เมียนมาเมินด้านมืด เหมืองแร่หายาก ยอมลุยทำลายตัวเอง ทุ่มส่งออกจีน

เหมืองแร่หายาก
A depiction of a rare earth mining operation in Myanmar. (AP Illustration/Peter Hamlin)

เอพีรายงานเชิงสืบสวนสอบสวนถึงความลับดำมืดของอุตสาหกรรม เหมืองแร่หายาก ของเมียนมา

วันที่ 13 สิงหาคม 2565 สำนักข่าว เอพี สหรัฐ เผยแพร่รายงานเจาะลึกของ เดก คัง, วิกตอเรีย มิลโก และ ลอรี ฮิลแนนต์ ถึงความลับดำมืดของอุตสาหกรรม “แร่หากยาก” ในเมียนมา ที่ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ที่ยอมทำลายตัวเองเพื่อสิ่งที่ดีของโลก

การตรวจสอบครั้งนี้ ใช้การสัมภาษณ์ การรวบรวมข้อมูลและสถิติของบริษัทต่างๆ  รวมทั้งเอกสารวิชาการของจีน ภาพถ่ายดาวเทียมและการวิเคราะห์ภูมิศาสตร์จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Global Witness

เหมืองแร่หายาก
เหมืองแร่หายากแห่งใหม่ที่เมืองปังวอ Pangwa รัฐกะฉิ่น เมียนมา Global Witness via AP)

พบความเชื่อมโยงกับบริษัทซัพพลายเชน 78 แห่ง

แร่หายากเป็นส่วนประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ฮาร์ดไดรฟ์โทรศัพท์มือถือ ลิฟต์รถไฟ รวมไปถึงพลังงานสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น กังหันลม และรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี

ที่ป่าทางตอนเหนือของเมียนมาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุหายากหลายชนิดเหมือนเป็นวิตามินของโลกสมัยใหม่ แต่ในพื้นที่ตอนนี้ นกไม่ร้อง พืชสมุนไพรไม่เติบโต ปลาไม่ว่ายน้ำเพราะน้ำแปรเป็นโคลนเหนียว สัตว์ต่าง ๆ ไม่ออกเดินเตร็ดเตร่ และบางครั้งก็พบวัวล้มตาย

สัตว์ป่าที่หายไปหลังการทำเหมืองแร่หายาก ทั้งเสือ แพนด้าแดง และตัวนิ่ม (AP Illustration/Peter Hamlin)

ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ป่าสูญเสียวิถีชีวิตที่ย้อนกลับไปหลายชั่วคน หากใครออกมาเรียกร้องประท้วงอะไร ก็จะเผชิญกับคำขู่คุกคามเอาชีวิต

จูลี มิเชลล์ คลิงเจอร์ ผู้แต่งหนังสือ “Rare Earths Frontiers” (ด่านหน้าแร่หายาก) กล่าวว่าการทำเหมืองแร่หายากส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บริษัท 1 ใน 3 ตอบคำถามสัมภาษณ์ แต่ 2 ใน 3 ไม่ขอออกความเห็นและเกือบทั้งหมดกล่าวว่าใส่ใจความคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่

กฎหมายไม่ครอบคลุมแร่หายาก

ปี 2010 สภาคองเกรสของสหรัฐ กำหนดให้บริษัทต่าง ๆ เปิดเผยที่มาของ แร่ธาตุที่มีความขัดแย้ง เช่น แทนทาลัม ดีบุก ทองคำ และทังสเตน ซึ่งมีที่มาจากความขัดแย้งในคองโก รวมทั้งให้สัญญาว่าจะไม่ได้มีผลประโยชน์ต่อกลุ่มติดอาวุธ

แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้รวมถึงแร่หายาก ดังนั้น การตรวจสอบที่มาของแร่หายากจึงขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทและไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบ

กระสอบบรรจุแร่หายาก ที่รัฐกะฉิ่น เตรียมส่งไปจีน (Global Witness via AP)

