ย้อนรอยตลาดหุ้น หลังวิกฤตความขัดแย้งโลก จับตามุมมองการลงทุนเดือน มี.ค.

ย้อนรอยตลาดหุ้น หลังวิกฤตความขัดแย้งโลก กับ “วิวัฒน์ เตชะพูลผล รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บริษัท หลักทรัพย์  ทิสโก้ จำกัด  

วันที่ 7 มีนาคม  2565  จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศที่สร้างความกังวลและกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงอย่างหนัก  รวมถึงสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่าง ๆ  ก็ถูกเทขายยกกระดาน  ในขณะเดียวกันหากเราย้อนดูสถิติในอดีตที่ผ่านมาเราจะพบว่าทุกครั้งที่ความกังวลหรือความตึงเครียดนั้นคลี่คลายลง  ตลาดหุ้นมักเด้งตัวกลับหรือฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้

วันนี้เราจะพาทุกคนไปย้อนรอยตลาดหุ้น หลังวิกฤตความขัดแย้งโลก พร้อมมุมมองการลงทุนในเดือนมีนาคมนี้  กับ “วิวัฒน์ เตชะพูลผล รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บริษัท หลักทรัพย์  ทิสโก้ จำกัด  มานำเสนอ

ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศแบบนี้ ก็จะเป็นตัวที่กดดันสินทรัพย์เสี่ยงให้ร่วงลงมา โดยเฉพาะตลาดหุ้น หากเราย้อนดูสถิติเก่า ๆ เกี่ยวกับวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นในอดีต  SET INDEX มีการอ่อนแอหรือปรับฐานลงไปแค่ไหน เซ็กเตอร์ไหนบ้างที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด? 

ถ้าเราดูวิกฤตในอดีตที่เราพอจะนำมาเทียบกันได้ก็คือในปี 2513 ซึ่งก็นานมาแล้ว อันนั้นเป็นวิกฤตของกรณีของอ่าวเปอร์เซีย  ปรากฎว่าตลาดหุ้นทั่วโลกพอมีเรื่องเกี่ยวกับวิกฤตอ่าวเปอร์เซียก็ปรับตัวลดลงไปก่อน ช่วงนั้นอเมริกากับประเทศไทยปรับตัวลงไปประมาณ 15-20% จากจุดสูงสุด แต่หลังจากนั้นพอวันแรกที่อเมริกาเริ่มโจมตีในอ่าวเปอร์เซีย  ปรากฏว่าหุ้นขึ้นแรงแล้วก็ขึ้นไปกว่า 4 เดือนเต็ม ๆ  ซึ่งสถานการณ์ในครั้งนั้นกับครั้งนี้เปรียบเทียบกันผมว่าเปรียบเทียบไม่ได้ เพราะว่ามันผ่านมาแล้วยุคสมัยก็ผ่านไป แต่ว่าคราวนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นในยุโรปและก็ในรัสเซีย คนที่จะได้รับผลกระทบหนัก ๆ ก็จะอยู่ในยุโรป เพราะว่ารัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมัน เฉพาะซัพพลายน้ำมันจากรัสเซียจะอยู่ที่ประมาณ 8% ของโลก อันนี้ก็เลยส่งผลกระทบในเรื่องของราคาน้ำมันเรื่องของเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันล่าสุดก็ปรับตัวขึ้นไป 114 เหรียญต่อบาร์เรล ขึ้นไปถ้านับจากต้นปีขึ้นไปแล้ว 50%

อย่างไรก็ตามประเทศในแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย , ประเทศสิงคโปร์ , ประเทศไทย รวมถึงแทบประเทศ CLMV ทั้งหมดก็ได้รับผลกระทบน้อย เพราะฉะนั้นหุ้นประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ดีหมด  ตลาดหุ้นไทยก็จะสังเกตว่าปรับตัวลงไม่มากขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1,720 จุด และช่วงนี้ก็อยู่ที่ 1,695 จุด ก็เรียกได้ว่าปรับลงมาแค่เล็กน้อย ทั้งที่ยังมีการสู่รบในยูเครนอยู่ก็ตาม อีกอันหนึ่งที่น่าจะได้ผลกระทบในทางบวกก็คือพอมีปัญหาในยุโรปทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาในประเทศไทยเยอะ  จากต้นปีต่างชาติเข้าไปซื้อสุทธิเฉพาะช่วง 2 เดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมาซื้อสุทธิไปแล้วเกือบ 9 หมื่นล้านบาท ทางทิสโก้เราก็ประเมินว่าทั้งปีต่างชาติน่าจะซื้อสุทธิอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะสามารถดันดัชนีขึ้นไปได้ที่ 1,780 จุด  แต่ก็ต้องมาประเมินก่อนว่าการจบลงของสงครามยูเครนจะจบลงอย่างไร

ในกรณีของรัสเซียกับยูเครนทางทิสโก้เราก็มองว่าจะรบไม่นานเพราะว่าถึงแม้รัสเซียอาจจะชนะสงครามในสมรภูมิแต่ว่ารัสเซียน่าจะแพ้สงครามเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นของรัสเซียถ้าเทียบจากจุดสูงสุดตอนนี้ปรับตัวลงมาแล้ว 70% ซึ่งผมคิดว่าสำหรับยูเครนต้องยื้อให้นานที่สุด ส่วนสำหรับรัสเซียต้องให้เร็วที่สุด  เพราะฉะนั้นสงครามตรงนี้มันสู้ด้วยกันสองด้าน   หนึ่งคือยึดสมรภูมิ  สองอีกด้านหนึ่งคือทำลายเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมมองว่าต้องจบเร็วและต้องจบด้วยการเจรจากันจะดีที่สุด ฉะนั้นตลาดหุ้นเลยมีการปรับตัวขึ้นมาหมดเพราะตลาดหุ้นก็เป็นตัวที่จะสะท้อนเหตุการณ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน

เดือนมีนาคมนี้ค่อนข้างที่จะมีหลายปัจจัยที่ยังสร้างความกังวล แนะนำกลยุทธ์การลงทุนหรือแนวทางการลงทุนให้นักลงทุนหน่อยค่ะ ว่าควรจะลงทุนอย่างไรดี? 

ในเดือนมีนาคมนี้จะมีการประชุมธนาคารกลางหลายแห่ง เริ่มจากวันที่ 10 มี.ค.จะมีการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) แต่ ECB คาดว่ายังคงไม่ทำอะไรยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยติดลบอยู่ที่ 0.5% ส่วนการประชุมครั้งถัดไปของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16 มี.ค.ก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแค่ 0.25% อันนี้ประธานเฟด “เจอโรม พาวเวล” ได้พูดเอาไว้ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นเชิงที่เรียกว่าไม่มีผลกระทบต่อตลาด เดิมตลาดกังวลว่าจะขึ้น 50 bps. และขึ้นไม่หยุด 7-8 ครั้ง ปรากฏว่าตอนนี้โทนมันเริ่มเบาลงก็คือจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ทั้งปีน่าจะขึ้นที่ประมาณ 5 ครั้ง ครั้งละ 0.25% เพราะฉะนั้นสิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 1.5%   ซึ่งถ้าเกิดตลาดหุ้นสามารถเติบโตได้จะไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้น

แล้วก็อันถัดไปก็มีธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ  (Bank of England)  จะมีการประชุมต่อในวันที่ 17 มี.ค.นี้ ก็คาดว่าน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกที่ 25 bps. ซึ่งได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วหนึ่งครั้งและอาจจะขึ้นอีก  25 bps. เป็น 0.75%  และก็จะมีธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) BOJ แน่นอนนะเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นยังแย่ก็คงจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม  ส่วนของประเทศไทยก็จะมีการประชุมในวันที่ 30 มี.ค.ก็คงจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% อันนี้ก็จะเป็นภาพของตลาด  ภาพของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเราก็มองว่าถ้าเป็นแบบนั้นตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนนี้ น่าจะแกว่งตัวไซด์เวย์ ขึ้นก็น่าจะไม่เกิน 1,720 จุด ลงก็น่าจะไม่หลุด 1,580 จุด

กลยุทธ์การลงทุนเราก็จะเน้นไปในหุ้นที่ผลประกอบการไตรมาส 4/64  ออกมาดี ๆ  ที่ออกมาดีมาก ๆ จะเป็นหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล ที่เราชอบที่สุดก็จะเป็น บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS)   ส่วนโรงพยาบาลเล็ก ๆ อื่น ๆ ก็ดีนะครับ เล็ก ๆ อย่างพวก บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) หรือบมจ. โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG)  และอันถัดมาก็เป็นหุ้น บมจ.สยามแม็คโคร (Makro) ซึ่งมีผลประกอบการออกมาดี อีกตัวหนึ่งก็คือ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ซึ่งเป็นหุ้นในกลุ่มคอนซูมเมอร์ พวกนี้ผลประกอบการออกมาดี   อีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มพลังงาน  พลังงานตอนนี้เรามองตัวที่ราคายังไม่ปรับขึ้นไม่มาก (Laggard) จะเป็น บมจ.ปตท. (PTT ) คือตอนนี้เราจะเน้นหุ้นขนาดใหญ่เพราะว่าเราเชื่อว่าฟันด์โฟลว์ต่างชาติยังเข้าต่อเนื่อง


อีกตัวหนึ่งก็เป็น บมจ.บ้านปู (BANPU)  แล้วก็ในกลุ่มอีกตัวหนึ่งราคาน้ำมันพืช ปรากฏว่าราคาน้ำมันปาล์มขึ้นไปทำจุดสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี เพราะฉะนั้นเราก็มองตัว  บมจ.ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (CPI)  นอกนั้นก็จะเป็นหุ้นในกลุ่มที่เป็นไฟฟ้า ซึ่งกลุ่มไฟฟ้าข้อเสียคือปีนี้การเติบโต (growth) อาจจะไม่ค่อยดีแต่ข้อดีคือหรือการประเมินราคา (valuation) ได้ก็จะมีตัว บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO)  ที่ราคาปรับลงมาเยอะและยังจ่ายปันผลสม่ำเสมอ ส่วนนอกนั้นถ้าฟันด์โฟลว์ต่างชาติเข้ามาแล้วอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ก็ยังได้รับประโยชน์ เพราะฉะนั้นขนาดใหญ่ตอนนี้ตัวที่ราคายังไม่ปรับขึ้นไม่มากจะเป็น บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) สำหรับกลุ่มอาหารเราชอบตัว บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI)  เพราะราคาตกลงมาเยอะและการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV ในเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