เมื่อโลกก้าวสู่ยุค “digital economy” เวลานี้ประเทศต่าง ๆ จึงอยู่ในช่วงเวลาแห่งการปรับตัว โดยเฉพาะการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ รวมถึงการปฏิรูปการทำงานขององค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พยายามยกระดับประเทศให้เป็น “สังคมดิจิทัล” เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ
“แมคคินซีย์ โกลบอล อินสติติวต์” บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก เปิดรายงานเกี่ยวกับ “เทคโนโลยีกับการสร้างงาน” โดยมุ่งไปที่ “ตลาดเกิดใหม่” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ “อาเซียน” ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างประเทศตะวันตกหรือยุโรป มีการปรับตัวมานาน รวมถึงมีศักยภาพในการส่งเสริมขีดความสามารถให้แก่พลเมืองด้านดิจิทัล รายงานระบุว่า ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐและสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่มี “บุคคลว่างงาน” มากที่สุดถึง 30-45% ของคนว่างงานจากทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลพยายามจัดการกับตัวเลขว่างงานด้วยการส่งเสริมโปรเจ็กต์เพิ่มทักษะด้านดิจิทัล รวมทั้งให้การช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับคนที่ต้องการพัฒนาความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลด้วย
สำหรับประเทศในอาเซียนที่ถือว่าอยู่ในสปอตไลต์ของธุรกิจต่าง ๆ มีปัจจัยหลักจากการขยายตัวของชนชั้นกลาง และการเปิดกว้างของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ โดยแมคคินซีย์ฯมองว่า ช่วงปี 2018-2020 เป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านของประเทศในอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลเพื่อรองรับกับการก้าวสู่สังคมดิจิทัล
ดร.เจมส์ แมนยิคา ประธานกรรมการและผู้อำนวยการ บริษัทแมคคินซีย์ฯ กล่าวว่า “ดิจิทัลอีโคโนมี มีนัยสำคัญคือการสร้างภาพรวมทางเศรษฐกิจให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยใช้ดิจิทัลเป็นกลไกในการส่งเสริม รวมถึงให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ซมากขึ้น มีแนวโน้มว่าจะมีการปรับตัวที่ดีในปีนี้”
ในรายงานมองว่า “มาเลเซีย” เป็นประเทศที่มีความตื่นตัวมากที่สุดในปี 2018 ทั้งยังมีความต่อเนื่องของนโยบาย หลังจากรัฐบาลที่ตั้งเป้าเป็นฮับด้าน “อีคอมเมิร์ซ” เพื่อการค้าระหว่างมาเลเซีย-อาเซียน และทั่วโลก โดยความร่วมมือกับ “แจ็ก หม่า” ประธานบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป ในความพยายามที่จะเปิด “เขตการค้าเสรีดิจิทัล” ในมาเลเซีย ทั้งเป็นศูนย์กลางอีคอมเมิร์ซนอกประเทศจีนแห่งแรกของอาลีบาบาด้วย
ขณะที่สมาคมธนาคารแห่งมาเลเซีย (ABM) ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายนปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินของมาเลเซียได้มีการเพิ่มตำแหน่งงานมากกว่า 4,500 ตำแหน่ง สำหรับดิจิทัลโดยเฉพาะ เป็นการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป เพื่อพัฒนาสู่ระบบธนาคารดิจิทัล และคาดว่าตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับดิจิทัลและเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ในภาคธนาคารจะเพิ่มจนถึงปี 2020
“เวียดนาม” อีกหนึ่งประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยติดโผประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนเติบโตเร็วที่สุด กำลังซื้อสูง นอกจากนี้รัฐบาลยังขานรับฉายา “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย” โดยพยายามพัฒนาระบบธุรกรรมทางการเงินแบบดิจิทัล พร้อมประกาศให้ภาคธุรกิจเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลให้แก่พนักงาน
ส่วน “อินเดีย” อีกหนึ่งประเทศในเอเชียที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้ดี ส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นในอินเดียและส่งออกสู่ตลาดโลก รายงานประเมินว่า รายได้ที่มาจากนวัตกรรมของอินเดียสามารถแปลงเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ถึง 1 ล้านล้านในปี 2025 จากปัจจุบันที่ 550,000 ล้านดอลลาร์
ดร.แมนยิคากล่าวว่า 3 ประเทศดังกล่าวถือว่ามีการพัฒนาในการก้าวสู่สังคมดิจิทัลที่ชัดเจนที่สุด ในการยกระดับประเทศสร้างมูลค่าหรือรายได้จากดิจิทัล เพราะให้ความสำคัญในการเพิ่มทักษะให้คนในประเทศเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพก่อนเสมอ
อย่างไรก็ตาม รายงานยังกล่าวถึงจำนวนประชากรในโลกเกือบครึ่ง หรือมากกว่า 4 พันล้านคน ที่อยู่ในสังคมแบบ “ออฟไลน์” ไม่มีการเชื่อมต่อหรือสร้างมูลค่าให้กับประเทศ โดยกระจุกตัวอยู่ใน 20 ประเทศ อาทิ บังกลาเทศ เอธิโอเปีย ไนจีเรีย ปากีสถาน และแทนซาเนีย ทั้งยังมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ ยากจน และไม่เคยได้รับโอกาสในการสร้างงานจากยุคดิจิทัล เนื่องจากข้อจำกัดทางการศึกษาและทักษะอื่น ๆ