
อาเซียนเครียดด้วยวิกฤตในเมียนมารุนแรงขึ้น ผู้แทนยูเอ็นรายงานในเวทีสิทธิมนุษยชน ถึงสถานการณ์ล่าสุดที่ย่ำแย่ กองทัพไม่เป็นที่ยอมรับ
วันที่ 27 ตุลาคม 2565 สำนักข่าว เอพี รายงานว่า รัฐมนตรีการต่างประเทศกลุ่มอาเซียน จัดประชุมนัดพิเศษที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย วันพฤหัสฯ ที่ 27 ต.ค. โดยนายปรัก สุคน รมว.การต่างประเทศกัมพูชาเป็นประธานการประชุม เพื่อหารือถึงวิกฤตในเมียนมาที่รุนแรงขึ้น

ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศยอมรับว่า ความพยายามที่จะนำสันติภาพมาสู่เมียนมานั้นไม่ประสบความสำเร็จ และตกลงใจว่าจะเพิ่มความเด็ดเดี่ยว เพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมาที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. ปีที่แล้ว และเริ่มคุกคามเสถียรภาพของภูมิภาค
เหตุการณ์ช็อกผู้คนไม่นานมานี้ กองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีทางอากาศ ถล่มพื้นที่รัฐคะฉิ่น ทำให้มีคนตายเกลื่อนถึง 80 ราย

ชี้ฉันทามติ 5 ข้อไม่คืบหน้า
ก่อนหน้านี้ อาเซียนเคยบรรลุฉันทามติ 5 ข้อที่รัฐบาลทหารเมียนมาเคยรับปากว่าจะปฏิบัติตาม ได้แก่ ยุติความรุนแรง เปิดการเจรจาทุกฝ่าย ให้ผู้แทนพิเศษอาเซียนทำหน้าที่เป็นคนกลาง เปิดรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และให้ผู้แทนพิเศษเยือนเมียนมา โดยพบปะคนทุกกลุ่ม
ถึงวันนี้เมียนมาดำเนินการดังกล่าวน้อยมาก กรณีนายปรัก โสคอน รมว.การต่างประเทศกัมพูชา แม้จะได้เยือนเมียนมา แต่ถูกห้ามพบออง ซาน ซู จี ที่ยังถูกขังและถูกดำเนินคดีมากมาย

ขณะที่อาเซียนตอบโต้ด้วยการไม่อนุญาตให้ผู้นำเมียนมาเข้าร่วมการประชุมอย่างเป็นทางการ ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเข้าร่วมอยู่บ้าง
“ที่ประชุมยังตกลงว่า อาเซียนไม่ควรท้อแท้ แต่ต้องเด็ดเดี่ยวยิ่งขึ้นเพื่อช่วยเมียนมาให้เลือกหนทางสันติในการแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” นายปรัก โสคอน กล่าวในฐานะประธานในที่ประชุม
ด้าน เรตโน มาร์ซูดี รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวในงานแถลงข่าวว่า รัฐมนตรีอาเซียนต่างวิตกกังวลและผิดหวัง บางกรณีที่น่าอึดอัด ขาดความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามฉันทามติ และไม่เพียงไม่คืบหน้า ยังเกิดสถานการณ์ที่บั่นทอนและเลวร้ายลงด้วย

“การกระทำความรุนแรงจะต้องยุติในทันที หากไม่หยุดความรุนแรง จะไม่เกิดเงื่อนไขที่นำไปสู่การหาทางออกคลี่คลายวิกฤตทางการเมือง”
สำหรับอาเซียนจะมีการประชุมประจำปี ระดับผู้นำวันที่ 11-13 พ.ย. และมีประเด็นสถานการณ์เมียนมาเป็นเรื่องหลัก แม้ว่าเรื่องนี้อาจเสี่ยงกระทบต่อเอกภาพของอาเซียน ซึ่งปกติจะไม่แทรกแซงกิจการภายในกัน แต่เป็นเรื่องบั่นทอนสถานะของอาเซียนบนเวทีโลก ว่าไร้อำนาจจัดการกับเรื่องเร่งด่วนทางภูมิรัฐศาสตร์และมนุษยธรรม
ผู้แทนยูเอ็นอัพเดตสถานการณ์
ก่อนหน้านี้ โนลีน เฮย์เซอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ด้านกิจการเมียนมา รายงานต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ถึงสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมา วิกฤตทางการเมือง สิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม กำลังทวีความรุนแรงขึ้น และทำให้ประชาชนสูญเสีย
เฮย์เซอร์รายงานสถานการณ์หลังเยือนเมียนมาเมื่อเดือนสิงหาคม และพบกับนายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐบาลทหาร เพื่อพยายามโน้มน้าวให้เมียนมากลับคืนสู่การปกครองโดยพลเรือน

“ข้อเท็จจริงใหม่ทางการเมืองในเมียนมา คือประชาชนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมรับการปกครองโดยทหารอีกต่อไป” เฮย์เซอร์กล่าวในที่ประชุม และว่าการเข้าพบ พล.อ.มิน อ่อน หล่าย ในครั้งนั้น ได้ยื่นข้อเรียกร้องไป 6 ข้อ
ข้อเรียกร้องดังกล่าว ได้แก่ ให้ยุติการทิ้งระเบิดทางอากาศ และเลิกเผาสิ่งปลูกสร้างของประชาชน พร้อมส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง และนักโทษเด็กทั้งหมด ทั้งระงับการประหาร และขอให้อนุญาตเข้าเยี่ยม นางออง ซาน ซู จี รวมถึงข้อสรุปท้ายคือ สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการรับชาวโรฮิงญาจากบังกลาเทศกลับเมียนมา
เฮย์เซอร์แจ้งที่ประชุมด้วยว่า ขณะนี้พลเรือนเมียนมามากกว่า 13.2 ล้านคนไม่มีอาหารเพียงพอ และ 1.3 ล้านคนต้องพลัดถิ่น กองทัพยังคงปฏิบัติการโดยใช้ความรุนแรงที่มากเกินไป ซึ่งรวมถึงการวางระเบิด การเผาอาคารบ้านเรือน และการสังหารพลเรือน

เมียนมากลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของทหารที่เข้มงวด ถูกโดดเดี่ยวและถูกคว่ำบาตรจากนานาประเทศ หลังกองทัพก่อการรัฐประหาร วันที่ 1 ก.พ. 2564 คว่ำชัยชนะของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซู จี
แม้ผู้นำกองทัพรับปากและเห็นพ้องกับแผนอาเซียน 5 ประเด็น เพื่อฟื้นฟูสันติภาพ และเสถียรภาพของประเทศ แต่ความเป็นจริงแล้ว เฮย์เซอร์แจ้งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การทำงานผ่านกองทัพไม่ได้เข้าถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
ด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของฝ่ายค้านเรียกร้องให้ผู้แทนยูเอ็นจัดการประชุม เพื่อหาทางอำนวยความสะดวกในการคุ้มครอง และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ทุกคนที่เดือดร้อน โดยเป็นไปตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

สำหรับชะตากรรมของชาวโรฮิงญา และผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากเมียนมาคนอื่น ๆ ผู้แทนยูเอ็นสรุปว่า “ยังคงสิ้นหวัง หลายคนหาที่หลบภัยผ่านการเดินทางทางบกและทางน้ำที่อันตราย”
ความรุนแรงระหว่างกองทัพอาระกัน และรัฐบาลในรัฐยะไข่ตอนเหนือ ที่ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนหลบหนียังคงอาศัยอยู่ เพิ่มขึ้นถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่ปลายปี 2563 โดยมีการบุกรุกข้ามพรมแดนที่สำคัญ
“สิ่งนี้กำลังเป็นอันตรายต่อชุมชนทั้งหมด สร้างความเสียหายต่อเงื่อนไขการกลับมาของชาวโรฮิงญา และการยืดเวลาภาระให้กับบังกลาเทศ” ผู้แทนหญิงยูเอ็นกล่าว
…….