รัสเซีย-ยูเครน : 5 บทเรียนจากสงครามไครเมียในศตวรรษที่ 19

ไครเมีย ระเบิด
ควันเพิ่มขึ้นหลังจากได้ยินเสียงระเบิดจากทิศทางของฐานทัพอากาศทหารรัสเซียใกล้โนโวเฟโดริฟกา ไครเมีย 9 สิงหาคม 2022 (REUTERS/Stringer)

เเกะบทเรียนจากสงครามไครเมียเมื่อกว่า 150 ปีก่อน สงครามคู่ขนานที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบันเเละเป็นชนวนไปสู่การเลิกทาสของรัสเซียเเละสหรัฐ ก่อนจะครบ 6 เดือนเต็ม สงครามรัสเซีย-ยูเครน 24 สิงหาคมนี้

วันที่ 22 สิงหาคม 2565 เดอะ การ์เดียน เผยแพร่รายงานพิเศษ เนื่องในวันพุธที่ 24 สิงหาคมนี้ จะครบ 6 เดือนเต็มสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอันน่าสยดสยองเเละความขัดเเย้งอันยากที่จะเห็นถึงปลายทางเเละไร้ซึ่งเเสงสว่างในปลายอุโมงค์

คำถามที่สำคัญคือประวัติศาสตร์สามารถเผยอะไรบางอย่างให้เราได้หรือไม่

ขณะที่ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ชื่นชอบที่จะเอ่ยถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นที่น่าภูมิใจของรัสเซีย ยังมีสงครามอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคนรัสเซียมักไม่เอ่ยถึงเเต่กลับคล้ายคลึงกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างมาก นั่นคือสงครามไครเมีย ซึ่งลากยาวเป็นเวลานานกว่า 2 ปีครึ่ง นับตั้งเเต่ปี 2396-2399 ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้ในที่สุด

ท่ามกลางความขัดเเย้งดังกล่าว กองทัพรัสเซียเผชิญความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายทั้งหมด ขณะที่ฝรั่งเศสเเละอังกฤษผู้เป็นเเนวรบร่วมควบคู่ไปกับชาวเติร์ก ต่างก็ต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อพวกเขาคลำหาชัยชนะที่ได้ไม่คุ้มเสีย (Pyrrhic victory)

ที่น่าประหลาดใจกลับเป็นมรดกอันยิ่งใหญ่ของสงครามในครั้งนี้ลุกลามกระทบไปถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งเหตุการณ์ต่อเนื่องอันไม่คาดคิดจากความพ่ายเเพ้ของรัสเซียนั้น เชื่อมโยงไปถึงการเลิกทาสของสหรัฐ

วันนี้จึงขอรวบรวม 5 บทเรียนที่ได้จากสงครามไครเมีย เมื่อศตวรรษที่ 19 มาสะท้อนถึงปัจจุบัน

สงครามจะจบลง ต่างจากจุดเริ่มต้นอย่างสิ้นเชิง

สงครามไครเมียเริ่มต้นขึ้นด้วยเหตุผลเพียงเล็กน้อยที่สุด เมื่อบาทหลวงชาวรัสเซียเเละฝรั่งเศสเกิดทะเลาะวิวาทกันถึงสิทธิการครอบครองเหนือกุญเเจสู่มหาวิหารโบสถ์พระคริสตสมภพ (The Church of the Nativity) อันเป็นสถานที่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นดินเเดนอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ประสูติของพระเยซู ที่เมืองเบธเลเฮม ตั้งอยู่ในปาเลสไตน์ในปัจจุบัน

อย่างที่ทราบกันดี กุญเเจดังกล่าวได้นำไปสู่การไขหีบแพนดอร่าที่ปลดปล่อยสิ่งชั่วร้ายเเก่มวลมนุษย์ เมื่อพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 ของรัสเซีย เข้ารุกรานจักรวรรดิออตโตมันด้วยความหวังว่าจะได้ครอบครองกรุงคอนสเเตนติโนเปิล (Constantinople) อันเป็นที่ตั้งของอิสตันบูล เมืองหลวงของตุรกีในปัจจุบัน

