ด่านไร้ไม้กั้น M-Flow เบี้ยวหนี้…ปรับจริง 330-5,530 บาท

คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
ผู้เขียน : ณิชมน พุ่มยี่สุ่น

7 วันแรกของการใช้ระบบเก็บเงินค่าผ่านทางไร้ไม้กั้น “M-Flow” ของกรมทางหลวง เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มโซเชียล

“ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมเป็นสักขีพยานวินาทีประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเมื่อเวลา 22.00 น. กลางคืนวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม จุดพลุเปิดตัว “M-Flow” (Multi-Lane Free Flow) ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นอย่างเป็นทางการ

เริ่มโครงการนำร่องบนมอเตอร์เวย์ สาย 9 วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก (บางปะอิน-บางพลี) จำนวน 4 ด่าน ได้แก่ “ด่านเก็บเงินธัญบุรี 1-ด่านเก็บเงินธัญบุรี 2-ด่านเก็บเงินทับช้าง 1-ด่านเก็บเงินทับช้าง 2” หลังจากนั้น แผนลงทุนปี 2566 จะขยายเพิ่ม 60 ด่าน ปักหมุดเพิ่มเติมทางด่วนฉลองรัช บูรพาวิถี และกาญจนาภิเษกตามลำดับ

จนกว่าในอนาคตทางด่วนและมอเตอร์เวย์ทุกสายในไทยจะไม่มีไม้กั้นอีกต่อไป

กรมทางหลวงชี้มีผลตอบรับดี

จุดเริ่มต้นโมเดล M-Flow เป็นงานนโยบายใหม่ของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้ลั่นวาจาตั้งแต่ปี 2563 ยกระดับมอเตอร์เวย์และทางด่วนไทยให้ไร้ไม้กั้น กรมทางหลวง (ทล.) ผู้รับมอบนโยบายนำโมเดลต้นแบบจากประเทศเกาหลีใต้ และขยับขยายมาใช้ร่วมกับทางด่วนในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ด้วย

คำถามคือ ข้อแตกต่างระหว่างระบบบัตรตัดเงิน Easy Pass บนทางด่วนในเมือง กับบัตร M Pass บนมอเตอร์เวย์ แตกต่างกันอย่างไรกับระบบ M-Flow

จุดแตกต่างที่เห็นได้ชัดเรื่องแรก บัตร Easy Pass/M Pass ต้องเติมวงเงินไว้ในบัตร ถ้าเงินหมดไม่สามารถใช้ผ่านทางได้ ต้องจ่ายด้วยเงินสดแทน ซึ่งในชั่วโมงเร่งด่วนมีปัญหารถติดสะสมหน้าด่านจำนวนมาก

เรื่องต่อมาคือ แม้มีวงเงินในบัตร Easy Pass/M Pass แล้ว แต่การผ่านด่านต้องมีการชะลอความเร็วรถอยู่ดี ในขณะที่ M-Flow ได้นำระบบ video tolling แบบ AI ตรวจจับป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ รถวิ่งผ่านได้สะดวก รองรับความเร็วได้ถึง 160 กม./ชม. ระบายรถติดเร็วขึ้น 5 เท่า หรือชั่วโมงละ 2,000-2,500 คัน/ช่องทาง

หากระบบสมบูรณ์การวิ่งก่อนจ่ายทีหลัง หรือ postpaid มีช่องทางชำระเงินที่สะดวกด้วยคิวอาร์โค้ด ตัดบัตรเครดิตและบัญชีธนาคารในการติดตามชำระเงินมีระบบแจ้งเตือนผู้ใช้บริการผ่านแอปทางมือถือ มีออปชั่นให้เลือกจ่ายค่าผ่านทางทั้งแบบรายครั้งและแบบรายเดือน

 

สราวุธ ทรงศิวิไล
สราวุธ ทรงศิวิไล

“สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวว่า โมเดล M-Flow ได้นำร่องเปิดทดลองระบบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 และเปิดตัวเป็นทางการตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผลตอบรับ 7 วันแรกพบว่ามีผลตอบรับดีจากกลุ่มประชาชน สะท้อนจากผู้ลงทะเบียนสมัครใช้ M-Flow ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจำนวน 61,171 ราย คิดตามจำนวนรถทั้งสิ้น 67,399 คัน

