เงินบาททยอยแข็งค่า จับตาสัปดาห์หน้า ตัวเลข GDP ไตรมาส3-ดีลการค้าจีน-สหรัฐ

เงินบาททยอยแข็งค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยลดลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการทำข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาททยอยแข็งค่า โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางเงินเยนซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย ที่ได้รับแรงหนุนท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การเจรจาการค้าของสหรัฐฯ-จีน ซึ่งมีสัญญาณเชิงลบตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมากล่าวว่ายังไม่มีการตอบตกลงเรื่องการทยอยลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีน และสหรัฐฯ อาจปรับเพิ่มภาษีอีกครั้ง หากสองประเทศไม่บรรลุข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกระหว่างกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาทรงตัวในกรอบแคบๆ ในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนยังคงรอประเมินความคืบหน้าของดีลการค้าของสหรัฐฯ-จีนอย่างใกล้ชิด

ในวันศุกร์ (15 พ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 30.21 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 พ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.10-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่ตลาดรอติดตาม ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/62 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ประกอบด้วย มุมมองเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด และสถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนพ.ย. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน การขออนุญาตก่อสร้าง ยอดขายบ้านมือสองเดือนต.ค. ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดการเงินสหรัฐฯ เดือนก.ย. นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามบันทึกการประชุมเฟด (29-30 ต.ค.) และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ และประเทศชั้นนำอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

สวนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,602.23 จุด ลดลง 2.17% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,763.36 ล้านบาท ลดลง 19.10% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 3.95% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 319.49 จุด

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ท่ามกลางความกังวลต่อความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็นการทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่ายังไม่ได้ตกลงจะยกเลิกกำแพงภาษีต่อสินค้าจีน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จีนเรียกร้องหากต้องการบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรก ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบในฮ่องกงเป็นอีกปัจจัยที่กดดันบรรยากาศการลงทุนในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ แรงขายหุ้นบิ๊กแคปบางตัวยังฉุดให้ดัชนีฯ ร่วงลงต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์


สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,590 และ 1,575 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,615 และ 1,625 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/62 ของไทย สถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน สถานการณ์ BREXIT รวมถึงถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนต.ค. ดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) และผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนพ.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนพ.ย.ของยูโรโซนและญี่ปุ่น