สทนช.ถกแผนสำรอง-จัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 62 ก่อนประกาศเข้าฤดูหนาวกลาง ต.ค.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 8/2561 ว่า สาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้เพื่อติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ แนวโน้มปริมาณฝน สภาพน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ รวมถึงความคืบหน้าการบรรเทาผลกระทบและความช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนถึงปัจจุบัน และประเด็นสำคัญ คือ การหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ความเสี่ยงพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงทุ่งรับน้ำต่างๆ เพื่อวางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำทั้ง 5 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.น้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค – บริโภค 2. รักษาระบบนิเวศ 3. สำรองน้ำสำหรับการใช้น้ำต้นฤดูฝน ช่วงเดือนพ.ค. – ก.ค. 4. ด้านการเกษตร และ 5.ภาคอุตสาหกรรม

​อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นที่ประชุมได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2561/62 โดยมอบหมายหน่วยงานในพื้นที่พิจารณาดำเนินการใน 4 แนวทาง ดังนี้ 1. บริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 2. เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และรถยนต์บรรทุกน้ำให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันทีหากมีการร้องขอ 3.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง และ 4.การแจ้งเตือนเกษตรกรล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย เพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับน้ำที่มีอยู่ และกำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนการปลูกพืชฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร
​จากข้อมูลการรายงานสถานการณ์น้ำในภาพรวมของประเทศ โดยศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ย.61) พบว่า สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อยกว่า 60% ของความจุทั้งประเทศ มีทั้งสิ้น 143 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ เขื่อนกิ่วลม 59% เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 42% เขื่อนแม่มอก 27% ตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนลำพระเพลิง 56% เขื่อนมูลบน 54% เขื่อนห้วยหลวง 48% เขื่อนลำนางรอง 33% เขื่อนอุบลรัตน์ 31% ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว 42% เขื่อนทับเสลา 26% ภาคใต้ เขื่อนบางลาง 46% ขนาดกลาง ขนาดกลาง 132 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 27 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 73 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง ภาคใต้ 17 แห่ง รวมขนาดกลาง แต่หากพิจารณาถึงจำนวนอ่างเฝ้าติดตามที่มีความจุน้อยกว่า 30% พบว่า มีจำนวน 35 แห่ง แบ่งเป็น เขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่เขื่อนแม่มอก 27% และเขื่อนทับเสลา 26% ส่วนขนาดกลางมีทั้งสิ้น 33 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง


​“หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคมและเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว สทนช. ได้มีการทบทวนขอปรับเกณฑ์การเฝ้าระวังปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำตั้งแต่ภาคกลางถึงภาคเหนือ จากเดิมเฝ้าระวังที่ร้อยละ 80 ของความจุอ่างเก็บน้ำ เป็นร้อยละ 95 ของความจุอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำที่ใกล้สิ้นสุดฤดูฝนแล้ว สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 60 ของความจุอ่างเก็บน้ำ สนทนช.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำบัญชีรายชื่อและจัดลำดับความสำคัญเพื่อส่งให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรนำไปจัดแผนการปฏิบัติการฝนหลวงและเร่งดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป” เลขาธิการ สทนช.กล่าว
​​​