แอร์ไลน์จัดทัพเพิ่มฝูงบิน แข่งกวาดตลาดน่านฟ้าเอเชีย

แอร์ไลน์ไทยจัดทัพบุกหนัก กางแผนรับมอบเครื่องบินเพิ่มรองรับการขยายเส้นทางบินใหม่ทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ วงในเผยน่านฟ้าปีཹ แข่งเดือด “การบินไทย-แอร์เอเชียเอ็กซ์-นกสกู๊ต” ดาหน้าชิงเค้กตลาด “ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้” ขณะที่ฟาก “นกแอร์-ไทยสมายล์-ไทยไลอ้อน-นิวเจน” ปักหลักโหมทำตลาดในประเทศ-จีนทั้งเมืองใหญ่เมืองรอง ด้าน “ไทยแอร์เอเชีย” เดินหน้าเปิดเส้นทางบินข้ามภาค หวังกินรวบตลาดในประเทศ

แหล่งข่าวระดับสูงในธุรกิจสายการบินรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางของธุรกิจสายการบินของไทยในปีนี้ว่า อุตสาหกรรมการบินของไทยจะคึกคักและขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากทุกสายการบินได้ทำการจัดทัพใหม่กันอีกระลอกเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสายการบินไทยแอร์เอเชียที่ล่าสุดนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารใหญ่ได้ทุ่มเงินกว่า 8.27 พันล้านบาท ซื้อคืนจากครอบครัวศรีวัฒนประภา เจ้าของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ และทำให้นายธรรศพลฐ์กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 41.3% อีกครั้ง

ขณะที่สายการบินนกแอร์ก็มีการปรับโครงสร้างผู้บริหารครั้งใหญ่ โดยนายพาที สารสิน ผู้ร่วมก่อตั้งนกแอร์ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอไปก่อนหน้านั้น ขณะเดียวกันยังมีสายการบินน้องใหม่อย่าง “นิวเจน แอร์เวย์ส” เข้ามาทุ่มเปิดเส้นทางบินทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างหนัก ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจสายการบินของไทยในปีนี้ดุเดือดและมีสีสันเพิ่มขึ้นแน่นอน

“ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้” ยังแข่งเดือด

นายวิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2561 นี้รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย หรือไทยแลนด์ ทัวริสซึ่ม เยียร์ การบินไทยจึงวางเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยจะโฟกัสนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียเหนือ ซึ่งเป็นตลาดการบินที่มีความร้อนแรงสูงมาก

นอกจากเส้นทางไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว และอยู่ระหว่างการขออนุญาตเพิ่มความถี่เที่ยวบินในบางเส้นทางของ 2 ตลาดเพิ่ม

การบินไทยยังพบว่าไต้หวันเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีศักยภาพสูงและสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของการบินไทย หลังจากรัฐบาลไต้หวันมีนโยบายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยประกาศขยายช่วงเวลายกเว้นวีซ่าต่อไปเป็นปีที่ 2 ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2560-31 กรกฎาคม 2561 แก่นักท่องเที่ยวไทย

“จากมาตรการดังกล่าวทำให้ตลอดปี 2561 นี้จะเป็นปีที่การบินไทยและสายการไทยสมายล์ซึ่งเป็นสายการบินลูกร่วมกันทำตลาดไต้หวันอย่างจริงจัง หลังจากที่ได้เปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-เกาสง ไปเมื่อตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา” นายวิวัฒน์กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดญี่ปุ่นถือเป็นตลาดหลักที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นตลาดเป้าหมายใหญ่ที่การบินไทยต้องขยายและรักษาฐานตลาดเดิมไว้ให้ได้ แผนงานหลัก ๆ สำหรับตลาดญี่ปุ่นคือ การเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางเดิม ทั้งเส้นทางจากกรุงเทพฯ สู่นาริตะ (โตเกียว), ฟูกูโอกะ, นาโกยา, โอซากา, นาริตะ, ซัปโปโร, เซนได ฯลฯ

