เมื่อโควิดซา พาสำรวจริมฝั่งโขง ที่ความเชื่อ ธรรมชาติ และปากท้อง เชื่อมโยงกับสายน้ำจากรุ่นสู่รุ่น

ทิวทัศน์แม่น้ำโขงที่มองเห็น 2 ฟากฝั่ง ไทย-สปป.ลาว มุมจากสกายวอล์ค ผาตากเสื้อ อ.สังคม จ.หนองคาย

เส้นทางที่ยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขงส่วนที่เป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว ตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ก่อนไหลออกสู่ประเทศลาวที่จังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำนานาชาติสายนี้ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตริมสองฝั่งโขงมาอย่างยาวนาน เชื่อมโยงประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต และก่อเกิดแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่งดงาม ชาวบ้านที่อาศัยริมฝั่งโขงต่างมีวิถีชีวิตที่ผูกพัน และพึ่งพาทรัพยากรปลาในแม่น้ำสายหลักที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ด้วยปลาหลากหลายชนิดที่เป็นแหล่งอาหาร อีกทั้งสร้างรายได้ หล่อเลี้ยงชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นให้กับพวกเขา

นายบัญญัติ ไฝ่จิต ประมงอำเภอพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เล่าย้อนไปถึงสมัยที่เขายังเด็กว่า ในพื้นที่อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี บริเวณแม่น้ำสองสี ที่แม่น้ำมูลบรรจบกับแม่น้ำโขง ทำให้ปลาชุกชุม โดยเฉพาะในฤดูน้ำแดงน้ำจะขึ้นสูงเต็มฝั่ง ต้นไม้หรือโขดหินที่เคยโผล่มาหน้าแล้งจะจมอยู่ใต้น้ำ ท้องน้ำจะเต็มไปด้วยเรือประมงขนาดเล็ก ชาวบ้านจะออกมาทำประมงในช่วงเย็น ออกหาปลา ปลาที่จับได้ในแถบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาธรรมชาติจาก 2 แม่น้ำสายหลักก็คือปลาแม่น้ำโขงและปลาแม่น้ำมูลวนเวียนเช่นนี้ทุกปี เมื่อหน้าแล้งมาถึงคนบนฝั่งจะสามารถมองเห็นต้นลำแซงที่เกิดบนดอนทรายกลางน้ำโขงได้ ตามริมตลิ่งจะมีการปลูกผัก ปลูกหญ้าเพื่อเป็นอาหารให้สัตว์

“ไม่ว่าระดับน้ำโขงตามธรรมชาติในแต่ละฤดูจะเป็นอย่างไร ชาวบ้านก็จะมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ถ้าไม่ได้จับปลา หน้าแล้งก็ไปทำไร่ ปลูกผัก และบางส่วนก็ไปทำการท่องเที่ยว ชาวบ้านที่มีบ้านติดแม่น้ำโขงก็ทำร้านอาหาร หรือแพปลา โซนที่อยู่ใกล้แม่น้ำโขงจะมีโฮมสเตย์ มีโรงแรม มีจุดเช็คอินต่างๆ เป็นการพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวในฤดูกาลต่างๆ ของคนริมโขง”

บรรยากาศการหาปลาในช่วงเช้าของคนริมฝั่งแม่น้ำโขง ในอ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

บรรยากาศการหาปลาในช่วงเช้าของหน้าฝนของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำโขง ในอ.เมือง จ.หนองคาย

ตัวอย่างของอาชีพประมงพื้นบ้านของผู้คนริมฝั่งโขง “นายสมนึก กอดแก้ว” ชาวโขงเจียม เล่าว่า เขาดำรงชีพด้วยการจับปลามานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพจับปลาจนกระทั่งถึงวันนี้ เขาและเพื่อนชาวประมงพื้นบ้านยังสามารถหาปลาในแม่น้ำโขงได้ทุกฤดู ยกเว้นช่วงเวลาที่ประมงจังหวัดออกกฎห้ามจับปลาโดยการใช้อุปกรณ์บางชนิดที่จะทำลายพันธุ์สัตว์น้ำในฤดูวางไข่ ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนกันยายน เพื่อเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรปลา

“เราหาปลาในแม่น้ำโขงช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ซึ่งจะมีปลาตาดำ (ปลาตะเพียน) ปลาปาก ปลาเอิน จะจับได้มากกว่าในแม่น้ำมูล ส่วนปลาตัวเล็กอย่างปลารากกล้วย ส่วนเดือนพฤษภาคม เราก็เข้าหาปลาในแม่น้ำมูล สลับกันหากินแบบนี้ทุกปี” เมื่อถามว่าปลาตัวใหญ่ที่เคยจับได้ในปีนี้เป็นอย่างไร นายสมนึก บอกอย่างภูมิใจว่า “ตัวใหญ่สุดช่วงนี้ก็ประมาณ 6-7 กิโลกรัม แต่ถ้าใหญ่พิเศษ 30 กิโลกรัม ก็เคยจับได้มาแล้ว ส่วนรายได้จากการจับปลาเดือนหนึ่งเฉลี่ย 1 หมื่นบาท ซึ่งช่วงที่จะหาปลาได้มากที่สุดในรอบปีจะมี 4 เดือน ส่วนฤดูหนาวกับฤดูแล้ง ก็จับปลาได้เช่นกัน แม้ไม่มากเท่าฤดูฝน แต่พอยังชีพได้ และหารายได้เสริมจากการวิ่งเรือโดยสาร รับส่งนักท่องเที่ยว” นายสมนึก อธิบาย

“ปลาที่ชาวประมงจับได้ในช่วงนี้ก็เช่น ปลายอน (ปลาสังกะวาด) ปลาเผาะ ปลากา (ปลาอีตู๋) ปลาเทโพ ปลายี่สก ส่วนใหญ่คนที่มาซื้อเราจะเป็นร้านอาหาร ชาวบ้านที่ประกอบอาหาร ปลาที่ขายได้ตลอดก็มีปลาคัง ปลาโจก ปลาเนื้ออ่อน” นายศิริยะ สีทน เจ้าของร้านปลาตี๋เล็กปลาสด ตลาดเทศบาลโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ที่ขายปลาแม่น้ำโขงทั้งแบบขายส่ง และขายปลีก บอกเล่าว่า ร้านของเขามีร้านอาหารใหญ่ๆ มารับซื้อต่อ โดยเขาจะรับซื้อปลาที่ชาวบ้านจับอีกทอดหนึ่ง จึงมั่นใจได้ว่าเป็นปลาที่จับได้จากแม่น้ำโขงจริงๆ โดยปลาที่รับซื้อจากชาวบ้านนั้นมีตลอดทั้งปี ต่างเพียงแค่ชนิดปลาในแต่ละฤดูเท่านั้น

บรรยากาศตลาดสดเทศบาลโขงเจียม แผงปลาตี๋น้อยปลาสด ของ “นายศิริยะ สีทน” คึกคักตั้งแต่เช้า

“ผมขายปลามาตั้งแต่เด็กๆ เพราะครอบครัวเราก็ขายปลา ขายปลาตลอด เรารู้จักปลาเยอะ รับซื้อเฉพาะปลาแม่น้ำ ปลาแม่น้ำส่วนท้องจะไม่ค่อยมีมัน และไม่มีกลิ่น ถ้าเป็นปลาแม่น้ำ ราคาอีตู๋ ถ้ารับซื้อ 280 บาท ขายออกไปกิโลละ 300 บาท ถ้าซื้อกิโลละ 100 ขายออกไป 120 บาท แต่ถ้าเป็นหน้าแล้งราคาขายปลาสูงขึ้นเพราะปลาหาได้น้อยลงเมื่อเทียบกับหน้าฝน เป็นไปตามกลไกตลาด โขงเจียมไม่เคยขาดปลา เพราะเรามีสองแม่น้ำ แม่น้ำโขงกับแม่น้ำมูล เราอยู่ริมโขงเราขายปลาธรรมชาติ เพราะขายง่าย ราคาสูง อย่างหน้าน้ำแดงปลาจะเยอะ ถ้าขายไม่หมดเราจะขายเป็นปลาหมัก ปลาแดดเดียว ถ้าทำไม่หมดก็ทำปลาร้า”

เมื่อพูดถึง “ปลาแม่น้ำโขง” ก็ชวนนึกถึงร้านอาหารริมฝั่งโขง ที่แม้ในสถานการณ์โควิด-19 จะต้องหยุดกิจการและขาดรายได้ไปไม่กี่เดือน แต่ปัจจุบันมีการสร้างสรรค์เมนูจากปลาแม่น้ำโขง และการขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาแม่น้ำโขงก็สามารถสร้างรายได้ให้กิจการไปต่อได้ “นางบุญเลิศ อุสสิทธิ์” เจ้าของครัวแม่แป๊ด ต.เมืองหมี อ.เมืองหนองคาย ที่เปิดร้านมานานกว่า 20 ปี แม้จะมีปัญหาขาดทุนเกือบ 1 ล้านบาทในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะต้องปิดร้านถึง 2 เดือน


