กฎอัยการศึก คืออะไร ทำไมปูตินจึงประกาศในพื้นที่ยูเครน

กฎอัยการศึกคือะไร ทำไมปูตินจึงประกาศในพื้นที่ยูเครน
(Photo by Sergei ILYIN / SPUTNIK / AFP)

“วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศกฎอัยการศึกใน 4 ดินแดนของยูเครนที่รัสเซียผนวกอย่างผิดกฎหมายเมื่อเดือนที่แล้ว

วันที่ 20 ตุลาคม 2565 วอชิงตันโพสต์รายงานว่า ในระหว่างการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงของรัสเซีย เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ปูตินได้ให้อำนาจฉุกเฉินแก่ผู้นำระดับภูมิภาคทั่วทั้งรัสเซีย พร้อมประกาศกฎอัยการศึกในภูมิภาคโดเนตสก์, ลูฮันสก์, แคร์ซอน และซาโปริซเซีย เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีเป็นต้นไป

ทั้งสี่ภูมิภาคทางตะวันออกและทางใต้ของยูเครนดังกล่าวเป็นจุดรวมความขัดแย้ง รัสเซียได้ผนวกดินแดนของภูมิภาคเหล่านี้เมื่อเดือนที่แล้ว ภายหลังการจัดฉากลงประชามติ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ยูเครนและประชาคมระหว่างประเทศไม่ยอมรับ

ในทางปฏิบัติ สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่มีกำลังทหาร หรือพื้นที่ที่รัสเซียต้องการตอบโต้ยูเครน ยังคงไม่มีความชัดเจน คาดว่าการเปลี่ยนแปลงหลักอาจเป็นการคุ้มครองปฏิบัติการทางทหาร ภายใต้ระบบกฎหมายของรัสเซีย

ต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการประกาศกฎอัยการศึกของปูติน

กฎอัยการศึกคืออะไร ?

ภายใต้กฎหมายรัสเซีย กฎอัยการศึกขยายอำนาจของกองทัพและการบังคับใช้กฎหมาย ทหารสามารถประกาศเคอร์ฟิว รวมถึงจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว การยึดทรัพย์สินของพลเรือน ตรวจสอบการสื่อสาร และสั่งให้ประชาชนสร้างเมืองที่ถูกทำลายขึ้นมาใหม่

“แม็กซ์ เบอร์กมันน์” ผู้อำนวยการโครงการยุโรปแห่งศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ กล่าวว่า กฎอัยการศึกหมายถึงการระงับหลักธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้กองทัพสามารถยึดทรัพย์สิน อาคาร ทรัพยากรของพลเรือนได้ตามต้องการ และโดยพื้นฐานแล้วทำให้ทหารกลายเป็นผู้ตัดสินในเรื่องต่าง ๆ

ชีวิตในดินแดนที่ถูกผนวกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ?

รัสเซียไม่ได้ควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของ 4 ภูมิภาคดังกล่าว จึงยังไม่ชัดเจนว่ารัสเซียจะสามารถบังคับใช้กฎอัยการศึกได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ รวมถึงยังไม่ชัดเจนว่าจะมีความแตกต่างจากเงื่อนไขที่มีอยู่ภายใต้การยึดครองของทหารอย่างไร

เบิร์กมันน์กล่าวว่า กฎหมายนี้ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นแล้วมีความ “เป็นทางการ” นอกจากนี้ การประกาศกฎอัยการศึกยังขจัดแนวคิดที่ว่า ภูมิภาคเหล่านี้มีความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และถูกปกครองในฐานะพลเรือน

เขากล่าวอีกว่า กฎอัยการศึกยังเป็นความพยายามที่จะสื่อว่ารัสเซียเข้ายึดพื้นที่เหล่านี้ในทางทหาร ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญ

ความเคลื่อนไหวนี้ยังอาจเป็นโอกาสในการจัดหาและระดมทรัพยากรเพิ่มเติมสำหรับกองทัพรัสเซีย

รัสเซียประกาศกฎอัยการศึกครั้งสุดท้ายเมื่อไร ?

รัสเซียไม่ได้ประกาศกฎอัยการศึกเลยนับตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ซึ่งมีการประกาศกฎอัยการศึกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

“ในยุคสหภาพโซเวียต รัสเซียทำสงครามหลายครั้ง โดยใช้กองกำลังประจำ ไม่จำเป็นต้องระดมมวลชนอย่างที่ทำในตอนนี้” เบิร์กมันน์กล่าวพร้อมระบุว่า ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา รัสเซียได้รุกรานประเทศเพื่อนบ้านอย่างจอร์เจียและยูเครน รวมถึงเข้าแทรกแซงในซีเรีย แต่ความขัดแย้งเหล่านั้นก็ไม่มีการระดมมวลชน

“นี่คือสิ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับโฆษณาชวนเชื่อที่ปูตินเคยใช้เพื่อสร้างความขัดแย้งและแสดงถึงความเสียสละว่าชาวรัสเซียถูกขอให้ทำ”

“คนรัสเซียได้รับแจ้งว่านี่เป็นปฏิบัติการพิเศษทางทหาร และตอนนี้ต้องมีการระดมกำลังเช่นเดียวกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2”

ในภูมิภาคของรัสเซียที่อยู่ใกล้หรือติดชายแดนยูเครน เช่น ครัสโนดาร์, เบลโกรอด, ไบรอันสก์, โวโรเนซ, เคิร์สก์ และรอสตอฟ รวมถึงไครเมีย จะมีการกำหนดมาตรการบางอย่างในช่วงสงคราม แต่ก็ยังเป็นระดับที่เข้มงวดน้อยกว่า “การตอบสนองสูงสุด” ที่รัสเซียนำมาใช้ในดินแดนของยูเครนเหล่านี้

มาตรการที่ว่าอาจหมายถึงการควบคุมอุตสาหกรรมในระดับใหม่ โดยปรับอุตสาหกรรมเพื่อนำไปใช้สนับสนุนกองทัพ

“สิ่งที่เราเห็นในขณะนี้คือกลยุทธ์ “กบต้ม” (boiling frog) แทนการประกาศทุกความเคลื่อนไหวสำคัญที่อาจทำให้ประชาชนชาวรัสเซียรู้สึกพ่ายแพ้” เบอร์กมันน์กล่าว และว่าหากการประกาศกฎอัยการศึกประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และรัสเซียยังคงต้องการกำลังพลและทรัพยากรมากขึ้น แนวคิดนี้จะแผ่ขยายออกไป

มาตรการในดินแดนที่ถูกผนวกอย่างผิดกฎหมายอาจหมายถึงการถูกบังคับให้เนรเทศไปยังบางส่วนของรัสเซีย

“โอเลกซี ดานิลอฟ” เลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติยูเครน ทวีตข้อความว่า กฎอัยการศึกของปูตินในภูมิภาคที่ถูกผนวก เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเนรเทศชาวยูเครนจำนวนมากไปยังพื้นที่ที่ชวนหดหู่ของรัสเซีย เพื่อเปลี่ยนองค์ประกอบทางชาติพันธุ์ของดินแดนที่ถูกยึดครอง