ค่ายรถปรับโมเดล รับอนาคต จาก “ผู้ผลิต” สู่ “ผู้ให้บริการ”

งาน “ดีทรอยต์ มอเตอร์ โชว์” ณ สหรัฐอเมริกา ประจำปี 2018 ระหว่างวันที่ 13-28 มกราคมนี้ ถือเป็นอีกงานจัดแสดงรถยนต์ที่น่าจับตา เพราะนอกจากจะเป็นงานมอเตอร์โชว์เก่าแก่ของภูมิภาคอเมริกาเหนือ และมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นที่มาแรงอย่าง SUV ของหลายค่ายแล้ว ผู้บริหารหลายค่ายยังได้แสดงวิสัยทัศน์อย่างน่าสนใจต่อประเด็น “รถยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต” ประเด็นสำคัญที่เป็นข้อถกเถียงมากมาย ว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์โลก

เรื่องที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันมากคือ อนาคตผู้ใช้งานรถยนต์ส่วนตัวจะน้อยลง แต่จะหันมาใช้บริการ ride-sharing มากขึ้น ทั้ง Uber, Lyft, Grab และ Didi Chuxhing เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าและตอบรับไลฟ์สไตล์มากกว่า ขณะที่รถยนต์ที่จะให้บริการรับ-ส่งก็จะเป็นรถยนต์ประเภทไร้คนขับด้วย

ส่งผลให้รถยนต์ที่ปัจจุบันมีอายุขัยเฉลี่ย 10 ปี หรือ ราว 100,000 ไมล์ จำเป็นต้องพัฒนาให้มีอายุขัยยืนยาวขึ้นและทนทานขึ้น “Johann Jungwirth” หัวหน้าฝ่ายดิจิทัลจากโฟล์คสวาเกน แสดงความคิดเห็นกับ “ไฟแนนเชียล ไทมส์” ว่า อนาคตรถยนต์จะต้องสามารถใช้งานได้ยาวนานมากถึง 1 ล้านไมล์ เพื่อสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งคนเป็นเจ้าของรถยนต์กันน้อยลงและหันมาใช้บริการ ride-sharing กันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ต้องปรับตัวและค้นหาวิธีการสร้างรายได้ใหม่

“นี่คือสิ่งที่โฟล์คสวาเกนทำงานอย่างหนัก ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับโลกอนาคต” Jungwirth กล่าว

สำนักวิจัยแมคคินซีย์ระบุว่า คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 รถยนต์ 1 ใน 10 คันจะเป็นรถที่ใช้ในธุรกิจ ride-sharing และรถยนต์ส่วนตัวจะมียอดขายลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นธุรกิจในอนาคตของค่ายรถยนต์อาจจะไม่ใช่ผู้ผลิตรถยนต์อีกต่อไป แต่เป็นการหันมาสู่การให้บริการรถรับส่งบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เช่นเดียวกับ Uber, Lyft หรือ Didi หรือการให้บริการรถเช่าอย่าง Hertz หรือ Avis

“จีเอ็ม” หรือเจนเนอรัล มอเตอร์ส ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐออกมาประกาศว่า บริษัทอาจไม่ได้เป็นเจ้าของบริการ ride-sharing ด้วยตัวเอง แต่อาจจะร่วมมือกับเจ้าของแพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้ว ขณะที่โฟล์คสวาเกนประกาศว่า จะริเริ่มบริการรถยนต์ ride-sharing ในบางเมืองเช่นกัน

ด้าน “เดมเลอร์” ได้จับมือกับอูเบอร์ผู้ให้บริการ ride-sharing รายใหญ่ของโลก นำรถยนต์ไร้คนขับเข้าสู่แพลตฟอร์มของอูเบอร์ โดยสิทธิในการเป็นเจ้าของรถและการให้บริการเป็นของเดมเลอร์ ถือเป็นอีกโมเดลในการเข้าสู่ธุรกิจ ride-sharing ของผู้ผลิตรถยนต์

