เเข่งเดือด! “เทนเซนต์-อาลีบาบา” รุกตลาด “e-wallet ” ขยายฐานลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เเปลเเละเรียบเรียงโดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สำนักข่าวนิเคอิ รายงานว่า “เทนเซนต์ โฮลดิงส์” บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีน เจ้าของสื่อสังคมออนไลน์วีแชต ได้ยื่นขออนุมัติกับทางการรัฐบาลมาเลเซียเพื่อให้สามารถใช้ อีวอลเล็ต หรือกระเป๋าเงินออนไลน์ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ในมาเลเซียสามารถเชื่อมบัญชีธนาคารเข้ากับวีเเชต เพย์ เเละกดจ่ายเงินซื้อสินค้า บริการ ในสกุลเงินริงกิตได้ โดยบริการนี้คาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งทางบริษัทยังไม่ได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียด

ขณะที่ฮ่องกงเป็นประเทศเดียวที่สามารถใช้วีเเชต เพย์ ของเทนเซนต์ และอาลี เพย์ ของอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง เพื่อใช้จ่ายเป็นสกุลเงินท้องถิ่น โดยทั้งสองแอปสามารถใช้งานได้เฉพาะกับผู้ที่มีบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตจากประเทศจีน ซึ่งการให้บริการดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับชาวจีนที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ หรือเดินทางไปยังต่างประเทศ

ทั้งนี้ทางสำนักข่าวนิเคอิ ได้ส่งหนังสือเพื่อสอบถามไปยังธนาคารกลางของมาเลเซีย เกี่ยวกับเเอพพลิเคชั่นเทนเซนต์ที่คาดว่าจะไปตั้งสำนักงานเล็กๆ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งยังไม่ได้รับการตอบกลับ

สำหรับปัจจัยหลักที่เทนเซนต์ต้องการขยายไปยังมาเลเซีย เนื่องจากมีประชากรชาวจีน หรือเชื้อสายจีนอาศัยอยู่กว่า 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด (31 ล้านคน) โดยมีผู้ใช้งานวีเเชตอยู่เเล้ว 20 ล้านคน เเละค่อนข้างมีความเชื่อถือต่อเเอปจากประเทศจีน

เจ้าหน้าที่ของเทนเซนต์กล่าวกับรอยเตอร์ในเดือนพฤศจิกายนว่า วีเเชตมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 600 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน เเละผู้ใช้งานราว 100 ล้านคน อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้านฝั่ง “แอนท์ ไฟแนนเชียล” บริษัทลูกของอาลีบาบา ที่ถูกจับแยกออกมาเป็นอีกบริษัทในปี 2011 โดยมีสถานะเป็นบริษัทที่อาลีบาบาไปลงทุนเอาไว้ ยังไม่ได้ประกาศแผนการให้บริการอาลี เพย์ในภูมิภาค แต่กำลังร่วมงานกับผู้ประกอบการที่ให้บริการเเก่นักท่องเที่ยวจากประเทศจีน เเละร่วมลงทุนกับคู่ค้าในท้องถิ่น

โฆษกของบริษัท กล่าวกับนิเคอิ ว่าเหตุผลของอาลี เพย์คือการแก้ปัญหาในสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการพัฒนา นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการขออนุมัติจากรัฐบาลเพื่อจัดการกับธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่นอีกด้วย

ซึ่งในประเทศมาเลเซีย แอนท์ ไฟแนนเชียลจะเริ่มดำเนินกิจการร่วมการค้าในปลายปีนี้กับ Touch’n Go ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ CIMB Group Holdings ผู้ให้บริการด้านการขนส่ง มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน เวลาเดินทางใช้บริการของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นรถไฟใต้ดิน รถประจำทางทางและที่จอดรถ เเละเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมาธนาคารกลางของมาเลเซียอนุมัติให้ Touch’n Go สามารถใช้งานเเบบอีวอลเล็ตได้

ในประเทศไทย แอนท์ ไฟแนนเชียล ได้ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยในการระบุรหัสบาร์โค้ด เพื่อให้ร้านค้าในไทยสามารถรับเงินจากนักท่องเที่ยวจีนได้ผ่านระบบสเเกนบาร์โค้ดนี้

ในปี 2016 แอนท์ ไฟแนนเชียล ยังได้ลงทุนในแอสเซนด์ มันนี่ ผู้นำด้านธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทคในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหน่วยงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ซึ่งมีกลุ่มเครือข่ายในเซเว่นอิเลฟเว่น โดยใช้ชื่อของทรูมันนี่ สำหรับธุรกิจการชำระเงิน และแอสเซนด์ นาโน สำหรับธุรกิจเงินกู้รายย่อย โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาตัวเลขผู้ใช้งานทรูมันนี่ วอลเล็ต มีกว่า 3 ล้านรายในประเทศไทย และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็น 8 ล้านรายในปีนี้

อีกทั้งเเอนท์ ไฟเเนนเชียลยังได้ลงทุนด้านการเงินใน Mynt ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทคในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นเจ้าของเเอป “GCash” ซึ่งเป็นเเอพพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

ในประเทศสิงคโปร์ อาลีเพย์ ได้ทำงานร่วมกันกับ ซีซี ไฟเเนนเชียล เซอร์วิส ในระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสดของ CCPay เเละบริษัทยังได้ทำงานในประเทศกัมพูชากับ Pi Pay ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Anco โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถใช้ อาลีเพย์ได้ที่จุดจำหน่าย 1,400 จุดของ PiPay ไม่ว่าจะเป็นในร้านค้า สปา ปั๊มน้ำมัน และร้านอาหาร

บาสเซอร์ อัมหมัด ซิดดิกิ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิจัยของ ไอดีซี มาเลเซีย กล่าวว่า การที่วีเเชต เพย์เข้ามาในมาเลเซีย จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนเเปลง ด้วยการที่ขาดคู่เเข่งจะช่วยให้วีเเชต เพย์ประสบความสำเร็จมากขึ้น เเละหากเป็นพันธมิตรกับเเก๊บ หรือ อูเบอร์ ยิ่งจะประสบผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

“Euromonitor” บริษัทวิจัยของอังกฤษ เปิดเผยว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรกว่า 50% ใน 6 ประเทศใช้ระบบการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะสูงถึง 70% ในปี 2021 เเละยังคาดการณ์การชำระเงินทางโทรศัพท์มือถือว่ามีมูลค่าถึง 32 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2013 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการท้องถิ่นก็ได้เปิดตัวเเอปฟินเทคในประเทศของตนเองเเล้ว ซึ่งในประเทศไทย SCB Easy ของธนาคารไทยพาณิชย์และ K Plus ของธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ให้บริการชำระเงินรายใหญ่ 2 รายที่ใช้งานอยู่ เเละยังมีกลุ่มให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร อาทิ ไลน์ เพย์ ,Garena’s AirPay, AIS’s mPay ร่วมด้วย

อีกทั้งในอินโดนีเซีย บริษัทโก-เจค ยังมีเเอป โก-เพย์ ซึ่งเป็นกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถนำไปใช้ในการจัดส่งอาหาร และช้อปปิ้ง เเละเมื่อเร็วๆ นี้ทางการเงินของสิงคโปร์ได้ประกาศว่า จะอำนวยความสะดวกในการเป็นหุ้นส่วนในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนระหว่าง PayNow และ PromptPay ซึ่งเป็นเเพลตฟอร์มจากประเทศไทย เเสดงให้เห็นว่าเทนเซนต์และอาลีบาบาไม่ได้เป็นผู้ประกอบการเดียวที่มองเห็นศักยภาพการเติบโตของภูมิภาคนี้