เศรษฐกิจในปีหน้า และความเสี่ยงของภาคการเงิน

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเป็นครั้งที่ 4 ของปีในเดือนตุลาคม (ก่อนหน้านี้ ได้ปรับประมาณการในเดือนมกราคม เมษายน กรกฎาคม) โดยครั้งนี้คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 3% ต่ำสุดนับจากวิกฤตการเงินในปี 2008 (เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.7% เท่ากับปี 2018)

ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวน้อยกว่าที่คาด คือ การกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งขึ้นภาษีตอบโต้กันอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี

นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองภายใน ปัญหาเชิงโครงสร้างของประชากร การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยากที่จะประเมินผลกระทบได้อย่างถูกต้อง

สำหรับในปีหน้านั้น ไอเอ็มเอฟคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวสูงขึ้นที่ 3.4% โดยเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่อ่อนแอเป็นหลัก คือ กลุ่มแรกที่ปีนี้ประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ได้แก่ ตุรกี อาร์เจนตินา และอิหร่าน และกลุ่มที่สอง คือ ประเทศที่มีการขยายตัวต่ำมากในปีนี้ จากปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองภายในประเทศ ได้แก่ บราซิล เม็กซิโก อินเดีย รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย

ในขณะที่สหรัฐและจีน ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งและสองของโลก คาดว่าจะโตช้าลง คือ สหรัฐจะโต 2.4% ในปีนี้ และ 2.1% ในปี 2020 ส่วนจีนโต 6.1% ปีนี้ และชะลอลงเป็น 5.8% ในปีหน้า รวมทั้งญี่ปุ่นก็ขยายตัวต่ำลงในปีหน้าเช่นกัน ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้มีขนาดเศรษฐกิจเกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าประเทศอื่น ๆ จะสามารถรักษาการขยายตัวได้ในระดับเดียวกับปีนี้

ดังนั้น จะเห็นว่าการฟื้นตัวในปีหน้าไม่กว้างขวางและมั่นคงนัก เพราะเป็นการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่อ่อนแอ ไม่ได้มาจากประเทศพัฒนาแล้วที่มีกำลังซื้อ

นอกจากเศรษฐกิจประเทศใหญ่จะชะลอตัวต่อเนื่อง ปัญหาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ทั้งนี้ สหรัฐและจีนกำลังเจรจาเพื่อประนีประนอมกัน ซึ่งคาดว่าน่าจะบรรลุข้อตกลงบางส่วนในเดือนนี้ คือ จีนยอมซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐและสหรัฐยอมผ่อนปรนเรื่องการขึ้นภาษีสินค้าจีน แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องระมัดระวังในปีหน้า

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟประเมินว่าผลกระทบของการขึ้นภาษีตอบโต้กันของสหรัฐและจีนที่ประกาศใช้แล้วนั้น น่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลง 0.8% ซึ่งการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ ได้ช่วยลดผลกระทบดังกล่าว

แต่หากความขัดแย้งไม่คลี่คลาย ส่งผลทำให้มีการขึ้นภาษีเพิ่มเติม หรือมีมาตรการกีดกันด้านอื่นอีก ก็จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าคาด และไม่แน่ว่า จะต้องลดดอกเบี้ยอีกเท่าใด จึงจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ได้

ประเด็นเรื่องดอกเบี้ยนั้น แม้ไอเอ็มเอฟยอมรับว่ามีความจำเป็นในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่ได้แสดงความกังวลอย่างชัดเจนว่า ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ได้สร้างปัญหาสะสมในภาคการเงิน จนทำให้มีจุดเปราะบาง และกลายเป็นความเสี่ยงในอนาคตได้ โดยประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ

1.ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ ภาวะดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ทำให้ต้นทุนการระดมทุนปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจจึงก่อหนี้เพิ่มขึ้น ประเด็นที่น่ากังวล คือ การก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาของธุรกิจจีน ธุรกิจขนาดเล็ก และธุรกิจที่มีความเสี่ยง โดยปัจจุบันตราสารหนี้ที่ถูกจัดอันดับเป็นกลุ่มเก็งกำไร มีมากถึง 50% ของตราสารหนี้ทั้งหมด และไอเอ็มเอฟประเมินว่าหากเศรษฐกิจตกต่ำ หนี้ที่อาจมีปัญหาจะมีสูงถึง 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 มูลค่าเกือบเท่ากับจีดีพีของสหรัฐ

2.การเพิ่มการถือสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำของนักลงทุนสถาบัน อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญ บริษัทประกัน และกองทุนตราสารหนี้ต่าง ๆ ซึ่งการที่ดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง กองทุนดังกล่าวก็ยิ่งหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวสูงเกินมูลค่าที่ควรจะเป็น และหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดที่มีผลต่อความเชื่อมั่น กองทุนเหล่านี้ก็อาจจะเร่งขายสินทรัพย์ต่าง ๆ ทำให้ตลาดการเงินเกิดความผันผวนได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ

3.การสร้างหนี้โดยการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศขนาดเล็ก ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศกำลังพัฒนาทั้งในรูปของเงินกู้และเงินลงทุนในสินทรัพย์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดฟองสบู่ต่อเศรษฐกิจภายใน

นอกจากนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และตลาดการเงินมีความผันผวน ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงของเงินทุนไหลออกได้ง่าย กระทบต่อดุลการชำระเงิน ดังจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมามีประเทศที่มีปัญหาจากการสร้างหนี้ต่างประเทศ เช่น กรีก และอาร์เจนตินา เป็นต้น

ดังนั้น แม้ดอกเบี้ยต่ำ อาจช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในระยะสั้น แต่ก็ต้องระวังปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับภาคการเงิน เพราะหลายครั้งที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นเกิดจากวิกฤตในภาคการเงิน