จับพิรุธตัวเลขเศรษฐกิจจีน เติบโตเกินความจริง ?

เศรษฐกิจจีนในยามนี้มีความหมายต่อเศรษฐกิจโลกมากทีเดียว ไม่เพียงมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของจีนกับนานาประเทศทั้งในฐานะผู้ซื้อและผู้ขายยังสูงมากอีกด้วย ที่ผ่านมาจึงมีหลายคนคอยลุ้นให้ภาวะของจีนกระเตื้องขึ้น เพราะจะช่วยเศรษฐกิจในอีกหลายประเทศให้กระเตื้องตามมานั่นเอง

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (เอ็นบีเอส) เพิ่งแถลงตัวเลขเศรษฐกิจของจีนในปีที่แล้วออกมา เห็นตัวเลขแล้วหลายคนโล่งอก แต่มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนมองแล้วกลับขมวดคิ้วเอ็นบีเอส แจกแจงว่า ปี 2017 ที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนเร่งเร็วขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี สาเหตุสำคัญเป็นเพราะ ทั้งการส่งออก, การก่อสร้าง และการบริโภคล้วนถีบตัวเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งพร้อม ๆ กัน สัดส่วนการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน ในปี 2017 อยู่ที่ 6.9% เทียบกับปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 6.7% เมื่อปี 2016 แต่แค่นั้นก็ทำให้หลายคนยิ้มออก

เหตุผลเพราะหลังจากขยายตัวติดต่อกันหลายสิบปี ในช่วงนับตั้งแต่ปี 2011 เศรษฐกิจจีนชะลอลงทีละเล็กทีละน้อยเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เพิ่งจะมีปีที่แล้วนี่เองที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ยิ่งไตรมาสสุดท้ายของปียิ่งแข็งแกร่ง ขยายตัวถึง 6.8% เมื่อเทียบปีต่อปี ถือเป็นเรื่องน่ายินดี

แต่นักวิชาการที่ขลุกอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจจีนมานานเห็นแล้วแปลกใจ ไม่ได้แปลกใจที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวอีกครั้ง แต่แปลกใจว่าทำไมตัวเลขเศรษฐกิจจีนถึงดีไปหมดอย่างนี้

ตอนขาลงก็ค่อย ๆ ชะลอลงทีละนิดละหน่อย ถึงคราวขึ้นก็ปรับตัวขึ้น เมื่อตรวจสอบเทียบเคียงโดยละเอียดแล้วพบว่า สัดส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายปีหลังมานี้ราบรื่นผิดปกติ ยิ่งจะเห็นได้ชัดมากถ้าหากเทียบเคียงการขึ้น-ลง ของเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน รวมทั้งสหรัฐอเมริกา

จริงอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันมีประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน แต่เมื่อตรวจสอบลึกลงไปในรายละเอียดแบบเทียบเคียงกันรายไตรมาส เห็นได้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจจีน “ราบรื่น” ชนิดผิดปกติ

นักวิชาการเชื่อว่า สาเหตุแรกมาจากปัจจัยทางการเมือง เมื่อรัฐบาลกลางที่ปักกิ่งตั้งเป้าเศรษฐกิจไว้ เป้าหมายดังกล่าวก็กลายเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลท้องถิ่นในมณฑลต่าง ๆ ไปในตัว ทางแก้ที่ทำได้ก็คือ เมื่อเห็นจุดอ่อนใดเกิดขึ้นในระบบมณฑล ก็มักจะใช้งบประมาณเข้าไปกระตุ้นเพื่อให้เกิดเสถียรภาพขึ้นแต่นั่นไม่ใช่สาเหตุประการเดียว

ผู้เชี่ยวชาญจีนบางคนบอกว่า ระยะหลังมานี้ ตัวเลขที่เป็นสถิติเชิงเศรษฐกิจของจีนมักคลาดเคลื่อนอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขจากมณฑลต่าง ๆ

เมื่อต้นปีนี้ก็เพิ่งมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงในเชิง “สารภาพ” จากหน่วยงานของรัฐในท้องถิ่นหลายแห่ง เช่น เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เปิดเผยว่า ตัวเลขผลผลิตทางอุตสาหกรรมในพื้นที่รับผิดชอบเมื่อปี 2016 ที่รายงานออกไปนั้น ราว 2 ใน 5 เป็นตัวเลขผลผลิตที่ “อุปโลกน์” ขึ้นมา ไม่ได้มีอยู่จริงหรือราวต้นปีที่แล้ว มณฑลเหลียวหนิง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ก็เผยออกมาเช่นกันว่า รัฐบาลมณฑลตกแต่งตัวเลขเศรษฐกิจของตนให้ดูสวยมาตลอด ตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปี 2014

นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง นครเทียนจิน หนึ่งในเขตพัฒนาที่กลายเป็นมหานครทันสมัยของจีน ก็เพิ่งโพสต์ข้อความในเว็บไซต์ของทางการของเมือง ยอมรับเช่นกันว่า มีการปั้นตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แต่ข้อความสารภาพที่ว่านี้ถูกลบทิ้งออกไปอย่างรวดเร็ว

แม้แต่ “หนิง จี้เจ๋อ” ผู้อำนวยการเอ็นบีเอส ก็ยอมรับในการแถลงข่าวเมื่อ 18 มกราคมที่ผ่านมาว่า ยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ระหว่างตัวเลขที่ควรจะเหมือนกันของรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมณฑลต่าง ๆ แต่ก็ยืนยันว่า ตัวเลขในระดับมณฑลไม่ได้มีอิทธิพลต่อความ “เชื่อถือได้” ของสถิติระดับชาติ

นักวิชาการอีกบางกลุ่มอย่างเช่น “เดอะ คอนเฟอเรนซ์ บอร์ด” กลุ่มบริการวิเคราะห์วิจัยเพื่อธุรกิจที่มีสำนักงานอยู่ในนิวยอร์กชี้ว่า ความคลาดเคลื่อนอาจเกิดจากกระบวนการอันเป็นที่มาของตัวเลขทางเศรษฐกิจ โดยบอกว่า ข้อมูลผลผลิตด้านการเกษตร, การก่อสร้าง และบริการอื่น ๆ ที่วัดปริมาณได้ง่ายอย่างเช่น การคมนาคมขนส่ง ที่จีนวัดได้นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ส่วนอื่น ๆ ที่ผิดปกติ มีตั้งแต่ตัวเลขผลผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่ปั้นได้ง่าย รวมทั้งธุรกิจบริการอื่นที่วัดปริมาณได้ยาก เช่น บริการด้านสุขภาพ เป็นต้น

คอนเฟอเรนซ์ บอร์ด นำเอาตัวเลขที่ผิดปกติ ไปปรับปรุงตัวเลขเศรษฐกิจของทางการจีนใหม่พบว่า จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจจีนขยายตัวน้อยกว่า หรือต่ำกว่าที่รายงานออกมา โดยเฉพาะในช่วงปีที่มีการชะลอตัว ในเวลาเดียวกัน กระบวนการที่ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนที่ว่านี้ ก็ไปทำให้การขยายตัวของปี 2017 ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเช่นกัน

ข้อมูลวิเคราะห์ของคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด แสดงให้เห็นว่า การขยายตัวเป็นบวกของจีนนั้นเกิดขึ้นจริง แต่ที่น่ากังวลก็คือ อัตราการขยายตัวส่วนใหญ่เหล่านั้นมีที่มาจากการปล่อยกู้เมื่อไม่นานมานี้ ทั้ง ๆ ที่ในหลายปีก่อนหน้า จีนสะสมหนี้สินไว้มหาศาลอยู่ก่อนแล้ว

เศรษฐกิจโตขึ้นไม่น่ากลัว ที่น่ากลัวก็คือการโตขึ้นจากหนี้เสียต่างหาก เพราะหากยังบริหารบนตัวเลขที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่ต่อไป โอกาสเสี่ยงที่จะทรุดหนักเอาดื้อ ๆ ก็มีเหมือนกัน