อนาคต “เงินดิจิทัล” มุมมองจาก “ดาวอส”

“เงินดิจิทัล” หรือ คริปโตเคอเรนซี พยายามอย่างยิ่งที่จะแทรกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม” ที่เมืองท่องเที่ยวเลื่องชื่อของสวิตเซอร์แลนด์อย่างดาวอส ถึงขนาด “เอเทอเรียม” (ethereum) สกุลเงินดิจิทัล ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองรองจาก “บิตคอยน์”

ลงทุนไปเปิดบูท เพื่อโปรโมตและเรียกร้องความสนใจจากกลุ่มนักวิชาการ นักการเงิน นักธุรกิจและนักการเมืองระดับโลกถึงที่นั่น ด้วยความโด่งดัง ทั้งในทางบวกและทางลบต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ไม่น่าแปลกที่เรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งใน “คีย์ท็อปปิก” ของการประชุมหนนี้ไปด้วยอีกเรื่องหนึ่ง

หลายคนพูดถึงอนาคตของ “เงินดิจิทัล” ทั้งในระยะใกล้และในระยะยาว คนแรกที่พูดถึงประเด็นนี้ก็คือ  “โรเบิร์ต ชิลเลอร์” ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2013 (ร่วมกับยูยีน ฟามา และลาร์ส ปีเตอร์ เฮนเซน)

ชิลเลอร์ ยอมรับว่า บิตคอยน์ และคริปโตเคอเรนซี อื่น ๆ เป็นแนวคิดที่ชาญฉลาด “จริง ๆ” และแสดงความประทับใจกับเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังบิตคอยน์ (ซึ่งเหมือนกับเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ) แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่สบายใจสูงถึงระดับ “เป็นกังวล” ต่อการที่บิตคอยน์ หรือเงินดิจิทัลอื่น แพร่หลายออกไปในสภาพของ “เงิน”

ชิลเลอร์ไม่ถือว่า บิตคอยน์ เป็นเงินสกุลหนึ่ง และแสดงความคิดเห็นในเชิง “เตือน” นักลงทุนเรื่อยมาว่า มูลค่าของมันสามารถ “พังพาบ” ลงเมื่อใดก็ได้ ทั้งมองบิตคอยน์ คริปโตเคอเรนซีเจ้าแรกว่าเป็นเพียง “การทดลอง” ประการหนึ่งที่ “น่าสนใจ” แต่ไม่มีวันเป็น “คุณลักษณะถาวรในชีวิตของคนเรา” เหมือนอย่างที่เงินสกุลต่าง ๆ เป็น

“เราให้ความสำคัญกับตัวบิตคอยน์มากจนเกินไป ทั้ง ๆ ที่ควรให้ความสำคัญครอบคลุมไปถึง “บล็อกเชน” (เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังบิตคอยน์) มากกว่า” ชิลเลอร์ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะ “บล็อกเชน” สามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างอื่นได้หลากหลายมาก

นอกเหนือจากนักวิชาการ นักการเมืองระดับโลกที่แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ ออกมาล้วนเป็นกังวลกับดิจิทัลเคอร์เรนซีทั้งสิ้น “เทเรซา เมย์” บอกกับผู้สื่อข่าวที่ดาวอส ว่าเป็นห่วงว่าบรรดาอาชญากรทั้งหลายจะอาศัยคุณสมบัติที่สามารถถ่ายโอนซึ่งกันและกัน โดยปราศจากตัวกลางหรือหน่วยงานทางการตรวจสอบ มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับอาชญากรรมของตัวเอง

“สตีเฟน มนูชิน” รัฐมนตรีคลังอเมริกัน เป็นอีกคนที่ตั้งข้อสังเกตเชิงลบต่อการใช้เงินดิจิทัลในทางที่ผิด และยอมรับว่าใส่ใจในเรื่องนี้เป็นอันดับหนึ่ง

“ผมโฟกัสไปที่เรื่องนี้เป็นลำดับแรก นั่นคือทำให้แน่ใจว่า ไม่ว่ามันจะถือเป็นเงินหรือเป็นบิตคอยน์ หรือเป็นอะไรก็ตามที มันจะต้องไม่ถูกนำไปใช้เพื่อการดำเนินการที่ผิดกฎหมายใด ๆ” และสรุปแนวทางสำหรับสหรัฐอเมริกาในอนาคตอันใกล้ไว้ว่า “สหรัฐ จำต้องมีกฎ เช่น สมมุติว่า คุณเป็น บิตคอยน์ วอลเลต คุณก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ควบคุมในทำนองเดียวกับธนาคาร”

“เซซิเลีย สคิงส์ลีย์” รองผู้ว่าการ ริกส์แบงก์ ธนาคารกลางของสวีเดน ยืนยันว่าเท่าที่เห็นมา บิตคอยน์ผันผวนมากเกินกว่าที่จะถูกจัดชั้นให้เป็นเงินสกุลหนึ่ง ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอต่อการเรียกได้ว่าเป็นเงิน

“มันไม่สามารถรักษามูลค่าให้คงที่ได้เอามาก ๆ ผันผวนสูงมาก ทั้งยังไม่สามารถเป็นสื่อกลางที่มีประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยน เพราะคุณไม่สามารถซื้อของจากร้านของชำด้วยบิตคอยน์ได้ ไม่รับเงินเดือนเป็นบิตคอยน์ และแน่นอน จ่ายภาษีด้วยบิตคอยน์ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน” สคิงส์ลีย์บอกว่า การที่บิตคอยน์เป็นสิ่งดึงดูดใจสำหรับบางประเทศนั้นเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นเพราะความไม่ไว้วางใจที่มีต่อทางการ แต่ถึงอย่างนั้น บิตคอยน์ก็ถือว่าเป็น “ทางออกที่แย่” ด้วยเหตุที่มูลค่าผันผวนมากเกินไปนั่นเอง

“ในระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ เมื่อถึงเวลาหนึ่ง การมีทางการที่ไว้วางใจได้ย่อมดีกว่ามาก มีหน่วยงานอย่างเป็นทางการที่ผลิตเงินออกมา ไม่น้อยเกินไปแล้วก็ไม่มากจนเกินไป”

แต่ก็มีบางคนที่มองอนาคตของบิตคอยน์ และเงินดิจิทัลต่างออกไป เช่น “เจนนิเฟอร์ ซู สกอตต์” นักลงทุนจากเรเดียน พาร์ตเนอร์ส แต่เจนนิเฟอร์ก็ยอมรับว่า บิตคอยน์ เป็น “เงินที่แย่เอามาก ๆ” และเป็นวิธีการชำระหนี้ที่ “เลวร้ายมาก” เหมือนกัน กระนั้นในแง่ของความเป็น “ทรัพย์สิน” บิตคอยน์ก็ถือว่าได้ผลดี

ทรรศนะของเจนนิเฟอร์ในอนาคต บิตคอยน์จะไม่เข้ามาแทนที่สกุลเงินใด ๆ หรือแทนที่เงินอย่างที่มีอยู่ “แต่จะเข้าไปแทนที่ทองคำ” ต่างหาก

นีล ไรเมอร์ นักลงทุนจากอินเด็กซ์ เวนเจอร์ส ยอมรับเช่นกันว่าในทางทฤษฎีแล้ว มีโอกาสเหมือนกันที่มูลค่าของบิตคอยน์จะพังพาบลงเป็นศูนย์ แต่ก็ชี้ให้เห็นในเวลาเดียวกันว่า ในช่วงที่ผ่านมา บิตคอยน์รุดหน้ามาได้ไกลมากทีเดียว

ในทรรศนะของไรเมอร์ บิตคอยน์ ถือเป็น “นวัตกรรม” ที่ลึกซึ้งและกล้าหาญมากที่สุดเท่าที่ตนเคยพบเห็นมาในชีวิต ปัญหาก็คือ บิตคอยน์ ในเวลานี้ ดูเหมือนจะสูญเสียวัตถุประสงค์ดั้งเดิมไปแล้ว และกลายเป็นเพียง “สินค้า” เพื่อการเก็งกำไรตัวหนึ่งเท่านั้น !