ส่วนสหภาพยุโรปก็ไม่ได้กำหนดให้แร่หายากรวมอยู่ในข้อกำหนดแร่ที่มีความขัดแย้ง จึงมีช่องว่างในการกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทานที่ขยายไปถึงยุโรป

เมื่อไม่มีข้อกำหนดหรือทางเลือก บริษัทต่าง ๆ จึงจัดส่งแร่หายากโดยไม่มีการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือที่เรียกว่า ESG

หากต้องการตรวจสอบ ESG การผลิตแร่หายากทั้งหมด จะเป็นอย่างไร

โธมัส คูมาร์ ผู้อำนวยการ Ginger International Trade & Investment ซึ่งดูแลด้านการจัดการซัพพลายเชนแร่และโลหะตอบได้เลยว่า การผลิตร้อยละ 70 จะต้องปิดตัวลง

rare earth เตรียมส่งจากเมียนมาไปจีน / Global Witness via AP

แร่หายากล้ำค่าเหมือนน้ำมัน

สหรัฐอเมริกาลงทุนเหมืองแร่หายากในจีนช่วงทศวรรษที่ 1980 เพราะเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและต้นทุน

ส่วนเติ้ง เสี่ยวผิง ประธานาธิบดีจีนในขณะนั้น ประกาศว่าแร่หายากเป็นคำตอบของจีนเหมือนกับตะวันออกกลางมีน้ำมันชาวจีนในชนบทหลายหมื่นคนจะหารายได้จากการทำเหมืองมากกว่าทำการเกษตรทั้งปี

อุตสาหกรรมเหมืองแร่หายากในจีนรุ่งเรืองหลายทศวรรษและกลายเป็นนักขุดแร่หายากแนวหน้าของโลก แต่เมื่อจีนถูกวิจารณ์หนัก เจ้าหน้าที่จีนจึงประกาศสงครามกับอุตสาหกรรมสกปรกของประเทศ รวมถึงการขุดแร่หายาก

ขณะที่ทั่วโลกมีความต้องการแร่หายากมากขึ้น คาดว่าความต้องการจะเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 300 เป็น 700 ภายในปี 2040 ซึ่งสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศระบุว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

รั้วกั้นชายแดนฝั่งเมียนมา ที่รัฐกะฉิ่น กับจีน. (Global Witness via AP)

แคลร์ แฮมมอนด์ นักวิจัยอาวุโสของ Global Witness ซึ่งทำงานที่เมียนมากล่าวว่า ความต้องการแร่ธาตุเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก เพราะเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวที่เพิ่มขึ้นต้องการแร่หายากเป็นส่วนประกอบ

ความต้องการแร่หายาก สวนทางกับการปิดเหมืองแร่ในจีน หลังจากรัฐบาลจีนเริ่มบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดที่สุดในโลกและสั่งปิดเหมืองบางแห่ง

แต่จีนมองหาแหล่งทรัพยากรที่ใหม่ในเมียนมา ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่หายากบางชนิดที่มีค่าที่สุดในโลกทำให้คนงานเหมืองหลายพันคนในมณฑลเจียงซีของจีนข้ามพรมแดนไปทำมาหากิน

รวมทั้ง กัว” ซึ่งได้รับโทรศัพท์ติดต่อให้ไปทำงานเหมืองในเมียนมาในปี 2019 (พ.ศ. 2562) แม้ว่าต้องกินอยู่อย่างลำบากในป่าและทำงานหนักในเหมืองเอกชนขนาดเล็กที่ไม่มีใบอนุญาต ซึ่งขายแร่ให้กับเหมืองยักษ์ใหญ่ในจีนโดยตรง

คนงานฉีดแอมโมเนีย ซัลเฟตเข้าไปในหลุม เพื่อละลายแร่หายากออกมา (Global Witness via AP)

จีนนำเข้าจากเมียนมาพุ่ง 100 เท่า

ข้อมูลการค้าของสหประชาชาติระบุว่า ตั้งแต่ปี 2015 จีนนำเข้าจากเมียนมาสูงขึ้นเกือบ 100 เท่า และศุลกากรของจีนเปิดเผยว่า เมียนมาเป็นแหล่งผลิตแร่หายากแหล่งใหญ่ที่สุดเพียงแห่งเดียวของจีนซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของอุปทานทั้งหมด