ด้านนายนัตดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดเผยถึงแผนขยายธุรกิจในปี 2561 นี้ว่า ได้เตรียมรับมอบเครื่องบิน แอร์บัส เอ330 จำนวน 4 ลำ ไตรมาสแรก 2 ลำ ครึ่งปีหลังอีก 2 ลำ เพื่อนำมาเปิดเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางยอดนิยมอย่างญี่ปุ่นและเกาหลี โดยได้เตรียมเปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-ซัปโปโร ความถี่ 1 เที่ยวบินต่อวันในช่วงต้นปีนี้

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาเมืองทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เช่น ฟูกูโอกะ คุมาโมโต และโอกินาวา เพื่อขยายเครือข่ายเส้นทางบินให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั้งตอนเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก ส่วนการเปิดเส้นทางบินใหม่ไปเกาหลีใต้นั้นยังอยู่ระหว่างศึกษาเมืองปูซานและเจจู เช่นเดียวกับตลาดจีนที่ยังศึกษาเมืองทางตอนเหนือ รัศมีการบินเกิน 4 ชั่วโมง เช่น ปักกิ่ง เทียนจิน ต้าเหลียน และชิงเต่า เป็นต้น และยังได้ศึกษาเส้นทางบินไปยุโรปด้วยและคาดว่าน่าจะเปิดเส้นทางบินไปยุโรปได้ในปี 2562

สอดรับกับนายยอดชาย สุทธิธนกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต ที่กล่าวว่า แม้ว่าตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีจะยังคงมีกากรแข่งขันที่รุนแรง แต่นกสกู๊ตยังคงมีแผนเปิดเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ตามเดิมที่ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงครึ่งแรกปี 2561 นี้

โหมตลาด “CLMV-จีน-อินเดีย”

นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า ปีนี้ไทยไลอ้อนแอร์มีแผนรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 737-Max อีก 4 ลำ ทำให้สิ้นปีนี้จะมีฝูงบินรวม 35 ลำ นอกจากฐานการบินที่สนามบินนานาชาติดอนเมืองแล้วปีนี้จะผลักดันให้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภาเป็นฮับการบินแห่งใหม่อีกแห่งหนึ่งด้วย โดยมีแผนจะนำเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 และ 737-800 ไปประจำที่อู่ตะเภา 5-10 ลำ เพื่อนำไปบินเส้นทางใหม่ระหว่างสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาสู่เมืองต่างๆ ของจีน รองรับนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคระวันออก หรือ อีอีซี ของรัฐบาล จากเดิมที่ให้บริการเส้นทางบินจากสนามบินนานาชาติดอนเมืองสู่เมืองต่างๆ ของจีนไปจำนวนหนึ่งแล้ว

ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเตรียมเปิดเส้นทาง ภูเก็ต-เซี่ยงไฮ้ และขออนุญาตบินจากทั้งกรุงเทพฯ ภูเก็ต และอู่ตะเภา สู่ปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ซึ่งยังไม่มีสายการบินโลว์คอสต์จากไทยเข้าไปให้บริการ รวมทั้งมีแผนเปิดเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน คาดว่าในครึ่งปีแรก จะสามารถเปิดเส้นทางบินจากกรุงเทพฯสู่ญี่ปุ่น 2 เส้นทาง คือโตเกียว (สนามบินนาริตะ) และฟุกุโอกะ ไซึ่งเส้นทางหลังยังไม่มีสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) เข้าไปให้บริการ และยังเตรียมเปิดอีก 2 เส้นทางจากกรุงเทพฯไปเกาหลีใต้ คือโซล (สนามบินอินชอน) และปูซาน รวมถึงเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปฉางโจว จีน และโคชิ ในอินเดียด้วย

นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ กล่าวว่า ภายในไตรมาส 1 ของปี 2561 นกแอร์มีแผนเพิ่มการให้บริการอีก 5 เส้นทางไปยังจีน ด้วยฝูงบินโบอิ้ง 737-800 หลังนกแอร์ได้เปิดให้บริการเส้นทางบินไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ไปแล้ว 9 เส้นทาง จากเดิมที่มีให้บริการอยู่แล้ว 10 เส้นทาง รวมแล้วจะทำให้นกแอร์มีเส้นทางไปยังจีนรวม 24 เส้นทาง ภายในไตรมาสแรกของปีนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันสายการบินนกแอร์ ให้บริการด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-800, Q400 และ ATR มีเส้นทางการบินในประเทศ 24 เส้นทาง และเส้นทางต่างประเทศ 3 เส้นทาง คือ ดอนเมือง – ย่างกุ้ง (ประเทศเมียนมา) ดอนเมือง – นครโฮจิมินห์ (ประเทศเวียดนาม) และแม่สอด – ย่างกุ้ง (ประเทศเมียนมา) พร้อมทั้งมีบริการบินแบบเช่าเหมาลำอีก 19 เส้นทางไปยังเมืองต่างๆของประเทศจีน

ขณะที่นายฉัตรชัย ปานอยู่ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยสมายล์ กล่าวว่า นอกจากแผนการขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศสู่ประเทศจีนเพิ่มขึ้นแล้ว ปลายปีที่ผ่านมาไทยสมายล์ยังได้ขยายตลาดไปยังเมืองไทยเป, เกาสง ประเทศใต้หวัน รวมถึงประเทศในกลุ่ม CLMV และอินเดียด้วย

ด้านนายเจริญพงษ์ ศรประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีแผนรับมอบเครื่องบินใหม่เพิ่มขึ้นทุกไตรมาส เฉลี่ยไตรมาสละ 1 ลำ หรือ 4 ลำต่อปี เพื่อรองรับการขยายเส้นทางบินจากเดิมที่ให้บริการในรูปแบบชาร์เตอร์ไฟล์ตสู่เมืองจีนเป็นหลัก ไปสู่ไต้หวัน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, อินเดีย รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการจาชาร์เตอร์ไฟล์ตเป็นเที่ยวบินประจำสู่จีนด้วย

นอกจากนี้ ยังไดมุ่งขยายเส้นทางบินภายในประเทศควบคู่กันไปด้วย โดยใช้ฐานการบินที่สนามบินนครราชสีมา อาทิ นครราชสีมา-เชี่ยงใหม่, นครราชสีมา-ภูเก็ต, นครราชสีมา-ดอนเมือง เป็นต้น

“บินข้ามภาค” โอกาสใหม่

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวถึงแผนเชิงรุกของไทยแอร์เอเชียในปีนี้ว่า ได้เตรียมรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 7 เพื่อนำไปเปิดเส้นทางบินใหม่ โดยครึ่งหนึ่งจะให้น้ำหนักกับเส้นทางบินสู่อินเดียอีก 2-3 เมือง จากปัจจุบันเปิดให้บริการไปอินเดียแล้ว 7 เส้นทาง รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เช่น พุกาม เมียนมา, สีหนุวิลล์ กัมพูชา และเมืองอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเหลือเพียงเซบู ฟิลิปปินส์ ที่ต้องการทำการบินมานานแล้ว

ส่วนอีก 50% ได้เตรียมเปิดเส้นทางบินข้ามภูมิภาคในประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากเป็นโอกาสใหม่ทางการตลาดและยังมีคู่แข่งขัน อีกทั้งยังตอบโจทย์การเดินทางของคนในภูมิภาคที่ไม่ต้องการมาต่อเครื่องที่กรุงเทพฯ ให้เสียเวลา โดยปัจจุบันไทยแอร์เอเชียได้เปิดให้บริการไปแล้ว 15 เส้นทางบิน มีส่วนแบ่งตลาดในเส้นทางบินข้ามภูมิภาคกว่า 75-80% นอกจากนี้ ยังให้น้ำหนักกับการเปิดเส้นทางบินสู่เมืองใหม่ๆ ด้วย อาทิ เปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ-ระนอง ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ เป็นต้น