ถึงเวลาปรับโครงสร้างราคา

คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล

เห็นข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่าจะให้บริษัทน้ำมันปรับค่าการตลาดขายปลีก จาก 1.5 บาท/ลิตร เพิ่มเป็น 1.7 บาท/ลิตร ฟังแล้วตกใจ เพราะนั่นหมายความว่า ราคาขายปลีกจะปรับขึ้น 20 สตางค์/ลิตร ส่งผลให้ผู้ใช้น้ำมันต้องจ่ายเพิ่มขึ้นทันทีราว 6,500 ล้านบาท/ปี นอกจากนั้น ราคาสินค้าอื่น ๆ ก็มีโอกาสปรับขึ้น เพราะค่าขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเช่นกัน

ที่จริงเรื่องค่าการตลาด บริษัทน้ำมันได้ขอปรับเพิ่ม เพราะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ปรับเพิ่มขึ้นตาม ก.พลังงานได้พิจารณาว่าอาจจะยอมให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณา คือยอดขายน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นมากใน 2 ปี

ที่ผ่านมา จากราคาน้ำมันที่ลดลง การใช้น้ำมันทั้งแก๊สโซฮอล์ และดีเซลปรับสูงขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่บริษัทน้ำมัน เกิดแรงจูงใจในการเร่งหาสถานที่เปิดสถานีบริการใหม่หากธุรกิจไม่ดี เป็นไปไม่ได้ที่บริษัทน้ำมันต่าง ๆ จะแย่งกันเปิดแข่งกันแบบนี้ แสดงว่าค่าการตลาดและยอดขายปัจจุบันยังอยู่ได้สบาย ๆ ดังนั้นการยอมให้บริษัทน้ำมันปรับเพิ่มค่าการตลาด ยังควรทำในเวลานี้หรือไม่

สิ่งที่ ก.พลังงานควรทำ คือการเจรจากับโรงกลั่นน้ำมันว่า สูตรราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น ควรทบทวนและปรับปรุง เพราะสูตรเหล่านี้ใช้มานานแล้ว ตัวอย่างเช่น น้ำมันดีเซล ปัจจุบันอิงกับราคาประกาศน้ำมันดีเซลตลาดสิงคโปร์ (MOP หรือ mean of platt) คุณภาพกำมะถัน 500 ppm และมีค่าปรับคุณภาพกำมะถันให้เป็น 50 ppm ตามมาตรฐานไทย ควรปรับลดลงได้หรือไม่ เช่น 20-30 สตางค์/ลิตร เพราะค่าปรับคุณภาพทางภาครัฐในช่วงนั้นได้ยินยอมให้มีได้ เพราะโรงกลั่นต้องลงทุนสร้างหน่วยกำจัดกำมะถันใหม่ ซึ่งได้เดินเครื่องมากว่า 15 ปี ปัจจุบันคืนทุนแล้ว จึงถึงเวลาที่โรงกลั่นควรจะคืนส่วนนี้ให้ผู้ใช้น้ำมัน ซึ่งถ้าทำได้จะช่วยให้ราคาขายปลีกของดีเซลลง 20-30 สตางค์/ลิตร ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนได้ การปรับลดนี้จะทำให้รายได้ของโรงกลั่นลดลงรวม 5 โรงกลั่น ประมาณ 4,400-6,600 ล้านบาท/ปี แต่ถ้าเทียบกับยอดขายของโรงกลั่นทั้งหมดหลายแสนล้านบาทต่อปีถือว่าน้อยมาก

แต่ถ้าโรงกลั่นไม่เห็นด้วย ก็น่าพิจารณาปรับสูตรอ้างอิง จาก MOP 500 ppm เป็น MOP 50 ppm แทน และไม่ต้องมีค่าปรับคุณภาพ ถึงแม้ว่าโรงกลั่นจะอ้างเสมอว่า MOP 50 ppm ยอดซื้อขายแต่ละวันน้อยไม่เหมาะกับเอามาใช้เป็นราคาอ้างอิง เพราะแท้จริงกลัวว่าถ้าถูกนำมาใช้ราคาดีเซลจะลดลงมากจนกระทบผลประกอบการ

ก.พลังงานบอกเสมอว่า การค้าขายน้ำมันเป็นตลาดเสรี ไม่แทรกแซง แต่จากประสบการณ์ รัฐสามารถเข้ามาดูแลให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนได้เสมอ เพราะรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทน้ำมันหลายแห่ง มีตัวแทนของรัฐเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทเหล่านั้น ถ้ามีแนวทางให้บริษัทน้ำมันทบทวนสูตรราคาน้ำมัน ก็น่าจะทำได้ เชื่อว่าบริษัทน้ำมันต่างชาติก็จะให้ความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันเช่นกัน

เรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันควรเปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ เพราะค่าครองชีพของประชาชนปรับสูงขึ้นจึงเป็นหน้าที่ของทั้งรัฐ หาทางลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนมั่นใจว่าทุกบริษัทน้ำมันให้ความสำคัญกับผู้บริโภค