ททท.อัดแคมเปญบูมเมืองรอง ตั้งเป้ากระจายรายได้ 3.5 แสนล้านสู่ชุมชน

“ททท.” อัดแคมเปญ Amazing Thailand Go Local กระตุ้นรายได้ท่องเที่ยว 55 เมืองรอง สู่เป้าหมาย 3.5 แสนล้านบาท หลังรัฐบาลประกาศลดหย่อนภาษี ท่องเที่ยวเมืองรอง 1.5 หมื่นบาทตลอดปี”61 หวังเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวสู่เมืองรอง-ชุมชน มั่นใจรายได้รวม “ไทยเที่ยวไทย” ปีนี้ทำสถิติแตะ 1 ล้านล้านบาท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวใน 55 เมืองรอง โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวในเมืองรองมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตลอดปี 2561 นี้ ล่าสุด ททท.ได้กำหนดแนวทางด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง

โดยกระตุ้นการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ภายใต้แคมเปญ Amazing Thailand Go Local หรือเที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต

ทั้งนี้ เพื่อกระจายโอกาสในเชิงพื้นที่คือ การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่เมืองรองและชุมชนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน โดยจะเป็นการปรับสัดส่วนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและคนต่างชาติในพื้นที่เมืองหลักต่อเมืองรอง จาก 70 : 30 เป็น 65 : 35 ในปี 2561 อีกทั้งกระจายโอกาสในเชิงรายได้จากการท่องเที่ยวให้ลงสู่เศรษฐกิจฐานรากไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะสร้างบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองรองและชุมชนอย่างต่อเนื่อง

“ไทยเที่ยวไทย” พุ่ง 1 ล้านล้าน

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ ททท.ได้วางเป้ารายได้รวมไว้ที่ 3 ล้านล้านบาท โดยรายได้จากตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท และตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวในเมืองรอง 3.5 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้ท่องเที่ยวในเมืองหลักอยู่ที่ 6.5 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเที่ยวในประเทศที่คาดว่าจะอยู่ที่ 160 ล้านคน/ครั้ง

โดยแคมเปญ Amazing Thailand Go Local : เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต จะเป็นแคมเปญหลักในการช่วยกระตุ้นการเดินทางของตลาดในประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 7 กิจกรรมครอบคลุมทั้งฝั่งกระตุ้นดีมานด์และซัพพลาย ประกอบด้วย 1.enjoy local เที่ยวชุมชนได้ลุ้นได้แต้ม เป็นการร่วมมือกับพันธมิตรใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ Google local guide เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการวางแผนการทั่วประเทศได้ด้วยตัวเอง โดยสร้างแรงจูงใจให้มีการใช้จ่ายและท่องเที่ยวในชุมชนและเมืองรอง เช่น e-Coupon ใช้เป็นส่วนลดสำหรับซื้อสินค้าและบริการตลอดเส้นทางท่องเที่ยวไปยังชุมชนและเมืองรอง อาทิ ร้านประชารัฐสุขใจ สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร สะสมแต้ม (TAT point) ผ่านแอปพลิเคชั่นเพื่อเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าและบริการ หรือแลกรางวัลเดินทางท่องเที่ยวต่อและชิงโชคปลายปี รวมถึงการสะสมไมล์กับสายการบินในประเทศ

หนุนจัดสัมมนาใน 27 ชุมชน

2.SET in the local กระตุ้นกลุ่มตลาด MICE จัดประชุม สัมมนาและกิจกรรม CSR ในชุมชนและเมืองรอง โดยเน้นการเดินทางในวันธรรมดา ซึ่งดำเนินการกับ 27 ชุมชนท่องเที่ยวที่ต้องปรับเพิ่มเติมในเชิงการตลาด และประสานกับหน่วยงานที่ต้องการทำกิจกรรมในพื้นที่ชุมชน เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมฯ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ เป็นต้น โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายกลุ่มองค์กรและเยาวชน

