ความเฟื่องฟูวงการไอที “ยูเครน” ต้องสั่นคลอนเพราะพิษสงคราม

ไอทียูเครน
คอลัมน์ : Tech Times 
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

คนทั่วไปอาจเพิ่งรู้จักยูเครนหลังจากโดนกองกำลังรัสเซียถล่มอย่างหนักตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สำหรับคนในวงการเทคโนโลยี “ยูเครน” เป็นที่ยอมรับมานานแล้วในฐานะแหล่งกำเนิดของ “เทคสตาร์ตอัพ” เจ้าของนวัตกรรมระดับโลกมากมาย

โดยก่อนที่จะโดนกองกำลังรัสเซียโจมตี อุตสาหกรรมไอทีของยูเครนเฟื่องฟูถึงขีดสุด มีบริษัทไอทีที่ก่อตั้งโดยคนยูเครนกว่า 4,000 แห่ง และเป็นที่ตั้งของสำนักงานสาขา และศูนย์วิจัยและพัฒนาของบิ๊กเทคระดับโลกอีกกว่า 110 บริษัท ไม่ว่าจะเป็น Samsung, Microsoft, Snap, Boeing, Siemens และ Ericsson

ด้วยค่าครองชีพที่ถูก ประกอบกับการมีแรงงานที่เชี่ยวชาญด้านไอทีจำนวนมาก ทำให้ยูเครนเป็นจุดหมายแห่งการลงทุนของบิ๊กเทคจากทั่วโลก

แต่ละปีประเทศนี้ผลิตนักศึกษาด้านวิศวกรรมได้ถึงปีละ 130,000 คน และนักศึกษาเฉพาะทางด้านไอทีอีก 16,000 คน

ข้อมูลจากเว็บ UFuture ระบุว่า ปัจจุบันยูเครนมีผู้เชี่ยวชาญด้านไอที 240,000 คน และคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 450,000 คน ภายในปี 2024

ADVERTISMENT

แม้กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน จะถือว่าเป็น “ไอทีฮับ” ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่เมืองสำคัญอื่น ๆ ที่กำลังกลายเป็นซากจากการบุกโจมตีอย่างหนักของกองทัพรัสเซีย อย่างคาร์คีฟ หรือโอเดสซา ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางด้านไอทีเช่นกัน

แม้กระทั่งช่วงที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของยูเครนก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

จากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดในปี 2021 ของ TechCrunch พบว่า มีเทคสตาร์ตอัพที่ก่อตั้งโดยคนยูเครนกว่า 2 หมื่นแห่ง และมีบริษัท Fortune 500 กว่า 100 แห่งที่ใช้บริการไอทีจากบริษัทไอทีชั้นนำของยูเครน

นอกจากนี้ ยูเครนยังติดอันดับที่ 30 ของประเทศที่มีระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของโลก จากการจัดอันดับของ StartupBlink และติดอันดับที่ 50 ใน Global Innovation Index ประจำปี 2020

เพื่อฉายภาพให้ชัดขึ้นว่า นักประดิษฐ์และนักพัฒนาชาวยูเครนมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกอย่างไร วันนี้เรารวบรวมโซลูชั่นชั้นนำหลายตัวที่มีการใช้งานทั่วโลกมาให้อ่านกัน

เริ่มกันที่ Grammarly แอปพลิเคชั่นเกลาภาษา และไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกวันละ 30 ล้านคน พัฒนาขึ้นในปี 2009 โดยชาวยูเครน 3 คน ได้แก่ Max Lytvyn, Alex Shevchenko และ Dmytro Lider

ปัจจุบันเป็นเทคสตาร์ตอัพระดับ “decacorn” (บริษัทที่มีมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) เจ้าแรกของยูเครน โดยมูลค่าก่อนเกิดสงครามอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ตามมาด้วย Gitlab ซอฟต์แวร์ opensource ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากเพราะมีระบบการจัดการโครงการครบครัน พัฒนาขึ้นในปี 2014 โดย Dmitriy Zaporozhets และ Sid Sijbrandij ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 30 ล้านคน มีพนักงานทั่วโลก 1,200 คน ใน 65 ประเทศ และมีมูลค่าถึง 1.65 หมื่นล้านเหรียญ เป็น “decacorn” อีกแห่งจากยูเครน และเป็นสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

Traces.AI ซอฟต์แวร์ชื่อดังอีกตัวที่พัฒนาขึ้นโดยชาวยูเครน ในปี 2014 เพื่อช่วยตามหาคนด้วยการใช้เทคโนโลยี AI ในการประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ แทนการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่นักพัฒนามองว่าเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว และมีโอกาสคลาดเคลื่อนจากอคติด้านเชื้อชาติและสีผิว

Netpeak บริษัทที่ให้บริการ “ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง” ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ก่อตั้งโดย Dmitrii Piskarev, Andrey Chumachenko และ Artyom Borodatyuk ในปี 2006

ปิดท้ายกันที่ RefaceAI ซอฟต์แวร์ตัดต่อ สลับหน้าด้วยระบบ AI ที่กำลังมาแรงทั้งในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป และในวงการบันเทิง และเกมมิ่ง ก่อตั้งโดย Dmytro Shvets, Ivan Altsybieiev, Roman Mogylnyi, Oles Petriv และ Yaroslav Boiko ในปี 2011

ความสำเร็จด้านเทคโนโลยีของยูเครนเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นว่า ทุกวันนี้โลกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่ไร้พรมแดน

“ยูเครน” อาจเป็นประเทศที่ดูห่างไกลในสายตาของใครหลายคน และพลอยทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนยูเครนดูเป็นเรื่องไกลตัวไปด้วย ถึงขั้นที่มีแม่ค้าออนไลน์บางคนนำสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย มาทำเป็นมุขขบขันเพื่อเรียกยอดขายในสื่อโซเชียลบ้านเราได้

แต่ความจริงแล้ว “สงคราม” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวในโลกปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ข้อมูลข่าวสาร ล้วนเชื่อมต่อถึงกันหมด

หากไม่มืดบอดจนเกินไป เราย่อมรับรู้ถึงผลกระทบจากสงครามกันทั้งนั้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อค่าครองชีพที่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

วันนี้ไม่มีใครรู้ว่า สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะจบอย่างไร แต่ยิ่งยืดเยื้อก็ยิ่งนำความสูญเสียมาให้ และ 1 ในความสูญเสียที่จะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมระดับโลก คือ ความสูญเสียในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของยูเครน ที่ต้องมาหยุดลงเพราะ “สงคราม” อย่างน่าเสียดาย