ทีเส็บ หนุนเอกชนดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ “มาเลเซีย-อินโดนีเซีย”

สนามบินสุวรรณภูมิ

ชี้ธุรกิจไมซ์กำลังฟื้นตัว จับตาตลาดท่องเที่ยวมาเลเซีย-อินโดนีเซีย นักท่องเที่ยวมาง่ายค่าใช้จ่ายไม่สูง ภาคเอกชนเสนอไอเดียรูตนักท่องเที่ยวไมซ์ประชุมเมืองหลัก-เที่ยวเมืองรอง ตอบโจทย์กระตุ้นท้องถิ่น

วันที่ 20 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักท่องเที่ยวจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน เป็นอีกหนึ่งกุญแจที่สำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทย ข้อมูลจากสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวรวม 39.9 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียนจำนวน 10.7 ล้านคน

สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ร่วมกับสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ด้วยการสนับสนุนหลักจาก สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ จัดงาน IMT – GT MICE Business Conference ขึ้น

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับนักเดินทางเป้าหมายจากกลุ่มประเทศ IMT-GT (ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย) กิจกรรมประกอบด้วย การให้ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับนักเดินไมซ์ทางจากประเทศกลุ่ม IMT-GT การทำกิจกรรม Workshop Business Plan และการทำ Table Top Sale Business Matching

งานดังกล่าวมีการบรรยายหัวข้อ “มุมมองโอกาสและทิศทางตลาดท่องเที่ยวและไมซ์ไทย และตลาด IMT-GT หลังเปิดประเทศ” โดย ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ระบุว่า ในเดือนมกราคม 2565 มีนักเดินทางออกเดินทางทั่วโลกกว่า 18 ล้านคน การท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาคทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

และเกิดแนวโน้มการท่องเที่ยวเพื่อล้างแค้น (Revenge Tourism) ขึ้น เพื่อชดเชยช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา และประเมินว่าหลังจากรัฐบาลแต่ละท้องถิ่นเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง จะเห็นแนวโน้มการเติบโตของภาคท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังต้องเจอความท้าทายจากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาโรคระบาด ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มอายุน้อยมีแนวโน้มจอง-ซื้อผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวผ่านช่องทางโดยตรงมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเอเย่นต์ต่าง ๆ ต้องปรับโมเดลธุรกิจ พร้อมยกระดับมาตรฐานการให้บริการ

ดร.อดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ผู้ประกอบการอาจต้องสร้างพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้น พร้อมกับสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มธุรกิจไมซ์ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ต้องการบริการที่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ให้บริการที่มีทักษะหลากหลาย

“ในอดีตเราสู้กันด้วยเรื่องราคา แต่อาจละเลยการสร้างมูลค่าในผลิตภัณฑ์บริการ โจทย์คือเราต้อง Upskill และ Reskill พนักงาน” ดร.อดิษฐ์กล่าว

สำหรับเทรนด์การท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 ดร.อดิษฐ์ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวมีความต้องการความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สิน รวมไปถึงความปลอดภัยด้นสาธารณสุข และพบว่านักท่องเที่ยวต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยอาจมีการรวมกลุ่มในขนาดที่เล็กลง

นางสาววชิรา วิชัยวัฒนะ อุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองระบุว่า 6 เดือนแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปต่างประเทศจำนวน 1.08 ล้านคน และคาดว่าตลอดทั้งปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปต่างประเทศราว 2 ล้านคน

สำหรับประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย เป็นสองประเทศที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปได้ง่าย ใช้งบประมาณไม่สูง โดยในปี 2562 นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปมาเลเซียราว 1.8 ล้านคน และประเมินว่าในปี 2565 นี้ เริ่มมีชาวไทยเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียบ้างแล้ว ส่วนใน 4 เดือนแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปอินโดนีเซียราว 2,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ด้านนายชัยพฤกษ์ ทองคํา นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการอาจใช้นักท่องเที่ยวไมซ์ รวมถึงนักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG Model โดยการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากเมืองหลักสู่เมืองรอง เช่น นักท่องเที่ยวไมซ์เดินทางไปประชุมในจังหวัดอุดรธานี และเดินทางไปท่องเที่ยวต่อในจังหวัดหนองคาย เป็นต้น

นายชัยพฤกษ์กล่าวด้วยว่า หลังรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป การท่องเที่ยวไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดียิ่งขึ้น และยังพบว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวไทยมีรายได้จากชาวไทยราว 198,000 ล้านบาท

และพบว่าอัตราการการเข้าพักเฉลี่ยในบางพื้นที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น น่าน เชียงราย พะเยา ในอัตรา 71.37, 71.21 และ 61.74 ตามลำดับ สะท้อนว่านักท่องเที่ยวเริ่มให้ความสนใจท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น

ขณะที่นางพรศรี โชติวิท ตัวแทนสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (PATA) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง ทำให้มีนักท่องเที่ยวออกเดินทางเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และประเมินว่าตลาดนักท่องเที่ยวไมซ์เริ่มเติบโตมากขึ้น

โดยพบว่าในส่วนของการบินไทยนั้นสายการบินเริ่มกลับมาให้บริการในหลายเส้นทาง พร้อมทั้งเพิ่มความถี่เที่ยวบินมากขึ้น โดยใช้สายการบินไทยสมายล์ทำการบินเชื่อมโยงในภูมิภาคร่วมกับการบินไทย พร้อมกันนี้ การบินไทยได้เปิดช่องทางการจองบัตรโดยสารสำหรับธุรกิจไมซ์ ผ่าน “MICE Online Booking”

ส่วนการเสวนาในหัวข้อ “มุมมองทิศทางท่องเที่ยวและไมซ์ตลาดมาเลเซียหลังเปิดประเทศ” นายไพรัตน์ ห่านศรีสุข อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวมาเลเซียนิยมเดินทางเองเป็นหลัก มีเพียง 35% ที่ยังเดินทางกับบริษัททัวร์

โดยนักเดินทางมาเลเซียจะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยผ่านทางบกเป็นหลัก ผ่านด่านชายแดนอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีค่าใช้จ่ายต่อวันเฉลี่ยราว 5,000 บาท ใช้เวลาเดินทาง 4-8 วัน เส้นทางท่องเที่ยวที่โดดเด่น คือ กรุงเทพฯ – พัทยา กรุงเทพฯ – หัวหิน, กรุงเทพฯ – เขาใหญ่

นายไพรัตน์ กล่าวต่อว่า นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียมักเดินทางเข้ามาในช่วงปิดเทอม คือ ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และปลายเดือนพฤศจิกายน รวมถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ เทศกาลตรุษจีน วันฮารีรายอ นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มทัวร์จาริกแสวงบุญ ส่วนใหญ่เดินทางมาจากเมืองปีนัง 1 เดือนหลังเทศกาลตรุษจีน

นางสาวศุภานิช เฑียรสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการจัดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล ทีเส็บ กล่าวว่า ตลาดอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคอาเซียนมีโอกาสในการเติบโตสูง อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่าใน 1-2 ปีนี้ ธุรกิจไมซ์ในไทยจะฟื้นตัวสู่ระดับเดียวกันกับก่อนการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ ทีเส็บประกาศให้ปี 2566 เป็นปีแห่งการจัดการประชุม “MICE to Meet You in Thailand Year 2023” ภายใต้คอนเส็ปต์ “THAILAND MICE : Meet the Magic” พร้อมตั้งเป้าหมายกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่ม Meeting และ Incentive ระดับพรีเมี่ยมให้เดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น และปรับใช้แนวคิดความยั่งยืนไปพร้อมกัน