โดยพวกออตโตมันได้รับความช่วยเหลือจากอังกฤษเละฝรั่งเศสผ่านการส่งกองกำลังเข้ามาทางทะเลดำ สงครามการล้างผลาญได้เริ่มต้นขึ้นนับcต่นั้น โดยครอบคลุมถึงการสู้รบทางเรือที่แผ่ขยายไกลออกไปถึงในทะเลบอลติกและทะเลแปซิฟิก

หากเปรียบเปรยจากคำพูดของ คาร์ล วอน เคลาเซวิตซ์ (Carl Von Clausewitz) นักปรัชญาผู้โด่งดังผู้เขียนตำราพิชัยสงคราม (On War) ทุกสิ่งในสงครามนั้นเป็นไปตามคำพูดของเขาที่ว่า “สงครามนับเป็นสถานที่ซึ่งทุกสิ่งไม่สามารถคาดเดาได้มากที่สุด”

มีผู้คนจำนวนน้อยมากที่คาดว่าจะเกิดสงครามขึ้นใน ค.ศ. 1853 (ปี 2395) เเละเมื่อมันได้เกิดขึ้น คำทำนายส่วนมากล้วนไม่แม่นยำ ไม่เว้นแม้เเต่ความเชื่อที่ว่าไม่มีใครสามารถพิชิตกองทัพรัสเซียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาต่อสู้ในบริเวณใกล้เคียงกับแผ่นดินของตน

ทหารที่ถูกฝึกมาไม่ดี ย่อมต่อสู้ได้ไม่ดี

ก่อนหน้าสงครามไครเมีย กองทัพอันยิ่งใหญ่ของรัสเซียเป็นที่น่าเกรงขามไปทั่วทั้งยุโรป แต่เพียงไม่นาน จุดอ่อนของพวกเขาเหล่านั้นกลับกลายเป็นที่ประจักษ์ ด้วยทหารที่ไร้ขวัญกำลังใจ ทั้งทหารเกณฑ์หนุ่มและทาสที่ไร้ซึ่งแผ่นดินจำนวนมาก

รัสเซียพ่ายแพ้ในการเผชิญหน้าส่วนใหญ่และจบความขัดเเย้งครั้งนี้ลงด้วยชื่อเสียงที่ย่อยยับ อาวุธของพวกเขานั้นเทียบไม่ได้กับยุทโธปกรณ์อันทรงพลังของฝั่งอังกฤษเเละฝรั่งเศส ด้วยเรือรบพลังไอน้ำเเละปืนไรเฟิลที่สามารถยิงได้อย่างแม่นยำจากระยะไกล

แม้ว่าจะเพรียบพร้อมไปด้วยข้อได้เปรียบ ชัยชนะนั้นกลับมีราคาแพง เมื่อเกิดร่องรอยความบาดหมางระหว่างชาติพันธมิตร ความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์อย่างร้ายแรง ส่งผลให้ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษไม่ได้รับชัยชนะที่เด็ดขาดมากขึ้น จนแต่ละฝ่ายสูญเสียกองกำลังถึง 250,000 คน โดยเสียชีวิตด้วยโรคระบาดเป็นส่วนใหญ่

ยากที่จะสร้างสงครามอันไม่เป็นที่นิยม

บทเรียนประการที่สามคล้ายคลึงกับปัจจุบันมาก เมื่อการคิดค้นกล้องถ่ายรูปและโทรเลขก่อให้เกิดกลุ่มประจักษ์พยานใหม่ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสงครามไครเมียได้โดยละเอียด

หากย้อนไปก่อนช่วงเวลาดังกล่าว ผู้คนยังคงถ่ายทอดเรื่องราวความโง่เขลาของการกระทำในสงครามออกมาเป็นบทกวี ดังเช่นบทกวีเรื่อง “การบุกประชิดโจมตีของกองพลทหารม้าเบา” ของอัลเฟรด เทนนีสัน ซึ่งพรรณนาให้ความโง่เขลาของกองทหารม้า ที่โจมตีผิดพลาด โดยวิ่งเข้าประจัญบานกองปืนใหญ่จนถูกสังหารแม้จะรู้ชัดว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ให้กลายเป็นบทกวีที่บรรยายถึงความหาญกล้าของชายชาติทหาร

