โอกาส B3W ของอเมริกา ? หลัง OBOR ของจีนแผ่วลง

สหรัฐอเมริกา
คอลัมน์​: ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

โครงการ One Belt One Road (OBOR) ของจีน ซึ่งเป็นอภิมหาโปรเจ็กต์ด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ที่ก่อตั้งเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการค้าของจีนกับทั่วโลก จากเอเชียทะลุยุโรป ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้สหรัฐและชาติตะวันตกค่อนข้างหวั่นไหว เพราะหมายถึงอิทธิพลจีนในระดับโลกจะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากปัจจัยอื่น ๆ ทั้งการที่เศรษฐกิจจีนเติบโตน้อยลงและวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ทำให้โครงการ OBOR ดูเหมือนจะเผชิญความท้าทายและเชื่องช้าลง

นอกจากนี้การที่ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเป้าหมายของ OBOR ประสบปัญหาเงินเฟ้อถีบตัวสูงและหนี้สาธารณะสูง ทำให้การจะปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศเหล่านี้เพื่อลงทุนใน OBOR มีความเสี่ยงมากขึ้น แม้จีนจะยืนยันว่ายังคงอุทิศตัวให้กับโครงการ OBOR เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวและเติบโตของเศรษฐกิจโลกก็ตาม

ศูนย์นโยบายการพัฒนาโลกมหาวิทยาลัยบอสตัน ของสหรัฐ ชี้ว่ามีสัญญาณว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ความพยายามในโครงการใหญ่ ๆ ของจีนชะลอลง ตัวอย่างเช่น การปล่อยกู้ให้กับแอฟริกา ในช่วงปี 2019-2020 ลดลง 77% จาก 8.2 พันล้านดอลลาร์เหลือ 1.9 พันล้านดอลลาร์ สาเหตุอาจเกิดจากเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงของประเทศต่าง ๆ ที่จะเข้าร่วม OBOR อันเนื่องมาจากโควิด-19 จึงทำให้มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ รวมทั้งมีปัญหาหนี้สาธารณะด้วย ดังนั้นความต้องการที่จะเข้าร่วม OBOR จึงลดลง

“อันที่จริงนโยบายธนาคารจีนที่จะปล่อยกู้ให้กับโครงการลักษณะนี้เริ่มลดลงตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนโควิด-19 จะเร่งการลดลงนี้ เชื่อว่าตอนนี้สถาบันการเงินของจีนจะต้องทบทวนกลยุทธ์ของตัวเอง”

การอ่อนกำลังของ OBOR ทำให้เกิดคำถามว่า จะเป็นโอกาสให้โครงการ Build Back Better World (B3W) ของกลุ่มจี 7 นำโดยสหรัฐอเมริกา ขึ้นมาตีโต้ OBOR ได้หรือไม่ หลังจากปล่อยให้จีนล่วงหน้าไปไกลแล้ว

โครงการ B3W เปิดตัวไปเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว พร้อมกับคำสัญญาว่าจะใช้เงินลงทุนในโครงการนี้ 6 แสนล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ 2 แสนล้านดอลลาร์จะมาจากสหรัฐ ขณะที่สหรัฐออกเดินสายไปยังประเทศในเป้าหมายอย่างแข็งขันเพื่อเสริมสร้างบทบาทระดับโลกของสหรัฐด้านโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่นเดือนสิงหาคมปีนี้ “เวนดี้ เชอร์แมน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เดินทางไปแปซิฟิกใต้ เพื่อกระชับสัมพันธ์และเพิ่มการสนับสนุนกลุ่มประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก

ส่วน “แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ไปเยือนแอฟริกาใต้ โดยย้ำว่าโครงการ B3W จะเป็นทางเลือกสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่จะแตกต่างจากบางโครงการ โดยจะไม่มีการบีบบังคับ มีความโปร่งใส ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่บังคับใช้แรงงานและไม่สร้างภาระหนี้ให้กับประเทศที่เข้าร่วม ทั้งนี้แม้ไม่เอ่ยชื่อโครงการ แต่เป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันว่าเป็นการพูดกระทบชิ่ง OBOR

OBOR ของจีนนั้น ถูกฝ่ายตะวันตกโจมตีว่าใช้นโยบายสร้าง “กับดักหนี้” เพื่อฮุบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้น ๆ ด้วยการเสนอให้เงินกู้แก่ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ แต่หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็จะถูกเอาเปรียบ เช่น กรณีศรีลังกา ที่สร้างท่าเรือเสร็จแล้ว แต่ไม่สามารถใช้หนี้ให้กับจีน จึงต้องให้จีนเช่าท่าเรือเป็นเวลา 99 ปี ซึ่งท่าเรือแห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของจีน ข้อกล่าวหาดังกล่าวทำให้ OBOR มีมลทินพอสมควร แม้ว่าจีนจะปฏิเสธก็ตาม

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่า B3W จะมีความสามารถในการระดมเงินทุนสำหรับโครงการดังกล่าวตามที่ตั้งเป้าหรือไม่ เนื่องจากรูปแบบการดำเนินโครงการต่างจากจีน โดยของจีนนั้น บริษัทรัฐบาลเป็นผู้มีบทบาทสำคัญจึงดำเนินการได้รวดเร็ว แต่รูปแบบของสหรัฐนั้น มีภาคเอกชนร่วมด้วย จึงไม่สามารถกำหนดขนาดและขอบเขตการลงทุนที่ดำเนินการโดยเอกชนได้ เพราะเอกชนย่อมคำนึงถึงผลกำไรเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนแผนของสหรัฐเองก็ไม่ได้ต้องการแข่งขันกับโครงการใหญ่ ๆ ของจีน อย่างเช่น สะพาน ทางรถไฟ แต่จะแข่งขันในบางเซ็กเตอร์ที่สหรัฐได้เปรียบ เช่นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน การปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีข้อมูลและสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและระบบดูแลสุขภาพ

นอกจากนี้จุดแข็งของสหรัฐ เรื่องมาตรฐานการกำกับดูแล ความโปร่งใส การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อาจสามารถดึงดูดให้ประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม