ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกหลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา ไทย-อังกฤษ

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต 7 ปี 2 ปริญญา ไทย-อังกฤษ มุ่งเน้นสร้างแพทย์มีทักษะนักวิทยาศาสตร์ รับมือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต เปิดสอนรุ่นแรกแล้วเมื่อไม่นานนี้

จากการอุบัติของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลก ส่งผลให้วงการแพทย์ต้องเร่งสปีดในการปรับตัวการเรียนรู้โรคใหม่ ๆ ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและความมุ่งมั่นพัฒนางานด้านการแพทย์ ของศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเล็งเห็นว่าประเทศไทยยังขาดแคลนแพทย์ที่จะรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอันใกล้ จึงทรงมีพระดำริให้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ให้เป็น “วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ – ววจ.” (HRH Princess Chulabhorn College of Medical Science) แห่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และพัฒนา “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2563)”

หลักสูตรดังกล่าวมีความโดดเด่นและแตกต่าง เพราะเป็นหลักสูตร 7 ปี 2 ปริญญา ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล (University College London – UCL) มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ในสหราชอาณาจักร เพื่อมุ่งเน้นการศึกษาการแพทย์แห่งอนาคต เปิดสอนนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกแล้วเมื่อไม่นานนี้

การเรียนการสอนแบบแนวตั้ง

“ศ.นพ.นิธิ มหานนท์” เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ กล่าวว่า หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2563) ของ ววจ. มุ่งเน้นสร้างแพทย์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ และรู้จักคิดค้นคว้าสร้างองค์ความรู้ใหม่ เป็นแพทย์ที่มี ‘หัวใจไทย ปัญญาสากล’ เพื่อการพัฒนาประเทศ

“ปัจจุบันมีโรคใหม่ ๆ เกิดขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงเทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นแพทย์ในอนาคตที่เราต้องการคือ แพทย์ที่สามารถแก้ไขปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นได้ มีความคิดวิเคราะห์และมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัว และถึงแม้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการวินิจฉัยโรคมากขึ้น แต่แพทย์ต้องมีความแตกต่างจากเทคโนโลยี คือมีความเป็นมนุษย์และความเมตตากรุณา ดังนั้นกล่าวได้ว่า แพทย์ในอนาคตต้องเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และมีความเมตตากรุณาเป็นพื้นฐานหลักในจิตใจ”

หลักสูตรนี้มีวิธีการเรียนการสอน การประเมิน และการติดตามผลด้วยมาตรฐานสากล ทั้งยังจัดการเรียนการสอนแบบแนวตั้ง ที่มีการเรียนรู้จากตำราเรียน สื่อออนไลน์ และการปฏิบัติ โดยนับตั้งแต่อาทิตย์แรกของการเรียนนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากการทำงานจริงของแพทย์ในการดูแลคนไข้ ซึ่งนับว่าเป็นการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ต่างจากที่อื่น

เราได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายสถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศไทย ได้แก่ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นสถานฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลักในหลักสูตรนี้ ทั้งมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และโรงพยาบาลพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโรงพยาบาลร่วมสอน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2 ปริญญา ไทย-อังกฤษ

เมื่อถึงชั้นปีที่ 4 นักศึกษาแพทย์ไทยจะได้ไปเรียนและทำงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร เป็นเวลา 1 ปี โดยมี 23 สาขาที่หลากหลายให้นักศึกษาได้เลือกเรียนตามที่สนใจ ทำให้ได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการทำงานเป็นทีม ซึ่งนักศึกษาจะได้รับประสบการณ์ตรงมากกว่าการเรียนแบบท่องจำแบบเดิม

“ศ.นพ.นิธิ” กล่าวว่า บัณฑิตแพทย์ที่จบการศึกษา 7 ปี จะได้รับ 2 ปริญญา คือ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พบ.) – MD จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และปริญญา iBSc จากมหาวิทยาลัยยูซีแอล โดยแนวคิดของ 2 ปริญญาเกิดจากการที่องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงเสด็จไปต่างประเทศและได้พูดคุยกับทางมหาวิทยาลัยยูซีแอล เรื่องการส่งนักศึกษาแพทย์ไทยไปศึกษาและทำงานวิจัยร่วมกัน เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ไทยมีความรู้กว้างขวางขึ้น เรียนรู้เรื่องการวิเคราะห์ การวิจัย รวบรวมข้อมูลและรู้จักการแก้ไขปัญหา จนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ

“ตอนนี้มีนักศึกษาในหลักสูตรนี้และเป็นรุ่นแรกจำนวน 32 คน นักศึกษาที่เข้ามาเรียน ต้องผ่านเกณฑ์การคัดเลือกตามเกณฑ์มาตรฐาน ผ่านการสอบเรื่องภาษา เขียนพอร์ตโฟลิโอและผ่านการสอบสัมภาษณ์ โดยมีทุนการศึกษาของรัฐบาลสนับสนุนการเรียนในหลักสูตร เมื่อเรียนจบ 7 ปี มีการใช้ทุนทำงานรับใช้ประเทศเหมือนกันใช้ทุนทั่วไป โดยจะทำงานที่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ หรือโรงพยาบาลอื่น ๆ ก็ได้”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บุคลากรทางการแพทย์ที่ทาง ววจ. ต้องการผลิตจะแตกต่างจากที่อื่น คือ เป็นแพทย์ที่มีความเป็นผู้นำทีม มีความรับผิดชอบต่อคนไข้ โดยคุณหมอหนึ่งท่านจะสามารถดูแลและโฟกัสอาการของผู้ป่วยหนึ่งคนได้แบบองค์รวม เบ็ดเสร็จครบวงจร โดยไม่ต้องแยกไปรักษาทีละแผนกหากไม่จำเป็น รู้จักรักษาโรค รักษาใจ รักษาคน รวมถึงรู้จักคิดค้นคว้าวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สนองต่อพระปณิธานองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

กรณีศึกษาโรคโควิด-19

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้รู้ว่าประเทศไทยมีระบบพื้นฐานสาธารณสุขและอาสาสมัครประจำหมู่บ้านที่เข้มแข็ง และถือเป็นคีย์เลิร์นนิ่งสำหรับประเทศไทย เพราะยังมีหลายส่วนที่ต้องปรับให้ดีขึ้น

“ศ.นพ.นิธิ” อธิบายว่า โควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่ยังไม่มีคำแนะนำในตำรา ถึงที่ผ่านมามีคนทำการศึกษาวิจัยเรื่องโรคระบาดเยอะมาก แต่การจัดเก็บข้อมูลในประเทศไทยกระจัดกระจายไปอยู่หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งแต่ละหน่วยงานทำงานไม่เชื่อมต่อกันดีเท่าที่ควร

“แพทย์ยุคใหม่ ๆ ต้องมีความร่วมมือระหว่างวิชาชีพ เพื่อคิดวิเคราะห์หาตัวยาใหม่ ๆ มารักษาโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้น มีแนวคิดการทำงานร่วมมือกันอย่างจริงจัง และประเทศไทยต้องพัฒนาการเก็บข้อมูลที่เป็นศูนย์กลาง ซึ่งความร่วมมือมีความสำคัญต่อการตั้งรับกับสถานการณ์ที่แย่กว่านี้ หากโรคระบาดกลับมาใหม่และอยู่กับเราเป็นระยะเวลานาน”

นับว่าหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2563) ของ ววจ. เป็นหลักสูตรที่จะบ่มเพาะแพทย์ให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง รู้จักวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เป็นทั้งแพทย์และเป็นนักวิทยาศาสตร์