หากแต่การแพร่ขยายของกล้องถ่ายรูปและเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็ว ได้ทำลายการเขียนที่ล้าหลังนี้ลง เช่นเดียวกับที่โลกโซเชียลในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนเพ่งเล็งไปที่อาชญาสงครามมากกว่าการโฆษณาชวนเชื่อของประธานาธิบดีปูติน

โรเจอร์ เฟนตัน ช่างภาพชาวอังกฤษ ณ เวลานั้น ถือได้ว่าเป็นผู้สื่อข่าวสงครามคนแรก ๆ ของโลกที่ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ผ่านการจับภาพของสงครามได้ด้วยความชัดเจนอย่างน่าทึ่ง จนผู้ชมในลอนดอนและปารีสสามารถรับรู้ถึงสงครามได้อย่างชัดเจน นำมาซึ่งทั้งกระแสการสนับสนุนและการคัดค้านจำนวนมาก

สันติภาพที่คลุมเครือจะนำไปสู่ปัญหาใหม่

แม้ว่าข้อตกลงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1856 จะส่งผลให้ความขัดแย้งดังกล่าวจบลง แต่ก็ยังมีประเด็นคลุมเครืออยู่อีกมาก รวมถึงความไม่ชัดเจนของเส้นแบ่งชายแดนบริเวณตะวันออกของยุโรป นำไปสู่ “คำถามทางตะวันออก” (The Eastern Question) ซึ่งยังคงเป็นปัญหาวนเวียนในบรรดาผู้นำยุโรปไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1

โดยถือได้ว่าสงครามไครเมียนั้น เป็นการปะทุขึ้นของเกมการเมืองระหว่างมหาอำนาจอีกครั้ง หลังจากที่ยุโรปได้พบกับความสันติสุขมานานนับตั้งเเต่จุดจบของสงครามนโปเลียนเมื่อปี 1815 จนเกิดความขัดแย้งเล็ก ๆ อีกจำนวนมากจวบจนสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามสร้างผลกระทบที่กว้างขวาง

แม้ว่าสงครามไครเมียนั้นถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ แต่น้อยคนที่จะทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การปลดปล่อยอิสรภาพที่สำคัญครั้งหนึ่งของโลก

เพียงหนึ่งวันก่อนที่ อับราฮัม ลินคอร์น ประธานาธิบดีผู้เลื่องชื่อของสหรัฐอเมริกาจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 4 มีนาคม 1861 อีกฟากหนึ่งของโลก ในวันที่ 3 มีนาคม 1861 ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 (Alexander II) ผู้เป็นบุตรของซาร์นิโคลัสที่ 1 ได้มองเห็นความผิดพลาดของบิดาในสงครามไครเมีย

โดยพระองค์ทรงเชื่อว่าความพ่ายแพ้ในการทำสงครามของรัสเซียนั้นเกิดจากระบบชนชั้นที่ฝังรากเเละการพึ่งพาทาสมากเกินไป ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงประกาศยกเลิกทาส ผ่านการประกาศอิสรภาพในวันดังกล่าว

ส่งผลให้ประธานาธิบดีลินคอลน์ผู้เข้าใจถึงนัยของเหตุการณ์ดังกล่าวได้ประกาศยกเลิกทาสในปี 1863 หรือ ปี พ.ศ. 2406 กล่าวอีกนัยหนึ่ง สงครามซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเสรีภาพเลยเมื่อเริ่มต้น ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในเวลาหนึ่งทศวรรษต่อมา

อีกหนึ่งมรดกที่สำคัญของสงครามนั้น คือการซื้อรัฐอะแลสกา (Alaska) ของสหรัฐ ซึ่งมีต้นเหตุมาจากการยอมรับความพ่ายแพ้ของรัสเซีย นำไปสู่การตัดสินใจละทิ้งดินแดนมลรัฐที่ห่างไกลให้เปลี่ยนไปสู่มือของชาติมหาอำนาจ ด้วยความหวังว่ามันอาจถูกปกครองได้ดีกว่า