ขณะที่ “Jim Hackett” ซีอีโอฟอร์ด ประกาศในงาน “คอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ โชว์” (CES) ที่ลาสเวกัส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทิศทางของฟอร์ดในอนาคตจะไม่ใช่ผู้ผลิตอย่างเดียวแต่เตรียมเป็นผู้ให้บริการ ride-sharing ในตัวเมือง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์โลกอนาคต สามารถลดมลพิษและลดความแออัดในเมือง ขณะเดียวกันฟอร์ดก็เตรียมจะพัฒนาสู่บริการโลจิสติกส์ เพื่อขนส่งคน พัสดุ และอาหารด้วยยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ

หรือในกรณี “ออดี้” แบรนด์รถยนต์หรูของเยอรมนี เปิดตัว “Audi on Demand” เพื่อบริการเช่ารถยนต์ทั้งแบบระยะสั้น 4 ชั่วโมง จนถึงระยะยาว 28 วัน

โดยล่าสุดได้เปิดให้บริการในประเทศสิงคโปร์ หลังจากที่ได้เปิดให้บริการที่กรุงปักกิ่ง, เกาะฮ่องกง, ซานฟรานซิสโกสหรัฐ, แมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษและสนามบินเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี

นอกจากค่ายรถยนต์ที่ต้องปรับตัวแล้ว บรรดาซัพพลายเออร์ ผู้ผลิตส่วนประกอบรถยนต์ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงหันมาเป็นผู้ให้บริการเช่นกัน เช่น การเข้ามาเป็นผู้ให้บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ด้วยตัวเอง เนื่องจากยังเป็นชิ้นส่วนที่ต้องมีการเปลี่ยนอยู่

“เพลารถหรือประตูอาจจะคงอยู่ได้เป็นล้านไมล์ แต่ระบบแบตเตอรี่ยังต้องการการเปลี่ยนชิ้นส่วนแน่นอน” “ดาเมียน สกอตต์” หัวหน้าฝ่ายการค้า จาก “Renovo” สตาร์ตอัพด้านรถยนต์ไร้คนขับระบุ

ด้าน “Chris Urmson” ซีอีโอแห่งสตาร์ตอัพ “ออโรร่า” ซึ่งพัฒนารถยนต์ไร้คนขับและเป็นหนึ่งในผู้พัฒนารถยนต์ไร้คนขับของกูเกิลระบุว่า อนาคตอุตสาหกรรมรถยนต์จะถูกขับเคลื่อนโดยค่าเสื่อมราคาของยานพาหนะ โดยเฉพาะในธุรกิจรถรับส่ง ride-sharing ดังนั้นเจ้าใดสามารถรักษาสภาพรถได้ดีที่สุด ก็จะมีรายได้ดีที่สุด

แม้ว่ารถยนต์แห่งอนาคตจะได้รับการคาดหวังว่าจะพัฒนาไปในทางบวก แต่ “Qi Lu” ประธานฝ่ายปฏิบัติการ ทั้งเป็นหัวหน้าทีมพัฒนารถยนต์อัตโนมัติ จากยักษ์ไอทีจีน “Baidu” ออกมาเตือนว่า รถยนต์ไร้คนขับสามารถกลายเป็นอาวุธสงครามได้ หากถูกดัดแปลงไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากรถยนต์จะขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายหรือปลายทางระบุไว้อย่างชัดเจน ทั้งกระตุ้นให้

รัฐบาลทั่วโลกหามาตรการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม เพราะปัจจุบันการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ผู้กำกับกฎหมายจะตามทัน

ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลทั่วโลกถกเถียงอย่างหนักถึงประเด็นเวลาที่เหมาะสมที่จะอนุญาตให้รถยนต์ไร้คนขับสามารถลงแล่นบนถนนร่วมกับรถยนต์ทั่วไปได้ อย่างไรก็ตาม รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติถูกออกแบบเพื่อลดอุบัติเหตุ ช่วยเพิ่มความปลอดภัย เพราะผลการวิจัยทั่วโลกยอมรับว่า รถยนต์ที่ขับเคลื่อน โดยมนุษย์มีโอกาสที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่า