ดร.ปรเมธี เข็นไทยขึ้น New Chapter ปรับภูมิทัศน์การเงิน การคลัง หลังยุคโควิด

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ

ประเทศไทยติดหล่มเศรษฐกิจ ตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคโควิด-19

ความท้าทายของรัฐบาลเดียว 8 ปี คือ เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า หลังไทยเข้าสู่ยุคโรคประจำถิ่น พร้อมกับเส้นทางที่เลือกไม่ได้ทางใดทางหนึ่ง ระหว่างเศรษฐกิจที่ต้องการเติบโตแบบมีเสถียรภาพ และต้องใช้งบประมาณ เงินกู้ มหาศาลเพื่อดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง

“ดร.ปรเมธี วิมลศิริ” ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ทางออกที่เป็นไปได้ไว้ใน “เศรษฐกิจ New Chapter” สัมมนาประจำปี ประชาชาติธุรกิจ ก้าวสู่ปีที่ 46

ปัจจัยอะไรคือสมดุลใหม่ใน “สภาวะแวดล้อมใหม่ทางเศรษฐกิจและการเงิน”

ไทย “ศก.โตต่ำ-เงินเฟ้อสูง” เกินคาด

“ดร.ปรเมธี” กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2565 ออกมาขยายตัวค่อนข้างดีที่ 2.2% สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ได้ปรับประมาณการทั้งปีลงเหลือ 3% ใกล้เคียงกับของ ธปท. ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ สศช.คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 4.9% สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานความไม่แน่นอน ทั้งจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่อาจจะยืดเยื้อ รวมถึงการปรับรูปแบบนโยบายการเงินของสหรัฐ และประเทศต่าง ๆ ที่เศรษฐกิจฟื้นแรง ที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ

ส่วนประเทศที่ยังไม่เข้มแข็ง รวมถึงไทย ก็ต้องดูแลให้มีความสมดุลระหว่างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกับเงินเฟ้อ

“ประมาณการเศรษฐกิจของ สศช. และ ธปท. อยู่บนสมมติฐานด้านการท่องเที่ยว ว่าต่างชาติจะเข้ามา 5-6 ล้านคน ขณะนี้เรียกได้ว่าเป็นการฟื้นตัวบนความไม่แน่นอน เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด และเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด”

โจทย์ใหญ่รัฐบาล “เพิ่มรายได้-ลดหนี้”

ช่วงหลังวิกฤตโควิด โจทย์แรกที่ต้องกลับมาแก้ไขคือ ฐานะการคลัง ซึ่งประเทศไทยยังมีเสถียรภาพ แต่ความสามารถในการใช้เครื่องมือทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหลือน้อยลง เพราะหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 58% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปัจจุบัน และจากการคาดการณ์ที่ว่าจะต้องมีการจัดงบประมาณขาดดุลทุกปี ระดับหนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นไปที่ 67% หรือมากกว่านั้นในปี 2569

“เราอยู่ในโลกที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน อาจจะเจอวิกฤตที่ไม่คาดคิดได้เสมอ ฉะนั้นเมื่อพ้นโควิดไปแล้วก็ควรจะจัดการให้หนี้สาธารณะกลับเข้ามาอยู่ในกรอบ 60% ต่อจีดีพี เพื่อให้มีความสามารถ และกระสุน มีช่องให้ใช้นโยบายการคลังได้ หากเจอวิกฤตที่ไม่คาดคิดอีก โดยโจทย์การหารายได้รัฐ และการบริหารงบประมาณที่มีจำกัด จะเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลชุดต่อไป”

ส่วนนโยบายการเงิน ที่ผ่านมามีการลดดอกเบี้ยลงจนเหลือระดับ 0.5% ในปัจจุบัน แต่แนวโน้มระยะต่อไปก็ต้องปรับขึ้น ซึ่งต้องรอดูจังหวะที่เหมาะสมต่อไป

ห่วงเหลื่อมล้ำเพิ่ม-คุณภาพคนถดถอย

“ดร.ปรเมธี” กล่าวอีกว่า ด้านที่สอง ต้องแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำ โดยโควิดมีผลกระทบรุนแรงต่อคนมีรายได้น้อย แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ยังขยายการลงทุนได้ โดยการว่างงานและหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบด้านสังคม และกลุ่มที่เปราะบาง ฉะนั้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะเป็นประเด็นสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ชาติ

ด้านที่สาม คุณภาพคนที่ถดถอยลง เพราะในช่วงวิกฤตโควิดเกือบ 2 ปี เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน จึงอาจส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่จะลดลง ขณะที่นักศึกษาจบใหม่ยังหางานไม่ได้ เป็นสัดส่วนที่สูงในจำนวนคนที่ยังว่างงานอยู่ อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาว

“ด้านที่สี่ เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำกว่าเสถียรภาพ ซึ่งการท่องเที่ยวที่เป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจต้องใช้เวลา กว่าจะเห็นนักท่องเที่ยวกลับมาในระดับ 40 ล้านคน ฉะนั้น เศรษฐกิจไทยจึงยังมีลูกสูบที่ยังไม่ได้วิ่งเต็มที่ อาจจะขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ”

ด้านที่ห้า การปรับตัวใช้เทคโนโลยีรวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการปรับตัวเรื่องนี้ได้ดีในช่วงวิกฤตโควิด

“เมื่อเห็นภาพนี้แล้ว ถามว่าเราอยากเห็น New Chapter เศรษฐกิจไทยอย่างไร ส่วนตัวนั้นอยากเห็นความมั่นคงของมนุษย์ และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม”

สำหรับความมั่นคงของมนุษย์ New Chapter ของเศรษฐกิจไทย ควรจะต้องมีระบบสวัสดิการที่มาปิดช่องว่าง ทำให้คนมีความมั่นคงมากขึ้น เช่น มีระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบอีก 21 ล้านคน มีการให้ความรู้ และฝึกทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้แรงงานทำงานกับเครื่องจักรหุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ และหากจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะต้องเป็นระบบสวัสดิการที่มีความต่อเนื่อง ให้ทุกคนสามารถยืนได้

เศรษฐกิจต้องเติบโตบนคุณภาพ

ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต้องไม่เหมือนเดิมคือ ต่อจากนี้ไปจะต้องสร้างเศรษฐกิจที่มาจากคุณภาพในทุกสาขา เช่น ในภาคการเกษตร ที่ไทยใช้เงินอุดหนุนมากเป็นอันดับต้น ๆ ในโลก ต้องเริ่มจำกัดการประกันราคาพืชผลที่เป็นการให้เปล่า แล้วเปลี่ยนไปใช้เงินการอุดหนุนที่เพิ่มค่าให้ผลผลิตได้

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่จะให้คุณค่าต่อการท่องเที่ยวเพื่อดึงรายได้ได้มากขึ้น ดึงคนเที่ยวนานขึ้น และหากจะรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (new s-curve) ยังต้องการสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยจากเอกชน และการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่การจัดงบประมาณของภาครัฐยังเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจเก่าที่จะต้องเพิ่มงบประมาณสนับสนุนเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้

“New Chapter เป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนที่สามารถไขว่คว้าได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงยิ่งเยอะ โอกาสก็ยิ่งมาก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าบริการที่ตอบโจทย์ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ดิจิทัล และ soft power ส่วนภาครัฐจะเป็นโจทย์ที่หนัก เพราะมีโจทย์ที่ยาก ต้องการยาแรงและได้ผลมากขึ้น ก็ขอฝากผู้มีเกียรติพิจารณาไว้เป็นคู่มือประกอบการเลือกตั้งในคราวหน้า”

ธปท.สร้าง New Chapter ธุรกิจการเงิน

สำหรับ ธปท. พร้อมสนับสนุน New Chapter เศรษฐกิจไทย โดยขณะนี้กำลังทำ new financial landscape เพื่อพิจารณาว่าภาคการเงินจะต้องทรานส์ฟอร์มธุรกิจอย่างไรให้ตอบโจทย์ New Chapter ของเศรษฐกิจไทยให้ได้ เช่น เทคโนโลยีของดิจิทัลไฟแนนซ์ ก็จะเปลี่ยนรูปแบบสถาบันการเงินไปเป็นโอเพ่นแบงกิ้ง ที่มีการจัดการข้อมูลของตัวเอง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่านี้ และการให้บริการทางการเงินที่ไม่ต้องมีสาขา หรืออาจจะแฝงตัวไปรวมในแพลตฟอร์มอื่น ๆ หรืออาจจะมีผู้ประกอบการน็อนแบงก์ ทั้งในต่างประเทศและในประเทศที่ต้องการเข้ามาร่วมให้บริการ


“อยากบอกว่าอนาคตเป็นเรื่องที่เราต้องสร้าง ก็เชิญชวนทุกท่านในแต่ละบทบาท ช่วยกันเขียน New Chapter ให้เศรษฐกิจไทย” ประธานบอร์ดแบงก์ชาติกล่าวทิ้งท้าย