโดยเฉพาะยุโรปซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญ

โดยสัดส่วนรายได้จากสายการบินพันธมิตรคิดเป็นร้อยละ 18 ของรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารทั้งหมด ทั้งนี้ สายการบินพันธมิตร 3 อันดับแรกที่มียอดรวมรายได้สูงสุด ได้แก่ กาตาร์แอร์เวย์ส เอมิเรตส์ และออสเตรียน แอร์ไลน์

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทให้บริการเที่ยวบินในเส้นทางภายในประเทศ 11 เส้นทาง และเส้นทางระหว่างประเทศ 2 เส้นทาง โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 บริษัทเล็งเห็นถึงความต้องการในการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงเตรียมเปิดเส้นทางบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อรองรับการเดินทางจำนวน 13 เส้นทาง

โดยในไตรมาส 3 จะเปิดเส้นทางบินใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ และสมุย–หาดใหญ่ เริ่มวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 และกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินทั้งในเส้นทางบินภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ได้หยุดทำการบินไปชั่วคราว ได้แก่ เส้นทาง สมุย-เชียงใหม่ เริ่ม 1 กรกฎาคม 2565 กรุงเทพฯ-มัลดีฟส์ เริ่ม 22 กรกฎาคม 2565 กรุงเทพฯ-เสียมเรียบ เริ่ม 1 สิงหาคม 2565 กรุงเทพฯ-ดานัง เริ่ม 1 กันยายน 2565 และสมุย-ฮ่องกง เริ่ม 1 กันยายน 2565

ส่วนในไตรมาส 4 คาดว่าจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินในอีก 6 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง เชียงใหม่-กระบี่ เชียงใหม่-ภูเก็ต สมุย-กระบี่ กรุงเทพฯ-หลวงพระบาง กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง และกรุงเทพฯ-ฟูโกว๊ก

โดยได้วางเป้าหมาย ในปี 2565 โดยคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินทุกเส้นทางบินรวม 34,000 เที่ยวบิน ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร 3,080 ล้านที่นั่ง-กม. จำนวนผู้โดยสาร 2.64 ล้านคน รายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร อยู่ที่ 8,175 ล้านบาท อัตราขนส่งผู้โดยสาร 73% และคาดว่าราคาตั๋วเฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ที่ 3,100 บาท

“ในปี 2562 เรามีเครื่องบินรวม 40 ลำ ปี 2563 ลดเหลือ 39 ลำ ปี 2564 เหลือ 37 ลำ และคาดว่าปีนี้จะลดเหลือ 30 ลำ ซึ่งปัจจุบันยังใช้งานทั้งหมด ซึ่งหากแผนเปิดประเทศได้รับการตอบรับดีกว่าที่คาดการณ์ก็น่าจะทำให้ปริมาณการใช้เครื่องบินมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และหากอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวเราก็พร้อมที่จะรับเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมฝูงบิน เพื่อให้สามารถมีรายได้รวมได้ใกล้เคียงกับปี 2562 ได้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า” นายพุฒิพงศ์กล่าว

ด้านนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2565 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 1,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1 เทียบกับปี 2564

โดยมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบัตรโดยสารของธุรกิจการบิน ธุรกิจสนามบิน และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานเท่ากับ 826.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายรวมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 โดยเฉพาะส่วนของต้นทุนขายและบริการที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.5 ได้แก่ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน และค่าบริการผู้โดยสาร

“ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน ที่สามารถฟื้นตัวหลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง และเปิดประเทศ ได้แก่ บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด มีรายได้รวม 80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 190 เทียบจากปี 2564 บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด หรือ BFS Ground ผู้ให้บริการด้านผู้โดยสาร ด้านภาคพื้นและด้านคลังสินค้า ณ สนามบินสุวรรณภูมิ มีรายได้รวม 330 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 โดยให้บริการเที่ยวบินจำนวน 9,365 เที่ยวบิน สำหรับ บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจีคาร์โก้ จำกัด หรือ BFS Cargo ธุรกิจคลังสินค้าระหว่างประเทศมีรายได้รวม 529 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 เทียบจากปี 2564 เนื่องจากมีการขนส่งสินค้าลดลง 17,709 ตัน โดยมีปริมาณสินค้าที่ขนส่ง 109,547 ตัน”

ทั้งนี้ บริษัทยังคงดำเนินการตามแผนในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย เน้นเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ การบริหารฝูงบิน การปรับเส้นทางบินให้ตรงกับความต้องการในการเดินทาง การปรับลดค่าใช้จ่าย การจัดการด้านบุคลากรให้เหมาะสม และการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทได้จัดตั้ง บริษัท กรุงเทพ รีทแมเนจเม้นท์ จำกัด เพื่อยื่นจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพภายใต้โครงการสนามบินสมุย โดยคาดการณ์เสนอขายภายในช่วงกลางปีนี้

ขณะที่นางสาวอมรรัตน์ คงสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทได้วางแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยว และสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ พร้อมจัดแคมเปญกระตุ้นการขายและออกโปรโมชั่นสุดพิเศษตลอดจนถึงสิ้นปี การขยายช่องทางการจำหน่ายบัตรโดยสารให้ครอบคลุมออนไลน์และออฟไลน์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

รวมถึงประสานความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อส่งมอบสิทธิประโยชน์สุดพิเศษสำหรับผู้โดยสารในราคาที่คุ้มค่า ทั้งนี้ บริษัทได้วางกลยุทธ์การสื่อสารทางการตลาดผ่านแคมเปญ “คิดถึง…ให้ถึง” โดยมี ญาญ่า อุรัสยา เป็นพรีเซ็นเตอร์ นำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์ในการให้บริการที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับเอเชียบูทีคแอร์ไลน์

บริษัทได้สนับสนุนนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด อาทิ โครงการสมุยพลัส แซนด์บอกซ์ ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2564 – 30 เมษายน 2565 โดยได้จัดเที่ยวบินพิเศษ ให้บริการเฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางต่อเครื่องจากต่างประเทศ และเดินทางมายังสมุยในเส้นทาง ไป – กลับ กรุงเทพฯ – สมุย โดยจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการทั้งหมดรวม 688 เที่ยวบิน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าพื้นที่ทั้งหมด 34,569 คน

ส่วนโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ภาพรวมเฟส 1 – 4 ระยะเวลาตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2563 – 31 พฤษภาคม 2565 จำนวนผู้โดยสาร 103,154 คน โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยม ได้แก่ เกาะสมุย ภูเก็ต กรุงเทพฯ เชียงใหม่

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวเชิงกีฬาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ได้แก่ การแข่งขันวิ่ง Bangkok Airways Boutique Series Half Marathon 2022 ซึ่งจัดในเดือนมิถุนายน- เดือนตุลาคม 2565 รวม 5 สนาม ได้แก่ สมุย ลำปาง ตราด พังงา สุโขทัย และ กิจกรรมการเล่นเซิร์ฟ Bangkok Airways Surf Festival 2022 มีเป้าหมายกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว คาดว่าจะจัดงานในช่วงเดือนกันยายน 2565 ณ หาดเมมโมรี่ บีช เขาหลัก จ.พังงา