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหมืองในเมียนมามีเพียง 2-3 แห่งเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีหลายร้อยแห่ง กัวคาดว่าจะขยายเป็นหลายพันแห่งในเวลาไม่ช้า และอีกไม่นานแร่หายากในเมียนมาจะหมดไป แต่กัวไม่สนใจเรื่องการอนุรักษ์หรือการเมืองอยู่แล้ว สิ่งที่เขาสนใจอย่างเดียวคือเงิน

เหมืองแร่หายาก
ภาพดาวเทียมตรงจุดทำเหมืองแร่หายากที่ัรัฐกะฉิ่น This 2022 satellite image provided by Planet Labs shows rare earth mining pools northwest of Myitkyina, Kachin  (Planet Labs via AP)

แหล่งน้ำสีฟ้าเทอร์ควอยซ์แต่เป็นพิษ ล้อมรอบด้วยป่าในเวลาเพียงไม่กี่ปี เพราะแร่หายากซ่อนตัวในดินเหนียวอ่อนนุ่มและอยู่ใกล้ผิวดินทำให้ขุดหาได้ง่าย

ภาพดาวเทียมที่ได้จาก Global Witness แสดงให้เห็นแหล่งขุดหาแร่กว่า 2,700 แห่ง ในสถานที่ต่าง ๆ เกือบ 300 แห่ง 

สารพิษปนเปื้อนทั้งน้ำและดิน

สารชะล้างทำให้แม่น้ำสายหลักของเมียนมาปนเปื้อนพิษเป็นเหตุให้เกิดดินถล่ม และทำให้ดินเป็นพิษน้ำใช้กินไม่ได้และสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เสือตัวนิ่มและแพนด้าแดงหนีออกจากป่าไปแล้ว

ชาวบ้านคนหนึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับแม่น้ำที่อยู่ห่างจากแหล่งเหมืองขุดหาแร่หายากเพียง 24 กิโลเมตร ภรรยาของเขาเคยจับปลาไปขาย แต่ตอนนี้กินปลาไม่ได้ เพราะปนเปื้อนสารพิษจึงต้องซื้อปลาจากที่อื่น ซึ่งราคาแพงกว่ามากินและทุกครั้งที่ลุยน้ำเท้าจะรู้สึกคัน

ขยะจากเหมืองแร่หายากที่รัฐกะฉิ่น (Global Witness via AP)

พื้นที่ทำเหมืองอยู่ในเขตของกองกำลังติดอาวุธซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกองกำลังรักษาชายแดนที่มีกองทัพเมียนมาสนับสนุน เงินที่ได้จากแร่หายากจึงอาจส่งไปเป็นกองทุนให้กับกองทัพเมียนมาปราบปรามพลเรือน

เมื่อผู้นำหมู่บ้านร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบของการขุดแร่หายากและการทดสอบดินเพาะปลูกชะโก วอลนัทและเลี้ยงปศุสัตว์ ก็ถูกผู้นำกองกำลังติดอาวุธระดับสูงตอบกลับมาด้วยความโกรธเกรี้ยวว่าจะเดินหน้าทำเหมืองต่อไป ไม่ว่าจะมีข้อตกลงหรือไม่ก็ตาม ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าบ่นอีกเลย เพราะเกรงว่าหากพูดอะไรไป อาจจะถูกเฆี่ยนตีหรือถูกจับเข้าคุก

แร่เถื่อนขายให้จีนเท่านั้น

แร่หายากที่ขุดอย่างผิดกฎหมายในเมียนมาจะขายให้จีนเท่านั้น เพราะเป็นทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ของจีนและส่งไปขายทั่วโลก

บริษัท China Southern Rare Earth หนึ่งในผู้ผลิตแร่หายากที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้แร่หายากจากเมียนมาร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือมาจากการรีไซเคิลโดยไม่มีการขุดแร่หายากในจีน

ส่วนบริษัท Minmetals ผู้ผลิตรายใหญ่อีกรายแจ้งกับผู้ถือหุ้นในรายงานประจำปีว่า บริษัทต้องนำเข้าแร่หายากอีกมาก เพราะเหมืองในจีนผลิตไม่เพียงพอ และบริษัท Rising Nonferrous ซึ่งเป็นบริษัทที่ 3 ระบุว่า ได้รับการอนุมัติจากศุลกากรจีนให้นำเข้าแร่หายากจากเมียนมา

เหมืองแร่หายาก
A new rare earth mine is dug into the side of a mountain in Pangwa, Kachin, Myanmar. (Global Witness via AP)

เมื่อแร่แปรสภาพเป็นแม่เหล็กแร่จะถูกแยกออกกลั่นและหลอมละลายวัสดุจากแหล่งต่าง ๆ จะนำมาผสมรวมกัน ทำให้การระบุว่า แร่หายากชนิดใดมาจากเมียนมาและผู้ผลิตแม่เหล็กของจีนไม่ทราบว่าแร่หายากมาจากไหน เพราะบริษัทต่าง ๆ ก็ไม่ได้ถามที่มา

หลังจากแร่หายากส่งไปบริษัทแม่เหล็กแล้วก็จะผ่านอีกหลายขั้นตอนกว่าจะถึงมือผู้บริโภครวมทั้งบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายจึงแทบจะไม่มีความโปร่งใส เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่ทราบที่มาของแร่หายาก

หวังซัพพลายเออร์ระบุที่มา

นาบีล แมนเชรี เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมแร่หายาก กล่าวว่า มีเพียงรัฐบาลจีนเท่านั้นที่บังคับให้บริษัทต่าง ๆ แยกแยะแร่หายากที่มาจากจีนและเมียนมาได้

ค่ายผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง จีเอ็ม โฟล์กสวาเกน และเมอร์ซิเดส เบนซ์ ได้แต่หวังว่าซัพพลายเออร์จะปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณ ส่วนค่ายฟอร์ด มีการตรวจสอบและขอให้ซัพพลายเออร์ระบุแหล่งที่มา ขณะที่ ฮุนได ไม่ใช้แร่หายากจากเมียนมา

ฐานกองกำลังปกป้องชายแดนของทหารเมียนมาร่วมกับกองกำลังติดอาวุธ ใกล้เหมืองแร่หายาก ที่รัฐกะฉิ่น ทางเหนือของเมียนมา  (Global Witness via AP)

ด้านบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รวมทั้ง บอช บรอส และนิเด็ค กล่าวว่า บริษัทผลิตแม่เหล็กยืนยันว่าไม่ได้ใช้แร่หายากจากเมียนมา ส่วนบริษัทอื่น ๆ เช่น คอนติเนนทัล เอจี และบอร์กวอร์เนอร์ หวังว่าซัพพลายเออร์จะปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณ

ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ซัมซุง กล่าวว่า จะยอมไม่ให้มีการละเมิดสิทธิหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนโตชิบา พานาโซนิค และฮิตาชิ ไม่ขอออกความเห็น แต่กล่าวว่าจะระงับการทำงานร่วมกับธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนธิสเซ่นครุปป์ กล่าวว่มีมาตรการริเริ่มเพื่อหาแหล่งที่มาของแร่ธาตุที่ส่งให้กับซัพพลายเออร์แม่เหล็ก

ซีเมนส์ กาเมซา ผู้ผลิตกังหันลมในสหรัฐอเมริกาและยุโรป กล่าวว่า จะตรวจสอบซัพพลายเออร์ทันทีและกำลังเตรียมที่จะติดตามสิ่งเหล่านั้นต้นน้ำต่อไป ซึ่งข้อมูลของซัพพลายเออร์แสดงว่าแร่หากมาจากจีนเท่านั้น

คลิงเจอร์ กล่าวว่า วิธีเดียวที่บริษัทจะเลี่ยงไม่ใช้แร่หายากจากเมียนมาคือการมีห่วงโซ่อุปทานของตัวเองนอกเมียนมา จีน และอาจอยู่นอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง


…..