
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมาว่า สำนักงานประมงญี่ปุ่นเตรียมพิจารณาปรับปรุงเรือล่าวาฬ และพัฒนาอุตสาหกรรมล่าวาฬเพื่อการค้าในอนาคต โดยจะของบประมาณมากถึง 100 ล้านเยนเพื่อโครงการล่าวาฬ โครงการอื้อฉาวซึ่งถูกประท้วงโดยองค์กรนานาชาติในช่วงที่ผ่านมา
สำนักงานประมงญี่ปุ่น ระบุว่า ได้ของบประมาณดังกล่าวเพื่อนำมาศึกษาอนาตตอุตสาหกรรมล่าวาฬรวมไปถึงนำมาปรับปรุงเรือล่าวาฬ “นิชชิน มารุ” ที่มีอายุใช้งานยาวนาน 30 ปีแล้ว
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงการล่าวาฬของ คณะกรรมธิการล่าวาฬนานานาชาติ (ไอดับเบิลยูซี) โดยญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จากช่องว่างของข้อตกลงดังกล่าวที่เปิดทางให้มีการล่าวาฬเพื่อการศึกษาวิจัยในการล่าวาฬต่อไป โดยญี่ปุ่นอ้างว่าการล่าวาฬนั้นมีความจำเป็นเพื่อศึกษาวิจัยพฤติกรรมและชีวะวิทยาของวาฬ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จริงเป็นที่รู้กันว่าวาฬที่ถูกล่าด้วยเหตุผลดังกล่าวนั้นมักไปจบลงที่โต๊ะอาหาร
รายงานข่าวระบุว่าในวันเดียวกัน นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยืนยันว่ารัฐบาลมีพันธกรณีที่จะนำพาอุตสาหกรรมการล่าวาฬให้กลับมาอยู่ในจุดเดิมในที่สุด
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ได้มีคำสั่งเมื่อปี 2557 ให้รัฐบาลญี่ปุ่นยุติการล่าวาฬอย่างต่อเนื่องในมหาสมุทรแอนตาร์กติก โดยระบุว่าโครงการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับ ด้านญี่ปุ่นยุติการล่าระหว่างปี 2557-2558 ก่อนที่จะเริ่มการล่าในฤดูกาลต่อมาโดยให้เหตุผลว่าเป็นโครงการที่มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์
ล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรป และอีก 12 ชาติ แถลงประณามโครงการล่าวาฬของญี่ปุ่นในมหาสมุทรแอนตาร์กติก ขณะรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า กำลังพยายามที่จะพิสูจน์ว่า จำนวนประชากรของวาฬนั้นมีจำนวนมากพอที่จะกลับมาล่าเพื่อการค้าเนื้อเป็นอาหารตามวัฒนธรรมของญี่ปุ่นแล้ว
ทั้งนี้ภารกิจล่าวาฬครั้งล่าสุด เรือล่าวาฬของญี่ปุ่น 5 ลำ ที่รวมถึงนิสชิน มารุ ได้เดินทางออกจากท่าเรือเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อออกทะเลล่าวาฬระยะเวลา 4 เดือนโดยตั้งเป้าที่จะสังหารวาฬมิงก์ให้ได้จำนวน 333 ตัว
ที่มา มติชนออนไลน์