มหาเศรษฐี อัมบานี วางตัวลูกสาว ร่วมคุมอาณาจักรธุรกิจ 8 ล้านล้าน

อัมบานี
Mukesh Ambani, his wife Nita Ambani, his daughter Isha, groom Anand Piramal, and his mother Swati Piramal, pose during Isha and Arnand wedding reception in Mumbai, India, Friday, Dec. 14, 2018 (AP Photo/Rajanish Kakade)

ตระกูลนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ของอินเดีย อัมบานี วางตัวทายาทธุรกิจอย่างชัดเจน และลูกสาวมีบทบาทอย่างยิ่ง

วันที่ 21 กันยายน 2565 บีบีซี รายงานว่า มูเกช อัมบานี (มุเกศ อัมพานี) มหาเศรษฐีชาวอินเดีย วางแนวทางบทบาททางธุรกิจให้กับลูก ๆ ทั้ง 3 คนอย่างชัดเจน ให้รับผิดชอบอาณาจักรมูลค่า 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 8 ล้านล้านบาทในการประชุมสามัญประจำปีของกลุ่มบริษัทค้าปลีกเมื่อเดือน ส.ค.

อากาศ และ อิชา (อิศา) ลูกสาวฝาแฝดจะบริหารธุรกิจโทรคมนาคมและการค้าปลีกของ Reliance Industries Ltd ตามลำดับ ส่วน อนันต์ ลูกชายคนสุดท้องของตระกูลกำลังดูแลธุรกิจพลังงานใหม่

อัมบานี
ครอบครัวอัมบานี หญิงสาวคือ อิชา อัมบานี / REUTERS

การถ่ายโอนความเป็นผู้นำของบริษัทที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดในอินเดีย เพราะ Reliance เป็นหนึ่งในบริษัทหลาย ๆ แห่งที่มีมูลค่ามากที่สุด ขณะนี้ยังไม่มีแผนการถ่ายโอนความมั่งคั่ง จึงเป็นเพียงการคาดเดา

สิ่งที่อัมบานีต้องการหลีกเลี่ยงมากที่สุดเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย คือการต่อสู้แย่งชิงมรดกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นระหว่างเขากับน้องชายเมื่อ 20 ปีก่อน หลังจากพ่อจากไปโดยไม่ได้เขียนพินัยกรรมไว้

บทบาทความเป็นผู้นำของอิชาแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบทบาทของผู้หญิงคนอื่นในครอบครัวที่ลงมาเล่นธุรกิจหลักจนถึงทุกวันนี้

แม้ว่าช่วง 20 ปีมานี้ เริ่มมีหลายครอบครัวมีการส่งต่ออุตสาหกรรมในครอบครัวให้อยู่ในมือของผู้หญิง แต่แนวโน้มยังอีกยาวไกล

แผนการข้างหน้า

มูเกช อายุ 65 ปี บริหารอาณาจักร Reliance ในฐานะประธานและกรรมการผู้จัดการ ซึ่งยังมีเวลาพอ ก่อนที่จะส่งต่อให้ลูก ๆ

อัมบานี
อาณาจักร Reliance Industries / ภาพ facebook

ศูนย์ธุรกิจครอบครัวและสถาบันธุรกิจอินเดีย Thomas Schmidheiny Centre for Family Enterprise กล่าวว่า มูเกชแตกต่างจากผู้สูงอายุชาวเอเชียอื่น ๆ ที่มักจะควบคุมความมั่งคั่งไว้จนวาระสุดท้าย แต่เขาแสดงให้เห็นว่า เป็นผู้นำธุรกิจครอบครัวคนรุ่นใหม่ในเอเชียที่ต้องการส่งต่อทุกขั้นทุกตอน เพื่อให้ถ่ายโอนธุรกิจไปสู่ลูก ๆ ได้อย่างราบรื่น

กลุ่ม Tata ซึ่งเป็นเจ้าของค่ายรถยนต์จากัวร์และแลนด์โรเวอร์ ไปจนถึงตระกูลสิงคาเนีย ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทสิ่งทอยักษ์ใหญ่ Raymond Group, India Inc ที่ต่อสู้แย่งชิงกันอย่างดุเดือด นำมาสู่การฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลยุ่งเหยิงและยาวนาน ซึ่งผู้ถือหุ้นต้องใช้เงินมหาศาล แต่ครั้งหนึ่งตระกูลอัมบานีก็เคยเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้น 2 ครั้งเช่นกัน

ร่ำรวยจากรุ่นสู่รุ่น

Hubbis บริษัทที่ปรึกษากล่าวว่า การถ่ายทอดความร่ำรวยจากรุ่นสู่รุ่นยังมีเรื่องโควิด-19 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ด้าน Knight Frank บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกกล่าวว่า แม้ว่าครอบครัวชาวเอเชียไม่ถึงครึ่งมีแผนที่จะส่งต่อความมั่งคั่ง แต่การระบาดทำให้อภิมหาเศรษฐีอินเดียคิดใหม่ ว่าจะถ่ายโอนความร่ำรวยอย่างไร รวมทั้งบทบาทของผู้หญิงในการสืบทอดความมั่งคั่ง

อากาศ อัมบานี / Reliance Industries

ลูก ๆ ทั้ง 3 คนเป็นกลุ่มแรก ๆ ในหมู่ผู้นำรุ่นหนุ่มสาวซึ่งกำลังสืบทอดสิ่งที่น่าอัศจรรย์ของ Reliance ทั้ง อิชา อัมบานี มีความทัดเทียมกับพี่น้องคนอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างจากญาติผู้พี่คนอื่น หรือป้าของเธอที่แต่งงานกับครอบครัวนักธุรกิจก่อนที่จะเกิดข้อพิพาทเรื่องมรดก นำมาสู่ความร้าวฉานในตระกูลอัมบานี

อิชาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเยลและทำงานให้กับบริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่อย่าง McKinsey จนกระทั่งเข้าร่วมอาณาจักร Reliance

Reliance Industries

อาจารย์รามจันทรันกล่าวว่า ตระกูลอัมบานีแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการค้าคุชราตแบบเดิม ๆ มาสู่การยกระดับสตรีเพศ ซึ่งเป็นการส่งข้อความที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง

สันทีป เนอร์เลการ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของบริษัทวางแผน Terentia กล่าวว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อครอบครัวธุรกิจอื่น ๆ

ผู้หญิงแถวหน้า

อิชาเป็นผู้หญิงยุคใหม่คนหนึ่งที่มาจากครอบครัวนักธุรกิจชั้นนำ และมีตำแหน่งผู้นำระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีนิซาบา โกเดรจ เจ้าของอาณาจักรธุรกิจเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย นาเดีย ชาอูฮาน เจ้าของแบรนด์ Parle Agro เครื่องดื่มชื่อดังของอินเดีย และยังมีคนอื่น ๆ อีกหลายคน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มีหลายสาเหตุที่ผู้หญิงก้าวมายืนแถวหน้า เพราะได้รับการศึกษาดีขึ้น และครอบครัวแบบดั้งเดิมเริ่มเปิดทางให้คนรุ่นใหม่

ครอบครัวอัมบานี จากซ้าย อากาศ อนันต์ และอิชา / Shailesh Andrade/Reuters

ทิพาลี โกเอนกา กรรมการผู้จัดการและซีอีโอของ Welspun India หนึ่งในบริษัทสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียกล่าวว่า ผู้หญิงมีสิทธิมีเสียงของตัวเอง โกเอนกาแต่งงานเมื่ออายุ 18 ปี และช่วยงานธุรกิจของสามี หลังจากลูก ๆ โตขึ้นและเรียนต่อด้านการจัดการที่โรงเรียนธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

หนทางอีกยาวไกล

เนอร์เลการ์กล่าวว่า ครอบครัวอินเดีย 8 ใน 10 ยังมีอคติต่อลูกสาว และมักจะวางแผนให้ลูกชายรับช่วงธุรกิจต่อ แม้แต่การแบ่งทรัพย์สินระหว่างลูกสาวและลูกชายก็ยังไม่ได้เท่ากัน
วัลลี อรุนาชาลัม หนึ่งในทายาทของกลุ่ม Murugappa ซึ่งตั้งอยู่ในเจนไนมองว่าผู้หญิงต้องฟันฝ่าอีกมาก

ปัจจุบันมีการแก้ไขกฎหมาย เช่น กฎหมายมรดกของชาวฮินดูบัญญัติให้ผู้รับมรดกหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงสถานะสมรส ขณะที่รัฐบาลกำหนดให้มีผู้หญิงเข้าร่วมในคณะกรรมการบริหารของบริษัท

แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เป็นการต่อสู้กับปิตาธิปไตย และเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น


…..