3.local link เน้นความร่วมมือกับบริษัทนำเที่ยวหรือตัวแทนได้รับสิทธิพิเศษ เช่น สนับสนุนค่าอาหาร เมื่อเสนอขายรายการเที่ยวเมืองรอง หรือมีรายการเที่ยวเมืองหลักพ่วงเมืองรอง อีกทั้งรวบรวมและคัดกรองชุมชนทั่วประเทศที่มีศักยภาพพร้อมขาย

นอกจากนี้ จะใช้ข้อมูลเชิงสถิติวิเคราะห์การเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังจังหวัดท่องเที่ยวรอง จากเดิมจังหวัดท่องเที่ยวหลัก 70% (186 ล้านคน/ครั้ง) จังหวัดท่องเที่ยวรอง 30% (79 ล้านคน/ครั้ง) ปรับสัดส่วนเป็น 65 : 35

จัดเส้นทางเที่ยวเชื่อมเมืองรอง

รวมไปถึงการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเมืองรองหลากหลายรูปแบบ ด้วยการกำหนดบุคลิกของเส้นทางให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย อาทิ เส้นทาง green ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เส้นทางจักรยาน เส้นทางท่องเที่ยวเลาะชายแดน และการออกแบบเส้นทางใหม่ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยว เช่น เส้นทางงานฝีมือ เกษตรกรรม ผจญภัย ธรรมชาติ วิถีชีวิต อาหาร ฯลฯ

ทั้งนี้ เพื่อให้มีการเดินทางทั้งแบบผ่านบริษัทนำเที่ยว และออกแบบการเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ได้แก่ เส้นทาง A (Additional) ท่องเที่ยวเชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองรอง, เส้นทาง B (Brand New) ท่องเที่ยว 55 เมืองรอง และเส้นทาง C (Combination) ท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างเมืองรองและเมืองรอง

บูมอาหาร-วัฒนธรรมท้องถิ่น

4.eat local ประชาสัมพันธ์อาหารถิ่น (locallicious) อาหารอร่อย อาหารห้ามพลาด ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ผ่านกิจกรรม eat local week ในทุกภาค พร้อมร่วมกับพันธมิตรส่งเสริมให้มีการขายรายการนำเที่ยวประเภท local food tours การเยี่ยมชมแหล่งผลิต แหล่งวัตถุดิบด้านอาหาร หรือทุกการใช้จ่ายสามารถสะสมคะแนนและรับสิทธิพิเศษ เช่น ชิงรางวัลรับประทานอาหารในร้านที่ได้ดาวมิชลิน

5.our local สร้างสรรค์และสนับสนุนการจัดกิจกรรม community events บนพื้นฐานของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น กระจายทุกพื้นที่ ทุกสัปดาห์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้าท้องถิ่น โดยเฉพาะในชุมชนและเมืองรอง สนับสนุนการจัดกิจกรรม โดยกระจายจากเมืองหลักสู่เมืองรองในทุกพื้นที่รวมไปถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวในเทศกาลงานประเพณีประจำท้องถิ่นอีกด้วย

6.local heroes-towards GSTC (Global Sustainable Tourism Council) และ B2D (Business to Digital) กิจกรรม mobile clinic เพื่อการพัฒนาคน สร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชนจากองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งทางภูมิทัศน์และการแข่งขันในอนาคต

เตรียมแจกคู่มือเที่ยว ก.พ.นี้

และ 7.local strength ร่วมมือเชิงบูรณาการกับภาครัฐและเอกชน สร้างความเข้มแข็งในห่วงโซ่อุปทาน และสินค้าพร้อมขาย พัฒนาเรื่อง creative tourism ในแหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการขายเข้าเมืองรอง

นอกจากนี้ ททท.ยังมีแผนจัดทำหนังสือคู่มือแนะนำเส้นทางท่องเที่ยว พร้อมรายชื่อผู้ประกอบการ ที่พัก โรงแรม โฮมสเตย์ที่สามารถนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีได้ โดยคาดว่าจะสามารถนำมาแจกแก่ผู้สนใจภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นี้