ไซรัส มิสตรี มหาเศรษฐีอดีตประธานทาทา กรุ๊ป ประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิต

ไซรัสมิสตรีเสียชีวิต
(Photo by Dibyangshu SARKAR / AFP)

อดีตประธานทาทา กรุ๊ป “ไซรัส มิสตรี” เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในรัฐมหาราษฎระของอินเดีย

วันที่ 5 กันยายน 2565 อินเดียทูเดย์รายงานว่า “ไซรัส มิสตรี” อดีตประธาน ทาทา กรุ๊ป เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ในรัฐมหาราษฎระ อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างที่ไซรัส พร้อมกับอีก 3 คน กำลังเดินทางจากเมืองอัห์มดาบาดไปยังนครมุมไบ ด้วยรถเมอร์เซเดส มีการยืนยันว่านักธุรกิจรายนี้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ

ผู้เสียชีวิตอีกรายคือ “จาฮางกีร์ ดินชอว์ แพนโดล” ส่วนผู้ที่มากับรถอีก 2 ราย ได้แก่ “อนาฮิตา แพนโดล” และ “ดาริอุส แพนโดล” ซึ่งได้รับบาดเจ็บและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน

ดร.อนาฮิตา ซึ่งเป็นนรีแพทย์ที่โรงพยาบาลบรีชแคนดี้ ทางตอนใต้ของนครมุมไบ เป็นผู้ขับรถคันเกิดเหตุ

ตำรวจเผยว่า คนขับรถเสียการควบคุม หลังพยายามแซงรถอีกคัน และรถได้พุ่งชนเข้ากับที่กั้นถนนบนสะพานข้ามแม่น้ำสุริยะ เมื่อเวลาประมาณ 15.15 น.

ผลจากการชนอย่างรุนแรง ทำให้ถุงลมนิรภัยของที่นั่งด้านหน้าพองออกมา แต่ถุงลมนิรภัยที่เบาะหลังกลับไม่พองออกมา

ผู้บาดเจ็บทั้งสองรายนั่งด้านหน้า และทั้งคู่คาดเข็มขัดนิรภัย แต่ไซรัสและจาฮางกีร์นั่งอยู่เบาะหลัง

ประวัติ ไซรัส มิสตรี

บิสซิเนสสแตนด์ดาร์ดรายงานว่า ไซรัส มิสตรี อายุ 54 ปี เป็นอดีตประธานทาทา กรุ๊ป และทายาทกลุ่มชาปูร์จิ ปัลลอนจิ

ขณะที่จาฮางกีร์ ผู้เสียชีวิตอีกรายเป็นน้องชายของดาริอุส ผู้บาดเจ็บที่นั่งเบาะหน้า ซึ่งเป็นอดีตกรรมการอิสระของทาทา กรุ๊ป ที่ต่อต้านการถอดไซรัสออกจากตำแหน่ง

ความเสียใจที่มีต่อการจากไปของอดีตประธานทาทา กรุ๊ปหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ ทั้งอดีตเพื่อนร่วมงาน ผู้นำทางธุรกิจและการเมือง ทุกคนล้วนมองว่าการเสียชีวิตของไซรัสนั้นเป็นเรื่องน่าตกใจ

“นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวว่า เขาเป็นผู้นำทางธุรกิจที่มีอนาคตสดใส และมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจอินเดีย การจากไปของเขาจึงนับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ต่อโลกของการค้าและอุตสาหกรรม

ไซรัส ซึ่งจบการศึกษาจากสถาบันลอนดอน บิสซิเนส สคูล ดำรงตำแหน่งประธานทาทา กรุ๊ป ในปี 2555 โดยสืบทอดตำแหน่งต่อจาก “ราทัน ทาทา” ที่เกษียณจากตำแหน่งเมื่ออายุ 75 ปี

ไซรัสเป็นประธานทาทา กรุ๊ป คนที่ 6 และเป็นประธานคนที่ 2 ที่ไม่ได้ใช้นามสกุลทาทา โดยไซรัสเข้าร่วมกลุ่มทาทา ซันส์ ในฐานะบอร์ดเมื่อปี 2549 และตั้งแต่นั้นมาเขาก็เป็นตัวแทนของตระกูลมิสตรีในบอร์ดดังกล่าว

ในระหว่างการดำรงตำแหน่งของไซรัส ได้เข้าซื้อสินทรัพย์ด้านพลังงานหมุนเวียนของเวลส์ปัน ซึ่งทำให้ทาทากลายเป็นนักลงทุนรายแรกในภาคส่วนนี้

ครอบครัวมิสตรีถือหุ้น 18.4% ในทาทาซันส์ ขณะที่ทาทา ทรัสต์ ถือหุ้น 66% ในบริษัท ความมั่งคั่งของตระกูลมิสตรีอยู่ที่ประมาณ 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามรายงานของบลูมเบิร์ก

แต่ในเวลาไม่กี่ปี ในฐานะประธานทาทา กรุ๊ป ความสัมพันธ์ระหว่างราทาน และไซรัส ก็ย่ำแย่ลง โดยบอร์ดทาทา ซันส์ ได้ถอดไซรัสออกจากตำแหน่งสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ไม่กี่เดือนก่อนวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปีของเขาจะสิ้นสุดลง

มิสตรีเดินหน้าฟ้องศาลกรณีถูกถอดออกจากตำแหน่ง และการต่อสู้ทางกฎหมายได้สิ้นสุดลงเมื่อปี 2564 โดยศาลฎีกาตัดสินสนับสนุนทาทา กรุ๊ป

ตั้งแต่ออกจากทาทา กรุ๊ป ไซรัสก็ยุ่งกับการลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยี ขณะที่ “ชาปูร์” พี่ชายของเขานั้นดูแลธุรกิจก่อสร้างที่ใหญ่โตของตระกูล

ไซรัสซึ่งเป็นพลเมืองไอริช แต่งงานกับ “โรฮิกา ชากลา” ลูกสาวของทนายความ ทั้งคู่มีลูกชายสองคน ส่วน “อลู” น้องสาวของไซรัส แต่งงานกับ “โนเอล ทาทา” ผู้ดูแลทรัพย์สินของทาทา ทรัสต์

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “พาลลอนจิ มิสทรี” พ่อของไซรัส เสียชีวิตขณะมีอายุ 93 ปี

ตระกูลมิสตรีเป็นผู้ก่อสร้างอาคารที่เป็นสัญลักษณ์หลายแห่งในมุมไบ หนึ่งในนั้นคือธนาคารทุนสำรองอินเดีย รวมถึงพระราชวังสุลต่านแห่งโอมาน


หลายทศวรรษก่อนที่พาลลอนจิจะเสียชีวิต เขาได้แบ่งเงินลงทุนไปยังธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการถือหุ้นในทาทา ซันส์ และแบ่งทรัพย์สินอื่น ๆ ให้ลูกชายทั้งสองคนอย่างเท่าเทียมกัน