แม่แป๊ด บอกว่า ถือเป็นโชคดีอยู่บ้างที่มีสวนผักที่ปลูกไว้เพื่อรองรับลูกค้าในช่วงเวลาปกติ ดังนั้นเมื่อต้องปิดร้านไปในช่วงที่คาดว่านักท่องเที่ยวเข้ามามากที่สุดอย่างเทศกาลสงกรานต์ ทางร้านก็ต้องแปรรูปปลาแม่น้ำโขงที่ซื้อสต๊อกไว้ ทำเป็นปลาร้า ปลาส้มบ้าง กระจายแจกจ่ายให้กับลูกน้อง และลูกค้าที่ประสงค์จะซื้อ ครัวแม่แป๊ดผ่านพ้นวิกฤตด้วยการทำอาหารกล่องส่ง โดยใช้เมนูจากปลาแม่น้ำโขงที่มี ทำขายในราคาถูก กล่องละ 40-60 บาท

“ถ้าไม่มีโควิด นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะมาไหว้พระ มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดหนองคาย ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นักท่องเที่ยวลดจำนวนลง แต่โชคดีแม่แป๊ดเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว ตอนนี้ภาครัฐเริ่มกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อช่วยผู้ประกอบการ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มสัมมนา กลุ่มการประชุม เริ่มเข้ามาที่ร้านมากขึ้น

แจ่วกุ้ง ต้มยำปลาแม่น้ำโขง
ปลานึ่ง ป่นปลา และผักลวก หมกพุงปลา

สำหรับปลาที่เป็นพระเอกในฤดูน้ำหลาก ก็คือปลาค้าว ปลาเนื้ออ่อน ปลาคัง ปลาเผาะ ที่สามารถนำมาทำอาหารได้หลายเมนู เช่น ลาบปลา ปลาเนื้ออ่อนราดน้ำปลา ต้มแซ่บปลาคัง แกงฉู่ฉี่ น้ำพริกปลา ปลานึ่งแจ่ว หมกพุงปลา เป็นต้น ซึ่งปลาแม่น้ำโขงส่วนใหญ่จะรับซื้อจากชาวบ้านที่เป็นชาวประมงโดยตรง มาจากหลายแหล่งทั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย จนกระทั่งถึง อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ

นางอุทัยศรี นันทะ แม่ค้าขายปลาน้ำโขง ใน อ.สังคม จ.หนองคาย

ทางด้านแม่ค้าขายปลาน้ำโขง ป้าอี้ด – นางอุทัยศรี นันทะ ที่รับซื้อปลาน้ำโขงจากชาวประมงใน อ.สังคม จ.หนองคาย ดูจะไม่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19 มากนัก เพราะร้านที่เปิดขายปลามากว่า 20 ปี ยังขายดิบขายดีและสามารถนำมาเลี้ยงชีพได้เพียงพอในทุกๆ ปี ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน จนเปิดเป็นร้านขายปลาน้ำโขงหลากหลายชนิด หลากหลายไซส์กันเลยทีเดียว

ป้าอี้ด บอกว่า ตนรับซื้อปลาจากชาวประมง ชาวบ้าน ซึ่งลูกค้าที่มาซื้อมีทั้งร้านอาหาร และซื้อเป็นของฝาก และซื้อเพื่อประกอบอาหารในครัวเรือน ดังนั้น เมื่อร้านอาหารปิด ลูกค้ากลุ่มที่เป็นครอบครัวยังมีอยู่ “ป้าขายปลาแม่น้ำโขงมา 20 ปีแล้ว เรียกได้ว่าขายปลาทุกอย่างที่เป็นปลาแม่น้ำโขง อย่าง ปลาหนังก็เช่น ปลาคัง ปลาแค้ ปลาหน้าหนู (สวายหนู) ปลาขบ ปลานาง ปลาเผาะ ฯลฯ ปลาเกล็ดก็เช่น ปลาโจก  ปลาเพี้ย ปลาตะเพียน ปลายี่สก โดยรับซื้อปลาจากชาวประมง ชาวบ้าน ขายให้ร้านอาหาร หรือคนในเมืองที่ผ่านไปผ่านมา ข้าราชการผู้ใหญ่ก็มาซื้อจากเรา เพราะมั่นใจว่าเป็นปลาแม่น้ำโขงจริงๆ และที่ปลาไม่เคยขาดจากร้านเพราะเมื่อขึ้นชื่อปลาแม่น้ำโขง คนก็เต็มใจซื้อ ที่ชาวบ้านที่จับปลานำมาขายให้เราเป็นประจำเพราะเรารับซื้อในราคาที่สูง จึงมั่นใจได้ว่ามาที่ร้านป้าอี้ดจะมีปลาแม่น้ำโขงให้กินตลอดทั้งปี” ป้าอี้ด กล่าว

ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่แม่น้ำสงครามไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง เกิดเป็นแม่น้ำสองสี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม

ฟากฝั่งชาวริมโขงใน ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม จุดที่ปากแม่น้ำสงครามกับแม่น้ำโขงที่ไหลมาบรรจบกันกลายเป็นแม่น้ำสองสี นอกจากรายได้จากการนักท่องเที่ยวที่มาพักโฮมสเตย์และชมวิวทิวทัศน์จากสองฝั่งแม่น้ำแล้ว เมนูปลาแม่น้ำโขงที่สามารถรับประทานได้ทั้งปี และยังสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ปลาส้มปลาโดกลับบ้านได้ด้วย ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและที่พักโฮมสเตย์ในแถบนี้มีรายได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ปลาที่จับได้มีเท่าเดิมแต่นักท่องเที่ยวน้อยลง ชาวบ้านไชยบุรีเองก็ปรับตัวเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ด้วยการนำภูมิปัญญาชาวบ้านตั้งแต่รุ่นปู่ย่ามาประยุกต์คู่กับการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่ามากขึ้น

“พี่ติ๋ม – นางเพ็ญนี เคามาก” เปิดแผงขายปลาแม่น้ำโขงแปรรูป ในบริเวณร้านอาหารปากน้ำ ไชยบุรี กล่าวว่า จุดบรรจบของแม่น้ำโขงและแม่น้ำสงครามมีความสมบูรณ์สูง ปลาชุกชุม จึงมีเรือเล็กพายมาหาปลาบริเวณนี้มากมาย โดยปกติแล้วร้านอาหารแถบนี้จะใช้ปลาแม่น้ำโขงในการปรุงอาหารให้กับลูกค้า และส่วนหนึ่งหากมีเหลือจะนำมาแปรรูปและสร้างมูลค่าให้ปลาซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า ยกระดับให้เป็นสินค้าของฝาก เช่น ทำปลาร้าปลาเนื้ออ่อน ปลายอนตากแห้ง แหนม ส่วนปลาส้มปลาโด ปลาตะเพียน ส่วนใหญ่จะใช้ปลาเลี้ยงในแม่น้ำโขง โดยก่อนหน้านี้ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่มาพักโฮมสเตย์ แต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวมาน้อย กลุ่มแม่บ้านที่นี่จึงเน้นขายผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาแม่น้ำโขงทางช่องทางออนไลน์ และขายตามงานโอทอปที่เปิดในกรุงเทพฯ (โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือเรียกย่อว่า โอทอป เป็นโครงการกระตุ้นธุรกิจประกอบการท้องถิ่น)

ชาวบ้านไชยบุรี เปิดแผงขายปลาแม่น้ำโขงแปรรูป สินค้ายอดฮิตคือ  ปลาตากแห้ง ปลาส้ม และแหนมปลา

“ปลาแม่น้ำบ้านเราจะเยอะมาก มีทุกฤดูกาล พอจับมาได้ ถ้าตัวใหญ่จะตัดเป็นชิ้นๆ ทำปลาร้า ทีนี้พอนักท่องเที่ยวเยอะขึ้น ปลาส้มขายดี แหนมขายดี สำหรับร้านอาหารที่ต้อนรับลูกค้า รับรองได้เลยว่าใช้ปลาแม่น้ำโขงจริงๆ คิดว่าหลังจากรัฐส่งเสริมให้คนเที่ยวในประเทศ หลังโควิด นักท่องเที่ยวคนไทยจะเริ่มกลับมาเที่ยวนครพนม และปากน้ำไชยบุรีมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังออกพรรษาเป็นต้นไป” พี่ติ๋มให้ความมั่นใจ

แม้ว่าขณะนี้พรมแดนระหว่างไทยและสปป.ลาว จะยังคงไม่เปิดให้เพื่อนบ้านสองประเทศข้ามฝั่งมาหากันอย่างที่เคย แต่วิถีชีวิตริมฝั่งโขงของไทยยังคงดำเนินไปไม่เคยเปลี่ยนแปลง บรรยากาศการหาปลาและซื้อขายปลาแม่น้ำโขงหลากหลายชนิดยังคงพบเห็นได้ทุกวันไม่เคยบางตา นอกจากนี้ยังมีเหลือเพียงพอนำไปแปรรูปเป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตให้กับชาวบ้านริมโขงอีกด้วย ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงสายนี้ยังคงอยู่ เป็นเช่นนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน