แกะรอย “ภาวะเงินเฟ้อโลก” ใกล้ถึงจุดสูงสุดจริงหรือ ?

ภาวะเงินเฟ้อโลก
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ภาวะเงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาและเป็นความเจ็บปวดของประเทศทั้งหลายทั่วโลก การแก้ปัญหาด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางทั้งหลายปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ

หากสอบถามนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ว่า ภาวะเงินเฟ้อพุ่งทะยานอย่างนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด คงยากที่จะได้คำตอบ

อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้เริ่มมีกระแสถกเถียงกันในเชิงวิชาการครั้งใหม่ขึ้นมาอีกครั้งแล้วว่า ภาวะเงินเฟ้อที่คุกคามโลกอยู่ในเวลานี้ กำลังเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว และมีโอกาสที่จะผ่อนคลายลงตามลำดับ

เนื่องจากข้อมูลล่าสุด มาตรวัดอัตราเงินเฟ้อบางอย่างเริ่มเย็นลงในประเทศที่เป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งและสองของโลก

ในสหรัฐอเมริกา ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ไม่ได้ปรับตัวขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2022 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนก่อนหน้า สืบเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงฮวบฮาบ ช่วยให้ผู้บริโภคได้ผ่อนคลาย โล่งใจขึ้นไม่น้อย

ในเวลาเดียวกัน ดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) หรือที่บางคนเรียกว่า “เงินเฟ้อหน้าโรงงาน” (factory-gate inflation) เฉลี่ยตลอดปี ลดต่ำลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน ในขณะที่ ซีพีไอ ก็เพิ่มสูงขึ้นต่ำกว่าที่คาดหมายไว้

เจ้าหน้าที่หลายคนของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเริ่มมองว่า ภาวะเงินเฟ้อน่าจะค่อย ๆ ลดลงตลอดครึ่งหลังของปีนี้ ในขณะที่ธนาคารกลางแห่งยุโรปเชื่อว่า ภาวะเงินเฟ้อน่าจะถึงจุดสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ส่วนแบงก์ชาติของอังกฤษเชื่อว่า เงินเฟ้อน่าจะพีกในราวเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

ประเด็นหลักที่ทำให้หลายคนเชื่อว่า ภาวะเงินเฟ้อจะค่อย ๆ ลดความร้อนแรงลง ก็คือการที่ราคาพลังงานและวัตถุดิบต่าง ๆ โดยเฉพาะราคาน้ำมันและสินค้าอาหาร ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีนี้ หลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน เริ่มลดต่ำลง

ดีมานด์ของโลกเริ่มอ่อนตัวลง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งในจีน, สหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงมาก คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีชี้ภาวะเงินเฟ้อลดความร้อนแรงลง มีโรงงานผลิตเพียงไม่กี่บริษัทที่รายงานว่า ภาวะต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาขายส่งจากโรงงานในหลาย ๆ พื้นที่ของโลกเริ่มลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานในบางส่วนของโลกยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียมานานปี ราคาพลังงานยังคงสูงกว่าเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่มากถึง 4 เท่าตัว หรือในกรณีของสหราชอาณาจักร ซึ่งเชื่อกันว่าจะมีการปรับค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

เช่นเดียวกับในเยอรมนี ซึ่งราคาน้ำมันเตรียมขยับขึ้นอีกครั้ง หลังจากมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐหมดลงในตอนสิ้นเดือนสิงหาคม

ปัจจัยในเชิงบวกอีกอย่างก็คือ การที่เงินเฟ้อคาดการณ์ในเขตเศรษฐกิจใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาหรือ ยูโรโซน ยังคงอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ผู้บริโภคยังเชื่อมั่นในมาตรการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อของทางการ

ในเวลาเดียวกัน “เงินเฟ้อพื้นฐาน” หรือ คอร์ อินเฟลชั่น ซึ่งเป็นการวัดภาวะเงินเฟ้อโดยไม่นำเอาราคาของสินค้าอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งผันผวนมากมาคำนวณร่วมด้วย ก็เริ่มลดความร้อนแรงลงทั้งในสหรัฐอเมริกาและในสหราชอาณาจักร

และนักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่า สถานการณ์ในญี่ปุ่นและยูโรโซนก็ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันนี้ในเวลาไม่ช้าไม่นาน

ซึ่งทำให้ นักวิเคราะห์ของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิก เชื่อว่า ภาวะเงินเฟ้อในญี่ปุ่นและยูโรโซน น่าจะถึงจุดสูงสุดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ถึงอย่างนั้น เงินเฟ้อพื้นฐานก็ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าระดับที่ “วางใจได้” ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาหลายประเทศ ซึ่งหมายความว่า ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องต่อไป แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดจะแสดงให้เห็นว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมาเริ่มแสดงประสิทธิภาพออกมาบ้างแล้วก็ตาม

ปัจจัยที่ต้องจับตาในเวลานี้ เพราะยังคงส่อเค้าว่าจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอยู่ต่อไปก็คือ ค่าจ้างแรงงาน

ทั้งนี้ ดัชนีต้นทุนค่าจ้างในสหรัฐอเมริกา ที่เผยแพร่ออกมาล่าสุด แสดงให้เห็นว่า ค่าจ้างยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสที่สองของปีนี้ หลังจากถีบตัวสูงขึ้นมากเมื่อภาวะวิกฤตโควิดผ่อนคลายลง และดีมานด์ถีบตัวสูงพรวดพราดจนเกิดปัญหาตลาดแรงงานตึงตัวขึ้น

ค่าจ้างถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในระยะยาวและไม่มีที่สิ้นสุด

โดยเฉพาะเมื่อผู้ผลิตตัดสินใจผลักภาระทั้งหมดไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้วัฏจักรของการปรับขึ้นราคาเริ่มต้นขึ้นและส่งผลต่อเนื่องต่อไป ก่อให้เกิดแรงกดดันเพื่อขึ้นค่าแรง ค่าจ้างอีกครั้ง และจะวนกลับไปทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอีกนั่นเอง

เบรนท์ เมเยอร์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาสาขาแอตแลนตา เตือนเอาไว้ว่า หากเกิดกรณีเช่นนั้นขึ้น อาจเป็นไปได้ที่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือวัฏจักรเงินเฟ้อที่แทบจะคงอยู่ได้ด้วยตัวเองนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องค่าจ้างแรงงานอาจจำกัดอยู่เขตเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแรงและเร็วมาก ในทำนองเดียวกับสหรัฐอเมริกาในเวลานี้เท่านั้น

เนื่องจากในส่วนอื่น ๆ ของโลกนอกเหนือไปจากนั้น การพลิกฟื้นสภาวะเศรษฐกิจยังเป็นไปไม่ได้ อย่างดีที่สุดที่เป็นไปได้ก็คือการรักษาสภาพให้ทรงตัวไม่ตกลงไปสู่ภาวะถดถอย

ภายใต้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถอยขึ้นเช่นนี้ การต่อรองเพื่อขึ้นค่าแรงมีโอกาสเป็นไปได้น้อยกว่า และสภาวะของตลาดแรงงานเอง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาก็ไม่เอื้อต่อการต่อรองเช่นนี้อีกด้วย