เมื่อวันที่ 9 มกราคม นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการทบทวนกรอบเพดานค่าโดยสารสายการบินต่างๆที่ให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศ โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์แอร์ไลน์)ว่า ในการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน(กบร.) ซึ่งมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ กพท.จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณากรอบเพดานค่าโดยสารสายการบินในอัตราใหม่ โดยจะต้องเก็บไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร(กม.) ลดลงจากเดิมที่ กบร.เคยอนุมัติไว้ว่าค่าโดยสารสูงสุดต้องไม่เกิน 13 บาทต่อกม. อย่างไรก็ตามอัตราค่าโดยสารใหม่นี้จะมีผลกับสายการบินโลว์คอสต์เท่านั้น ส่วนสายการบินเต็มรูปแบบ(ฟูลเซอร์วิส)ยังคงใช้กรอบเพดานเดิม โดยหากที่ประชุมเห็นชอบตามที่ กพท.เสนอ จะออกเป็นประกาศกระทรวงคมนาคมต่อไป
“ปัจจุบันทุกสายการบิน ไม่ว่าจะเป็นโลวคอสต์ หรือฟูลเซอร์วิส ใช้กรอบเพดานค่าโดยสารเดียวกันที่ไม่เกิน 13 บาทต่อกม. ซึ่งอาจจะไม่ยุติธรรมสำหรับผู้โดยสาร ดังนั้นจึงต้องพิจารณาทบทวน และกำหนดกรอบเพดานค่าโดยสารสำหรับสายการบินโลวคอสต์โดยเฉพาะ โดยเวลานี้กำลังเร่งพิจารณาว่าสายการบินใดบ้างที่จะเรียกว่าเป็นโลวคอสต์ เพราะปัจจุบันแต่ละสายการบินมีการให้บริการที่แตกต่างกันไป เช่น บางสายการบินไม่มีแจกน้ำ หรือขนม บางสายการบินแจกแต่น้ำ ไม่แจกขนม รวมทั้งบางสายการบินมีให้น้ำหนักสัมภาระฟรี เป็นต้น”นายจุฬา กล่าว
นายจุฬา กล่าวว่า การปรับลดกรอบเพดานค่าโดยสารดังกล่าวได้พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยดูจากต้นทุนที่แท้จริง เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสายการบินต่างๆมากนัก เพราะปัจจุบันแม้ กบร.จะกำหนดเพดานสูงสุดไว้ที่ 13 บาทต่อกม. แต่สายการบินโลวคอสต์ส่วนใหญ่ขายบัตรโดยสารราคาไม่เต็มเพดานอยู่แล้ว จะคิดค่าโดยสารประมาณ 5 บาทต่อ กม.เท่านั้น ส่วนที่เก็บเต็มเพดานหรือใกล้เคียงเพดาน มักจะเป็นการขายบัตรโดยสารที่จองแบบกระชั้นชิดใกล้เวลาเดินทาง ไม่ได้จองล่วงหน้า อย่างไรก็ตามกรอบเพดานใหม่นี้ผู้โดยสารน่าจะได้รับประโยชน์ แต่ราคาบัตรโดยสารจะลดลงจากเดิมหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะแต่ละสายการบินจะเป็นผู้กำหนดเอง เป็นเรื่องของกลไกตลาดที่จะต้องแข่งขันกัน ซึ่ง กพท.ทำหน้าที่เพียงกำหนดกรอบเพดานสูงสุดไม่ให้เก็บค่าโดยสารเกินกรอบเท่านั้น
ที่มา มติชนออนไลน์