ล่าสุดขณะนี้มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เฉลี่ย 10,000 ราย/วัน นับเป็นอัตราเพิ่มสูงมากเมื่อเทียบกับสถิติเปิดลงทะเบียนก่อนเปิด M-Flow ระหว่าง 29 ตุลาคม 2564-15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่มีผู้ลงทะเบียนสมัครสมาชิกเพียง 30,000 ราย

เริ่มต้นที่สมัครสมาชิก M-Flow

อย่างไรก็ตาม การเปิดใช้ M-Flow บนมอเตอร์เวย์ สาย 9 จำนวน 4 ด่านดังกล่าว มีการขยายช่อง M-Flow เป็น 5-8 ช่องขวาสุดของแต่ละด่านเก็บเงิน ทำให้ช่องจ่ายเงินสดและช่องบัตรตัดเงิน M-Pass/Easy Pass ลดลงจากเดิม 3-4 ช่อง ส่งผลให้ผู้ใช้ทางบางส่วนเกิดความสับสน และมีการเบียดแทรกเปลี่ยนเลนก่อนเข้าด่านเก็บเงิน กระทบปริมาณจราจรสะสมหน้าด่านหนักกว่าเดิมในชั่วโมงเร่งด่วน (rush hours) กลายเป็นที่มาของเสียงติชมบนโลกโซเชียล

เบื้องต้นกรมทางหลวงวาง 5 แนวทางแก้ไขรถติดหน้าด่าน เริ่มจาก 1.ปรับจำนวนช่องเก็บเงินสด-ช่อง M-Pass/Easy Pass ให้เหมาะสมกับผู้ใช้ในแต่ละด่าน 2.เพิ่มการประชาสัมพันธ์โดยช่องจ่ายเงินสดให้อยู่เลนซ้าย, ช่อง M-Pass/Easy Pass อยู่เลนกลาง และช่อง M-Flow อยู่เลนขวาสุด

3.ติดตั้งแบริเออร์และกรวยยางแบ่งช่องจราจรให้ชัดเจนล่วงหน้า 1 กิโลเมตร เพื่อจัดระเบียบผู้ใช้ทาง ลดการเบียดแทรก, เปลี่ยนเลนจราจรหน้าด่าน 4.ระดมเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก เก็บเงินในช่องเงินสดเพื่อให้ผ่านด่านได้รวดเร็วขึ้น

และเรื่องสำคัญ 5.ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ใช้ทางมอเตอร์เวย์สมัครสมาชิกระบบ M-Flow ให้มากขึ้น เพิ่มการแจกแผ่นพับที่หน้าด่านเก็บเงินมอเตอร์เวย์ และด่านเก็บเงินทางด่วน รวมทั้งแจกแผ่นพับในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven

“M-Flow จะสามารถเข้าใช้ได้เฉพาะรถยนต์ที่มีการสมัครสมาชิกแล้วเท่านั้น ห้ามรถยนต์ป้ายแดงหรือป้ายทะเบียนไม่ชัดเจนเข้าช่องดังกล่าว ส่วนรถยนต์ที่ยังไม่สมัครสมาชิกแต่เข้าเลนผิด ขณะนี้ยังอนุโลมให้ผ่านด่านได้แต่ต้องชำระค่าผ่านทางภายใน 2 วัน มิฉะนั้น จะถูกปรับเงินอย่างน้อย 10 เท่า”

ดึง 2 กฎหมายปรับ 184 เท่า

ประเด็น “ค่าปรับ” กลายเป็นฮอตอิสชูในชั่วข้ามคืน โดยการกำหนดค่าปรับมีกฎหมาย 2 ฉบับมารองรับ ได้แก่ “พระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพานปี 2497” กับ “พระราชบัญญัติทางหลวงปี 2535”

ยกตัวอย่างรถยนต์ 4 ล้อมีค่าผ่านด่านปกติ 30 บาท หากชำระภายใน 2 วันจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 30 บาท แต่ค่าปรับจะเกิดขึ้นทันทีหากจ่ายล่าช้าเกิน 2 วัน มีค่าปรับ 10 เท่า (ดูกราฟิกประกอบ)

อีกชอตคือ ถ้าจ่ายล่าช้าเกิน 12 วัน โทษปรับทวีคูณจนทำให้ค่าผ่านด่าน 30 บาท กลายเป็น 5,530 บาทไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ หรือมีค่าปรับสูงถึง 184 เท่าดังกล่าว