จาก “เบร็กซิต” ถึง “วินเซอร์” เส้นทางเปลี่ยนผ่านในเมืองผู้ดี

AFP PHOTO / POOL / Dominic Lipinski

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เจ้าชายแฮร์รีแห่งราชวงศ์อังกฤษ พร้อมพระคู่หมั้น”เมแกน มาร์เคิล” ได้เยือนย่านบริกซ์ตัน ซึ่งเป็นย่านที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติในลอนดอน ถือเป็นการออกงานอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 ภายหลังจากพิธีหมั้นปีที่แล้ว

บริกซ์ตันมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำเชื้อสายแคริบเบียน เจ้าชายและพระคู่หมั้นได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและได้ทำกิจกรรมร่วมกับวัยรุ่นในแถบนั้น โดยจัดรายการวิทยุชุมชน

นักวิเคราะห์ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของราชวงศ์อังกฤษระบุว่า นี่อาจจะเป็นหนึ่งในแผนโปรโมตของสำนักพระราชวังที่เลือกย่านบริกซ์ตันในการลงพื้นที่ เนื่องจากมาร์เคิลเป็นลูกครึ่งผิวขาว-ผิวสี และกำลังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์อังกฤษอย่างเต็มตัวในพฤษภาคมปีนี้

นี่จึงอาจเป็นความพยายามในการรีแบรนด์ครั้งใหม่ของราชวงศ์อังกฤษ ให้เข้ากับค่านิยมปัจจุบัน ซึ่งให้ความสำคัญต่อความหลากหลาย เพราะมาร์เคิล ถือเป็นผู้หญิงที่ผิดไปจากสตรีในราชวงศ์ก่อนหน้านี้สิ้นเชิง มาร์เคิลเป็นม่ายสาววัย 36 ปี อายุมากกว่าเจ้าชายแฮร์รี 3 ปี เป็นสาวผิวสีชาวอเมริกัน และเป็นนักแสดงมาก่อน อย่างไรก็ตาม มาร์เคิลก็เป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบด้านการศึกษาและการช่วยเหลือสังคม เธอจบปริญญาโทด้านสังคมสังเคราะห์และทำงานร่วมกับสหประชาชาติมาก่อน

ดังนั้นจึงมีโอกาสสูง ที่มาร์เคิลจะได้รับการจับตาว่าอาจมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ไม่น้อย เหมือนสมัยเจ้าหญิงไดอาน่า ซึ่งพระองค์ทำงานเพื่อสังคมอย่างเต็มที่

ขณะที่ความงามและการวางตัวของเธอก็ได้ทำให้เป็นที่สนใจจากสังคมและสื่อมวลชน พระองค์ได้แหกขนบการแต่งกายของราชวงศ์เพื่อใช้ชุดที่สวมใส่สื่อสารกับโลกภายนอก เป็นพระองค์แรกที่จับต้องตัวผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วยมือเปล่า เป็นสมาชิกที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ราชวงศ์ให้ทันสมัยขึ้น และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของเจ้าชายแฮร์รีครั้งนี้ อาจสืบเนื่องจากกระแสเมื่อ 2 ปีก่อน ที่กลุ่มเคลื่อนไหวรีพับลิกแห่งสหราชอาณาจักรประกาศว่าจะหนุนให้มีการลงประชามติว่าประเทศควรมีสถาบันกษัตริย์ต่อไปหรือไม่ หลังจากที่พระราชินีอลิซาเบธที่ 2 สิ้นพระชนม์ลง เนื่องจากมองว่าสถาบันกษัตริย์ยุ่งเกี่ยวการเมืองและใช้เงินภาษีมานานเกินไป

“เกรแฮม สมิธ” ผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวระบุว่า การลงประชามติจะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ และเชื่อว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน

ทำให้ในเวลาไล่เลี่ยกัน พระราชินีอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษได้พยายามออกมาปฏิรูปราชวงศ์อังกฤษให้ทันสมัยมากขึ้น เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ด้วยพระองค์ทราบดีว่า ราชวงศ์ยึดอยู่กับขนบเก่าแก่ของความเป็น “ผู้ดี” มานานเกินไปแล้ว

และไม่เพียงแต่ราชวงศ์อังกฤษเท่านั้นที่เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง ทางด้านการเมืองของอังกฤษก็มีความท้าทายเช่นกัน เมื่อแผนการถอนตัวจากสหภาพยุโรปหรือเบร็กซิตกำลังคืบหน้า โดยเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา “อังกฤษและอียู” ได้บรรลุความตกลงหลักร่วมกัน ผ่าทางตันการเจรจาที่ยืดเยื้อมานาน ทั้งเรื่องการคุ้มครองสิทธิพลเมืองในอังกฤษและอียู ค่าใช้จ่ายในการถอนตัว และข้อตกลงที่จะไม่มีการตั้งด่านพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ

ขณะที่การเจรจา “ข้อตกลงทางการค้า” ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดสำหรับเบร็กซิต ก็คงต้องลุ้นกันยาว ๆ ว่าจะเดินหน้าไปได้ด้วยดีตามที่ “เทเรซา เมย์” นายกรัฐมนตรีเกาะอังกฤษ คาดหวังเอาไว้หรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปอาจจะไม่เสร็จสิ้นในระยะเวลา 3 ปีที่ตั้งเป้าเอาไว้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โลกจะได้เห็นสหราชอาณาจักรเปลี่ยนโฉมใหม่ในหลายด้านอย่างที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน