80 ประเทศทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ย นับถอยหลัง “เศรษฐกิจโลกถดถอย”

เศรษฐกิจโลก
คอลัมน์​: ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกเวลานี้เลวร้ายลงทุกที จากปัจจัยที่รุมล้อมเข้ามาพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นความพยายามเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ, ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในเวลาเดียวกัน ยักษ์เศรษฐกิจโลกอย่างจีน ก็ยืนกรานนโยบายให้ความสำคัญต่อการควบคุมทางการเมืองสูงกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน

สัญญาณบ่งชี้หลายประการแสดงให้เห็นว่า มีแนวโน้มสูงมากที่จะเกิดภาวะ “เศรษฐกิจโลกถดถอย” หรืออย่างน้อยที่สุด การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะชะลอลงอย่างแน่นอน

เมื่อ “เฟด” หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกก็ปรับนโยบายตาม เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาโกลบอล โมเนทารี โพลิซี แทรกเกอร์ ระบุว่า มีธนาคารกลางของ 54 ประเทศ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเฟด

แต่หลังการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดครั้งล่าสุดเมื่อ 21 ก.ย. ข้อมูลจากธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า เวลานี้มีมากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกแล้ว ที่มาใช้นโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี), ธนาคารกลางแห่งอังกฤษ, แคนาดา, ออสเตรเลีย, อินเดีย ไปจนถึงประเทศส่วนใหญ่ในละตินอเมริกา

เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพร้อมกันหรือไล่เลี่ยกันที่กว้างขวางมากที่สุดเท่าที่โลกเคยพบในรอบ 50 ปีเลยทีเดียว

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่เรื่องผิด เพราะถือกันว่าคือวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศส่วนใหญ่ เกิดขึ้นช้าเกินไปสำหรับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อให้ได้อย่างฉับพลัน ขณะเดียวกันการขึ้นดอกเบี้ยก็จะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ชะลอการเติบโต

การปรับขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าที่ควร จึงหมายความว่า ผลที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโดยรวมจะสูงกว่าการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่เนิ่น ๆ

เมื่อทั่วโลกพากันขยับขึ้นดอกเบี้ยพร้อมกันมากถึงขนาดนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลงพร้อม ๆ กันทั่วโลก และอาจหมายถึงภาวะถดถอยในหลายประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเริ่มปรับลดประมาณการการเติบโตของประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าทั้งหลายลงต่อเนื่องไปจนตลอดปี 2023 แล้ว ระบุด้วยว่า น่าจะเกิดปัญหาว่างงานและค่าจ้างไม่ขยายตัวหรือขยายตัวในระดับต่ำ เมื่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศพากันชะลอตัว

ในสหรัฐอเมริกา บริษัทในกลุ่มเอสแอนด์พี 500 มากถึง 240 บริษัท คาดการณ์ถึงภาวะถดถอยที่ว่านี้ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ปฏิกิริยาแรกสุดที่มีต่อการคาดการณ์เชิงลบดังกล่าว หนีไม่พ้นความพยายามลดต้นทุน ปรับขึ้นค่าจ้างแต่น้อย ลดหรือเลิกการจ้างงาน และกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คือเกิดการ “เลย์ออฟ” ตามมา

ในภูมิภาคอย่างยุโรป ปัญหาที่เผชิญอยู่ไม่ได้เพียงแค่เรื่อง “เงินเฟ้อ” อย่างเดียว แต่ยังมีปัญหา “ซัพพลายพลังงาน” ตึงตัวอย่างยิ่งสมทบอยู่ด้วย เมื่อรัสเซียจำกัดการส่งก๊าซธรรมชาติ ยิ่งถูกตอบโต้ด้วยมาตรการจำกัดราคา ยิ่งทำให้รัสเซียขู่จะจำกัดซัพพลายพลังงานยิ่งขึ้นไปอีก

ปัญหานี้ในยุโรปรุนแรงถึงขนาดมีการหารือกันถึงแนวทางการ “ปันส่วนพลังงาน” ระหว่างชาติสมาชิกอียู และบรรดาอุตสาหกรรมที่พึ่งพาพลังงานสูงอาจจำเป็นต้องปิดตัวลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า หากยังไม่มีมาตรการแก้ปัญหานี้โดยเร็ว เศรษฐกิจของยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในหน้าหนาวนี้

ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็อ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญต่อการควบคุมทางการเมืองและอุดมการณ์มากกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เมื่อผสมกับมาตรการซีโร่โควิดที่มีการ “ชัตดาวน์” พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ๆ ทุกครั้งที่เกิดการระบาด ก็ยิ่งทวีความเสียหายให้กับเศรษฐกิจจีนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้จีนยังมีปัญหาคุกรุ่นกับสหรัฐอเมริกาและเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออก ว่าด้วยเรื่อง “ไต้หวัน” ถึงขนาดที่นักวิเคราะห์ตะวันตกบางรายเริ่มถกกันถึงความเป็นไปได้ที่จีนจะใช้กำลังบุกไต้หวัน หรืออย่างน้อยที่สุดใช้วิธีการปิดล้อม กดดัน เพื่อให้ไต้หวันยอมรับกฎหมายและการปกครองจากรัฐบาลกลางที่ปักกิ่ง

หากปัญหาไต้หวันลุกลามจนถึงระดับนั้นแล้ว ไม่เพียงจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่ผลสะเทือนจะแผ่เป็นวงกว้างออกไปทั่วโลก เพราะจีนเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ซัพพลายสำคัญของโลกไม่แพ้รัสเซีย

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการผลิต หากยังส่งผลกระทบในแง่ของตลาดระบายสินค้าต่อการค้าระหว่างประเทศ และที่สำคัญคือ ก่อให้เกิดภาวะตึงเครียดระหว่างประเทศขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถผลักดันให้เกิดภาวะถดถอยขึ้นทั่วโลกได้ทั้งสิ้น

เตรียมพร้อมรับมือให้ดีก็แล้วกัน